"กูเกิล"ปล่อยคอมพิวเตอร์หูหิ้วอาละวาด"ไมโครซอฟท์"เปิดบริสุทธิ์คลาวด์คอมพิวติ้งที่จีน

วันศุกร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2556



โลกธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศทุกวันนี้กำลังประชันขันแข่งกันด้วยนวัตกรรมที่ถูกพัฒนาขึ้นอย่างไร้ขีดจำกัด ชนิดไม่มีใครยอมน้อยหน้าใคร สวนทางกับอุตสาหกรรมยานยนต์ที่กำลังได้รับ บาดเจ็บจากอิทธิพลอัตราแลกเปลี่ยน

เมื่อไม่กี่วันก่อนค่ายกูเกิล..เจ้ายุทธจักรเสิร์ซเอนจิ้นอันดับ 1 ของโลก ก็จัดงานใหญ่ที่นครซานฟรานซิสโก ปล่อยนวัตกรรมใหม่ล่าสุด และถือเป็นนวัตกรรมที่เชิดหน้าชูตาที่สุดคือ "กูเกิลกลาส" หรืออีกนัยหนึ่ง "แว่นวิเศษ"

ความวิเศษของเจ้ากูเกิลกลาสนี้ มีมากมายสารพัด ทั้งถ่ายภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต สืบค้นข้อมูลออนไลน์ รวมไปถึงการช่วยนำทางป้องกันการหลงทางได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตามด้วยรูปแบบการใช้งานกูเกิลกลาส ที่มีลักษณะเดียวกับแว่นตาทั่วไปที่เราคุ้นเคย จึงอาจเรียกในภาษาบ้านๆ ได้ว่ากูเกิลกลาส ก็คือ "คอมพิวเตอร์หูหิ้ว" นั่นเอง เพราะการใช้งานและการพกพาเข้ากูเกิลกลาสนี้ต้องใช้ "หูหิ้ว" เอาไว้

ข้างฝ่ายค่ายไมโครซอฟท์ ขาใหญ่ที่สุดแห่งวงการซอฟต์แวร์โลก ก็ไม่น้อยหน้าจัดเวทีปล่อยนวัตกรรมใหม่เอี่ยมที่กรุงวอชิงตัน

นวัตกรรมล่าสุดของค่ายไมโครซอฟท์ คือ "เอ็กซ์บอกซ์" สายพันธุ์ใหม่ ที่เป็นมากกว่าเครื่องเล่นเกมธรรมดา แต่มีขีดความสามารถครอบจักรวาลที่สามารถใช้เป็นเครื่องใช้ไฮเทคสำหรับอำนวยความสะดวกสบายได้สารพัดภายในบ้าน

ความเคลื่อนไหวของค่ายไมโครซอฟท์ ไม่เพียงเปิดตัวนวัตกรรมใหม่ในบ้านเท่านั้น แต่ยังสร้างแรงกระเพื่อมใหญ่ที่เมืองจีนอีกด้วย

สตีฟ บัลเมอร์ ซีอีโอ ของไมโครซอฟท์ ได้ประกาศขยายการลงทุน และเพิ่มการจ้างงานของเครือข่ายธุรกิจในเมืองจีน เพื่อลุยตลาดคลาวด์คอมพิวติ้ง และระบบปฏิบัติการไมโครซอฟท์ในสมาร์ทโฟนที่เมืองจีนอย่างเต็มพิกัด

ซีอีโอไมโครซอฟท์ ถึงกับยืนยันจะเลือกเปิดตัวบริการ "Window Azure" ซึ่งเป็นบริการระบบคลาวด์คอมพิวติ้งที่เมืองจีน เป็นแห่งแรกในโลก เนื่องจากสาวกไมโครซอฟท์ในเมืองจีน ให้การต้อนรับบริการของไมโครซอฟท์อย่างอบอุ่น

ปฏิกิริยาความคึกคักมีชีวิตชีวาของบรรยากาศการแข่งขันกันในสนามธุรกิจไอซีทีที่สหรัฐอเมริกา ดูจะต่างกันลิบลับกับบรรยากาศธุรกิจในโลกอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ออสเตรเลีย ซึ่งกำลังถูกปกคลุมไปด้วยความเงียบเหงา

เหตุปัจจัยสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ในออสเตรเลียอยู่ในอาการซึมสะลึมสะลือ คือความแข็งตัวของค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลีย

การแข็งตัวของค่าเงินที่กำลังตกเป็นจำเลยในระบบเศรษฐกิจออสเตรเลีย และส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์อย่างรุนแรง ดูจะเป็นข้อกล่าวหาในลักษณะเดียวกันที่กำลังเกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจไทย จะต่างกันตรงที่ในเมืองความรุนแรงยังน้อยกว่าที่ออสเตรเลีย

ที่ออสเตรเลีย กรณีการแข็งตัวของค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลีย ถูกกล่าวหาเป็น "ฆาตกร" ปลิดชีพโรงงานประกอบรถยนต์ยี่ห้อฟอร์ดในออสเตรเลียพร้อมๆกันถึง 2 โรงคือที่เมลเบิร์น และที่จีลอง ตามคำประกาศของผู้บริหารของฟอร์ดมอเตอร์ในออสเตรเลีย ทั้งๆที่โรงงานที่ว่านี้มีอายุการดำเนินงานต่อเนื่องยาวนานถึงกว่า 90 ปี

ผลพวงจากการประกาศปิดตัวเองของโรงงานฟอร์ดมอเตอร์ในออสเตรเลีย ด้วยการอ้างเหตุจากค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งเป็นพิษ จะทำให้พนักงานจำนวน 1,200 คนต้องตกงาน แต่เหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นในเดือนตุลาคม 2557 และกว่าจะถึงตอนนั้นทุกอย่างอาจเปลี่ยนแปลงได้

อย่างไรก็ตาม โรงงานประกอบของค่ายรถยนต์อีก 2 ค่ายที่เหลืออยู่ในออสเตรเลีย คือค่ายเยนเนอรัลมอเตอร์ และค่ายโตโยต้ามอเตอร์ แม้ผลประกอบการจะถูกกระทบจากภาวะเงินดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่า แต่ยังไม่มีใครใจเสาะประกาศปิดตัวเองตามอย่างฟอร์ด


บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม โทร : 0893284192 , ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ