ธุรกิจจัดงานวิ่งปี’63:ฝ่าฝุ่นPM2.5สร้างมูลค่า1,700ล้านบาท

วันศุกร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

ธุรกิจจัดงานวิ่งปี’63:ฝ่าฝุ่นPM2.5สร้างมูลค่า1,700ล้านบาท


ประเด็นสำคัญ

•             ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในปี 2563 ธุรกิจจัดงานวิ่งในไทยจะสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนเป็นมูลค่าราว 1,700 ล้านบาท จากจำนวนนักวิ่งที่เข้าร่วมกิจกรรมรวม 4-6 ล้านคน และจำนวนงานวิ่งทั้งปีที่น่าจะมีไม่ต่ำกว่า 1,800 รายการ ใกล้เคียงกับปีก่อน โดยงานส่วนใหญ่คงจะถูกจัดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังภายใต้สมมติฐานที่สถานการณ์ความกังวลต่อเชื้อไวรัสโคโรนาคลี่คลายลงในช่วงครึ่งปีแรก และกว่าร้อยละ 80 ของการจัดงานทั้งปีจะเป็นงานวิ่งในต่างจังหวัด

•             ความท้าทายของธุรกิจจัดงานวิ่ง จะอยู่ที่การดึงดูดฐานนักวิ่งทั้งนักวิ่งประจำและนักวิ่งหน้าใหม่ที่มีกำลังซื้อให้ยังคงเข้าร่วมกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้อมากนักและนักวิ่งมีทางเลือกของการออกกำลังกายที่หลากหลาย อีกทั้งจำนวนผู้จัดงานก็เพิ่มขึ้น

•             ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การยกระดับการจัดงานวิ่งจากประเภททั่วไป ไปสู่งานวิ่งระดับชาติตามมาตรฐานสากล เป็นแนวทางหนึ่งที่ธุรกิจรับจัดงานวิ่งที่มีศักยภาพควรพิจารณา โดยแม้จะมีความท้าทาย แต่หากทำได้ จะเปิดโอกาสทางธุรกิจได้อีกมาก

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จำนวนงานวิ่งที่มีการเก็บค่าใช้จ่ายกับนักวิ่งที่เข้าร่วมงาน มีจำนวนที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนโดยทะลุ 1,000 รายการเป็นครั้งแรกในปี 2561 และมีจำนวนถึง 1,872 รายการทั่วประเทศไทยในปี 2562 ซึ่งการเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นการจัดงานวิ่งในต่างจังหวัดที่ปัจจุบันกระจายไปครอบคลุมเกือบครบทุกจังหวัดแล้ว ขณะที่งานวิ่งในกรุงเทพฯ ค่อนข้างทรงตัวหรือเพิ่มในอัตราที่น้อยกว่า ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะจำนวนสถานที่การจัดงานในกรุงเทพฯ อย่างสวนสาธารณะมีค่อนข้างจำกัดด้วย

ทั้งนี้ จำนวนงานวิ่งที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว ในด้านหนึ่ง สะท้อนถึงการให้การตอบรับของผู้บริโภคหรือนักวิ่ง ทั้งกลุ่มนักวิ่งประจำที่มักเข้าร่วมงานวิ่งเพื่อฝึกซ้อม/พัฒนาระยะการวิ่งของตนในสนามที่แตกต่าง และกลุ่มนักวิ่งหน้าใหม่ที่หันมาใส่ใจดูแลสุขภาพหรือเข้าร่วมกิจกรรมกับเพื่อนฝูง/ครอบครัว รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุด้วย ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อนักวิ่งตอบรับมากขึ้น ฝั่งผู้จัดงานหรือเจ้าภาพก็เพิ่มจำนวนขึ้นด้วย จากเดิมที่อาจจำกัดเพียงบางองค์กร ก็ขยายไปครอบคลุมทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา ที่นอกจากจะจัดงานวิ่งเพื่อประชาสัมพันธ์องค์กรหรือระดมทุนเฉพาะกิจแล้ว ยังเป็นหนึ่งในการทำกิจกรรมด้านการตลาดเพื่อสร้างการรับรู้แบรนด์ของภาคเอกชนเป็นหลักด้วย ทิศทางดังกล่าว สนับสนุนให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในธุรกิจรับจัดงานวิ่ง ขณะเดียวกันก็สร้างผลบวกต่อสินค้าและบริการที่เกี่ยวกับการวิ่งเช่นกัน 

สำหรับทิศทางธุรกิจจัดงานวิ่งในปี 2563 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองดังนี้

•             ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2563 จำนวนการจัดงานวิ่งอาจใกล้เคียงกับในปีที่ผ่านมา หรืออยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 1,800 รายการ โดยในปีนี้ ปัจจัยเฉพาะอย่างความกังวลต่อสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาในประเทศจีนซึ่งพบผู้ติดเชื้อในไทยด้วย อาจมีผลกระทบให้ผู้จัดงานส่วนหนึ่งปรับแผนการจัดงานวิ่งในช่วงครึ่งปีแรกโดยเฉพาะในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมที่นักวิ่งยังมีความกังวลต่อสถานการณ์ที่ยังมีความไม่แน่นอน ขณะที่บางส่วนที่ขายบัตรไปแล้วอาจไม่ยกเลิกแต่คงเพิ่มมาตรการป้องกันเข้มข้นขึ้นแทน ยิ่งถ้าเป็นงานที่มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมจำนวนมาก อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์ไวรัสโคโรนาคลี่คลาย คาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ โดยเฉพาะช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม ผู้จัดงานน่าจะยังคงมีการจัดงานวิ่งไม่ต่างจากปีก่อนๆ หรืออาจเพิ่มขึ้นได้เล็กน้อย เพราะช่วงเวลาดังกล่าว เป็นจังหวะที่มักจะมีงานวิ่งมากคิดเป็นสัดส่วนถึงราวร้อยละ 43 ของจำนวนงานวิ่งทั้งหมดในแต่ละปี อนึ่ง โดยรวมทั้งปี กว่าร้อยละ 80 ของจำนวนงานวิ่งน่าจะยังคงกระจายตัวไปตามจังหวัดต่างๆ ขณะที่งานวิ่งในกรุงเทพฯ น่าจะมีสัดส่วนไม่ถึงร้อยละ 20

•             ทั้งนี้ หากประเมินมูลค่าธุรกิจรับจัดงานวิ่งจากรายได้ค่าจำหน่ายบัตรซึ่งแปรผันตามจำนวนนักวิ่ง กับเงินสนับสนุนจากเจ้าภาพ/สปอนเซอร์ผ่านงบกิจกรรมการตลาดซึ่งมีสัดส่วนอย่างน้อยร้อยละ 20-30 ต่อรายได้งานขึ้นอยู่กับขนาดการจัดงาน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มูลค่าธุรกิจรับจัดงานวิ่งในปี 2563 จะอยู่ที่ประมาณ 1,700 ล้านบาท โดยนักวิ่งที่จะเข้าร่วมงานทั้งกว่า 1,800 รายการดังกล่าว น่าจะมีจำนวนราว 4-6 ล้านคน ขณะที่เจ้าภาพ/สปอร์เซอร์ภาคเอกชนน่าจะยังเลือกใช้กิจกรรมนี้เป็นช่องทางสื่อสารการตลาดอย่างต่อเนื่อง เพราะนอกจากจะช่วยสร้างการรับรู้และจดจำแบรนด์แล้ว ยังเป็นโอกาสในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่เน้นการดูแลสุขภาพซึ่งน่าจะเป็นลูกค้าศักยภาพอีกด้วย ขณะที่ เม็ดเงินจากรายได้ของธุรกิจรับจัดงานวิ่งนี้ จะถูกกระจายไปยังธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจที่ผลิตและจำหน่ายเสื้อ/อุปกรณ์ที่ระลึกงานวิ่ง เหรียญและถ้วยรางวัล ผู้ผลิตป้ายหมายเลขวิ่ง (BIB) ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ผู้ให้บริการสถานที่จัดงาน ในขณะเดียวกัน การเข้าร่วมงานวิ่งโดยเฉพาะในต่างจังหวัด ก็อาจทำให้นักวิ่งมีค่าใช้จ่ายด้านการเดินทางและที่พักเพิ่มเติม นอกเหนือการใช้จ่ายในส่วนของชุดกีฬา Accessories & Gadgets อาหารเสริม เป็นต้น

•             ในปี 2563 นี้ นอกจากปัจจัยเฉพาะที่มีผลต่อบรรยากาศการจัดงานวิ่งและทำให้นักวิ่งคงจะมีความรอบคอบระมัดระวังมากขึ้นในการตัดสินใจเลือกเข้าร่วมงาน ทั้งสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 และความกังวลต่อเชื้อไวรัสโคโรนาแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ธุรกิจรับจัดงานวิ่งยังอาจเผชิญความท้าทายจากการดึงดูดฐานนักวิ่งที่มีกำลังซื้อให้ยังคงสนใจเข้าร่วมกิจกรรมงานวิ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นโจทย์ที่ไม่ง่าย ทั้งในกลุ่มนักวิ่งประจำ ที่คาดหวังจะได้รับประสบการณ์ที่ดีขึ้นเรื่อยๆ หรือมีความต้องการที่ซับซ้อนขึ้น โดยมองหาประสบการณ์และความท้าทายใหม่ๆ เพื่อพัฒนาฝีเท้าตนเอง หรือแม้แต่สนใจที่จะเข้าร่วมงานวิ่งระดับอาชีพในต่างประเทศเพิ่มขึ้นด้วย และกลุ่มนักวิ่งหน้าใหม่ที่มีกำลังซื้อและยินดีที่จะใช้จ่ายเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมซึ่งต้องมีค่าใช้จ่ายในด้านการเดินทางและที่พักหากงานจัดในต่างจังหวัดด้วย ขณะเดียวกันผู้บริโภคก็มีทางเลือกของการออกกำลังกายที่หลากหลายในปัจจุบัน นอกจากนี้ จำนวนงานและผู้จัดงานในประเทศก็เพิ่มขึ้น ดังนั้น ผลตอบแทนสุทธิที่ได้รับจากการจัดงานวิ่งแต่ละงานอาจไม่มากเท่าในอดีต เพราะผู้จัดงานต้องพยายามสร้างจุดขายที่แตกต่างและอาจจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรทั้งด้านเงินทุนและแรงงานมากขึ้น

•             ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การยกระดับการจัดงานวิ่งจากประเภททั่วไป ไปสู่งานวิ่งระดับชาติตามมาตรฐานสากล น่าจะเป็นแนวทางหนึ่งที่ธุรกิจรับจัดงานวิ่งที่มีศักยภาพควรจะมุ่งไป เพราะนอกจากการจัดงานดังกล่าว จะสามารถดึงดูดฐานนักวิ่งได้มากขึ้นทั้งนักวิ่งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยเฉพาะนักกีฬาอาชีพในระดับอาเซียนหรือแม้แต่ระดับโลก ผู้จัดงานร่วมกับพันธมิตรในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องยังมีโอกาสในการสร้างรายได้จากมูลค่าเพิ่มของการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักวิ่งตลอดงาน โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพและโภชนาการ รวมถึงบริการโรงแรมที่พักและการท่องเที่ยว เนื่องจากหากนักกีฬาต่างชาติวางแผนจะเข้าร่วมงานวิ่งในไทย ก็น่าจะใช้เวลาเข้าร่วมกิจกรรมและท่องเที่ยวในประเทศเฉลี่ยราวๆ 5-7 วัน ซึ่งก็จะถือเป็นการจัดอีเวนท์ที่สร้างรายได้เข้าประเทศ สอดคล้องไปกับนโยบายของภาครัฐที่ต้องการสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงกีฬา (Sport Tourism) ผ่านการวางเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางการจัดงานอีเวนท์กีฬาระดับโลกต่างๆ ด้วย 

อย่างไรก็ดี การดำเนินการดังกล่าว ผู้ประกอบการคงต้องมีความพร้อมในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีและมาตรฐานต่างๆ ที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล รวมทั้งการได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ในการจัดงานวิ่งระดับชาติ ผู้จัดงานก็ควรเลือกจังหวะเวลาที่เหมาะสมหรือไม่ทับซ้อนกับงานวิ่งระดับเดียวกันในต่างประเทศด้วย ซึ่งงานระดับมาตรฐานสากลในภูมิภาคเอเชีย ส่วนใหญ่จะจัดที่ประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน

อนึ่ง ปัจจุบันงานวิ่งในไทยที่ก้าวสู่ระดับมาตรฐานสากล  ได้แก่ บางแสน21 ฮาล์ฟมาราธอน (ได้รับการรับรองมาตรฐาน IAAF Silver Label ในปี 2562) บุรีรัมย์มาราธอน (ได้รับการรับรองมาตรฐาน IAAF Bronze Label ในปี 2562) บางแสน42 ชลบุรีมาราธอน (อยู่ระหว่างการยื่นขอมาตรฐาน IAAF Bronze Label) รวมถึงอีกหลายงานที่อยู่ระหว่างการยกระดับ อาทิ จอมบึง มาราธอน ภูเก็ตธอน อเมซิ่งไทยแลนด์ มาราธอน เป็นต้น   



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม โทร : 0893284192 , ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ