ปมเหมืองแร่อัครา... “ระเบิดเวลา” อีกลูกของ “ลุงตู่”

วันอังคารที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

   ปมเหมืองแร่อัครา...  “ระเบิดเวลา” อีกลูกของ “ลุงตู่”


ในระหว่างการเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2 นอกจากในเรื่องของงบประมาณ และแนวทางของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ชุดต่างๆ รวมถึงการเดินหน้าผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคร่วมฝ่ายค้านทั้ง 7 พรรคจะหยิบยกขึ้นมาในระหว่างการอภิปรายในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรแล้ว

อีกเรื่องหนึ่งที่พรรคฝ่ายค้านจะนำมาอภิปรายในสภาฯก็คือ การศึกษาพิจารณาผลกระทบจากการใช้ “มาตรา 44”  ตลอดช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลทหารของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งพรรคฝ่ายค้านได้มีการดำเนินการผลักดันให้มีการตั้ง กมธ.วิสามัญขึ้นมาเพื่อที่จะได้สามารถพิจารณาเรื่องเหล่านี้ให้ถ่องแท้ เนื่องจากเห็นว่าสิ่งที่ดำเนินการโดยมาตรา 44 ที่ผ่านมา “บั่นทอน” ความรู้สึกของพี่น้องประชาชน ทั้งเรื่องสิทธิ หรือ เรื่อง เหมืองทองอัครา  

ขณะเดียวกัน ปม “เหมืองแร่อัครา” ก็ได้กลายมาเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองอีกครั้ง ที่จู่ๆ ในการประชุมครม.เมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ(ครม.)ได้หยิบยกเรื่องที่ “บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด” ประเทศออสเตรเลีย บริษัทแม่ของ “บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด” ผู้ประกอบการเหมืองแร่ทองคำ ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายรัฐบาลไทย หลังจาก “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” หรือ “คสช.” ใช้อำนาจมาตรา 44 สั่งปิดกิจการเหมืองแร่ทองคำ จังหวัดพิจิตร

โดยในการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจครั้งนั้น “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รมว.อุตสาหกรรม เสนอ 4 ทางออกให้กับ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับทราบเพื่อดำเนินการกรณีข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลไทยและบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด ประเทศออสเตรเลีย บริษัทแม่ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด ผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำชาตรี ยื่นขอใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการหลังบริษัทได้รับความเสียหายจากคสช.สั่งปิดเหมืองแร่ทองคำกว่า 2 ปี ซึ่งขัดต่อข้อตกลงไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA)

หากย้อนกลับไปดูเรื่องดังกล่าว เกิดจากการที่คสช. “อาศัยอำนาจตามมาตรา 44” ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 กำหนดมาตรการในการป้องกัน และระงับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชนในพื้นที่โครงการเหมืองแร่ทองคำ รวมทั้งกำหนดมาตรการฟื้นฟูผลกระทบ โดยใจความหลักของคำสั่งดังกล่าว  คือ คำสั่งมีผลให้ระงับการอนุญาตให้สำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ รวมถึงการต่ออายุประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำ การต่อใบอนุญาตประกอบการแร่ทองคำไว้ ส่วนผู้ประกอบการที่ได้รับประทานบัตรและใบอนุญาตต่างๆ ไปแล้ว "ให้ระงับการประกอบกิจการไว้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป”

ทำให้บริษัทคิงส์เกตฯ บริษัทแม่ผู้ประกอบการเหมืองแร่อัคราฯ ได้ยื่นข้อร้องเรียน เรียกร้องให้รัฐบาลไทยชดเชยค่าเสียหายทางธุรกิจ มูลค่า 750 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 30,000 ล้านบาท ต่อมามีการตั้งตัวแทนเจรจากันเพื่อหาข้อยุติ หาจุดกึ่งกลางเพื่อให้ทั้ง 2 ฝ่ายพึงพอใจ แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ บริษัทคิงส์เกตฯ จึงยื่นฟ้องรัฐบาลไทย ภายใต้กระบวนการ “อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ”  ตามกรอบข้อตกลงเขตเสรี หรือ “เอฟทีเอ” ระหว่าง “ไทย-ออสเตรเลีย ด้านการคุ้มครองการลงทุน” ที่เปิดโอกาสให้นักลงทุนจากประเทศหนึ่งสามารถฟ้องร้องและเรียกค่าเสียหายจากรัฐบาลอีกประเทศหนึ่งได้ หากดำเนินนโยบายให้เกิดความเสียหายต่อการลงทุน อาทิ การยึดทรัพย์สิน ยึดการลงทุน หรือเวนคืนที่ดิน

“จุดสลบ” การฟ้องร้องตามกรอบดังกล่าวข้างต้น หรือ “การฟ้องร้องภายในข้อตกลงเอฟทีเอ” อำนาจจากมาตรา 44 ไม่สามารถครอบคลุมได้ทั่วถึง ผิดกับการใช้ ม.44ในประเทศที่เสมือนเป็น “ดาบอาญาสิทธิ์”  

กลับไปที่การประชุมคณะรัฐมนตรี “ประยุทธ์ 2/1” เกี่ยวกับปมเหมืองแร่อัคราฯ ที่ “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รมว.  อุตสาหกรรม ในฐานะหัวหน้าทีมเจรจาคนใหม่ เสนอทางออก 4 แนวทาง ประกอบด้วย 1.จ่ายเงินให้กับบริษัทอัคราฯ แล้วให้เลิกกิจการไป 2.ดำเนินการตามข้อเสนอของบริษัทอัคราฯ ซึ่งจะช่วยให้อาจไม่ต้องจ่ายเงิน 3.รอผลการตัดสินของอนุญาโตตุลาการแล้วปฏิบัติตาม 4.หาช่องจ่ายเงินค่าปรับบางส่วน โดยให้ชดเชยค่าเสียหายแล้วให้ดำเนินกิจการต่อ โดยในที่ประชุมครม.ยังไม่มีข้อสรุปว่าควรจะเป็นแนวทางใด

ขณะที่การดำเนินการยังเป็นไปตามขั้นตอนที่จะเตรียมเข้าสู่อนุญาโตตุลาการในวันที่ 18 พ.ย. 2562 นี้ ซึ่งไม่ว่ารัฐบาลจะพิจารณาใช้แนวทางใดก็จะต้องเสนอเรื่องเข้า ครม.พิจารณาอีกครั้ง รัฐบาลโดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.)ได้รวบรวมและนำส่งเอกสารหลักฐานชิ้นใหม่ต่ออนุญาโตตุลาการแล้ว เมื่อศาลไต่สวนเสร็จสิ้นก็ต้องใช้เวลาพิจารณาอีกระยะหนึ่ง ซึ่งยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะนานเพียงใดที่ อย่างไรก็ตามระหว่างนี้ทั้ง 2 ฝ่ายก็ยังสามารถเจรจาหาข้อยุติร่วมกันได้

“เผือกร้อน” ว่าด้วยปมเหมืองแร่อัครา ที่ก่อนหน้านี้นักกฎหมายหลายสำนักออกมาแสดงความคิดเห็นวิตกกังวลว่าจะมีปัญหาทางกฎหมาย และมีโอกาสแพ้คดี ตามที่ "คิงส์เกตฯ" ยื่นฟ้องต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศสูง “ผู้ถูกฟ้อง” ต้องจ่ายเงินชดเชยค่าเสียหายถึง 30,000 ล้านบาท  

ดังนั้น คดีนี้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”  ย่อมเกิดความรู้สึกมากกว่ารัฐมนตรีคนอื่นๆ เพราะ “บิ๊กตู่” เป็นผู้ใช้อำนาจมาตรา 44 เมื่อปี 2559 เมื่อครั้งสวมบทหัวหน้า คสช.ฟันเหมืองแร่อัคราที่กฎหมายคุ้มครอง กับ “บิ๊กตู่” ผู้ถูกฟ้องในปี 2562 รออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศตัดสินชี้ขาด ยังเป็นคนเดียวกัน

“ประเด็น” ที่น่าหนักใจแทน “พล.อ.ประยุทธ์” อยู่ตรงที่ว่า เมื่อหยิบยกคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ถึง “ความเป็นรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์” ว่าสิ้นสุดลงหรือไม่ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วว่า ตำแหน่งหัวหน้า คสช.ไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาหรือการกำกับดูแลของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐใด เป็นตำแหน่งที่ได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมาย โดยมีอำนาจหน้าที่เป็นการชั่วคราว

กล่าวโดยสรุปคือ “บิ๊กตู่” ไม่มีสถานะตำแหน่งหน้าที่ หรือมีลักษณะงานไม่ใช่แบบเดียวกับเจ้าหน้าที่หน่วยงานราชการ หรืองานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ “ไม่ใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ จึงไม่มีตำแหน่งหน้าที่ หรือลักษณะนามเจ้าหน้าที่ของรัฐ”

หากเกิดจับพลัดจับผลู แพ้คดีเหมืองแร่อัครา ที่ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหาย 3 หมื่นล้านบาทแล้วล่ะก็ งานนี้ “พล.อ.ประยุทธ์” ประมาทกรณี “เหมืองแร่อัครา” ไม่ได้เด็ดขาด

เพราะไม่รู้ว่าจะเอา 3 หมื่นล้านจากที่ไหนมาชดใช้เอกชนที่ฟ้องชนะคดี...!?!

 

 



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ