2563 ผ่าทางตันสื่อสิ่งพิมพ์ Book Comeback

วันเสาร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2563

2563 ผ่าทางตันสื่อสิ่งพิมพ์  Book Comeback


แม้จะกล่าวกันว่าหนังสือกำลังจะตาย แต่จากผลสำรวจการอ่านของประชากรปี 2561 โดยสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK park) ร่วมกับ สำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าคนไทยยังคงอ่านหนังสือเล่มอยู่ ซึ่งสูงถึง 88% แม้การเข้ามาของสื่อใหม่จะทำให้อัตราการอ่านหนังสือเล่มลดลง แต่อัตราการลดลงดังกล่าวกลับไม่สูงมากนักเมื่อเทียบปี 2558 อยู่ที่ 96.1% ใกล้เคียงกับการอ่านหนังสือบนสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่มีจำนวน 75.4% เพิ่มขึ้นจาก 54.9% ในปี 2558 สะท้อนให้เห็นว่าสื่อสิ่งพิมพ์สามารถอยู่เคียงคู่สื่อใหม่ได้

คนไทยซื้อหนังสือติดอันดับ 4 ของโลก

ขณะที่เว็บไซต์ Picodi ได้ทำการสำรวจแนวโน้มในการซื้อหนังสือของผู้บริโภค จากผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 7,800 คนใน 41 ประเทศทั่วโลกช่วงเดือนมีนาคม 2562 พบว่าคนไทยมีความต้องการซื้อหนังสือติดอันดับ 4 ของโลก โดย 63% นิยมซื้อหนังสือในร้านหนังสือ และซื้อผ่านร้านหนังสือออนไลน์ โดยเฉพาะในช่วงโปรโมชั่นประมาณเดือนมีนาคม-เมษายนและตุลาคมซึ่งเป็นช่วงที่ร้านหนังสือออนไลน์จะนำหนังสือที่ไม่ใช่สินค้ายอดนิยมมาลดราคา อีก 5% ยืมหนังสือจากห้องสมุด 3% ยืมหนังสือจากเพื่อน ส่วนที่เหลืออีก 29% ไม่ค่อยได้อ่านหนังสือหรือแทบจะไม่สนใจหนังสือเลย

5 หมวดหนังสือยอดนิยม

ผลจากแบบสอบถามดังกล่าวทำให้เห็นว่าหนังสือในรูปแบบกระดาษ ยังคงเป็นทางเลือกหลักของคนไทย สัดส่วนกลุ่มผู้บริโภค ผู้หญิงมีอัตราการซื้อหนังสือมากกว่าผู้ชาย คือ 86% ขณะที่ผู้ชายซื้อหนังสือ 71% เฉลี่ยอย่างน้อย 1 เล่ม/คน/ปี หมวดหมู่หนังสือที่นิยม 5 อันดับแรกคือหนังสือนิยาย 49% รองลงมาคือหนังสือเกี่ยวกับงานอดิเรก 40%, หนังสือธุรกิจ 34%, สารคดี 26% และ วิทยาศาสตร์ 21%

สำหรับ 10 ประเทศที่ประชากรซื้อหนังสือบ่อยที่สุด ประกอบด้วย อันดับ 1 ตุรกี 2.รัสเซีย 3.สเปน 4.ไทย 5.โรมาเนีย 6.มาเลเซีย 7.สโลวาเกีย 8.บราซิล 9.สวิตเซอร์แลนด์ และ 10.ฮังการี อย่างไรก็ตามอันดับดังกล่าว ไม่ได้หมายถึงว่ามีจำนวนผู้อ่านมากที่สุดในโลก

ร้านหนังสือรีแบรนด์เพิ่มยอดขาย

เมื่อมองไปที่กลุ่มผู้ประกอบการร้านหนังสือรายใหญ่อย่างซีเอ็ดก็พบความเคลื่อนไหวน่าสนใจ โดยนายเกษมสันต์ วีระกุล ประธานกรรมการ บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ซีเอ็ดได้รีแบรนด์มาตั้งแต่เดือนพ.ย.2561 เริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนกระบวนการคิด (Mindset) มองดิสรัปเป็นความเปลี่ยนแปลงที่สร้างโอกาสในการทำธุรกิจใหม่ๆ โดยการใช้จุดแข็งจากสาขาที่มีเครือข่ายหน้าร้านกว่า 300 แห่ง เป็นช่องทางทำให้เข้าถึงผู้บริโภค ปรับภาพลักษณ์ ทั้งการตกแต่งร้าน และหนังสือให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคในท้องถิ่น (Localization) เช่น ภาคเหนือ อีสาน ใต้ มีคำภาษาท้องถิ่นติดหน้าร้านต้อนรับ ซึ่งคาดว่าจะครบทุกสาขาภายในปี 2563 ทำให้แบรนด์มีความชัดเจน เป็นจุดสร้างแรงบันดาลใจทำให้คนมีพลังในการพัฒนาตัวเองประสบความสำเร็จ สร้างสังคมรักการอ่าน และรู้ทันโลก

นอกจากนี้ยังเลือกหนังสือให้สอดคล้องกับความต้องการของคนในทำเลที่ตั้งของร้านหนังสือมากขึ้น เช่น หากอยู่ติดกับสถาบันการศึกษา ก็จะเน้นประเภทหนังสือวิชาการเตรียมสอบ หากเป็นร้านหนังสือในสำนักงานที่มีกลุ่มคนทำงานจำนวน

มากก็จะเน้นหนังสือการพัฒนาตัวเองหรือการทำธุรกิจ การบริหารธุรกิจ ซึ่งการปรับเปลี่ยนโมเดลเช่นนี้ส่งผลทำให้กำไรเพิ่มขึ้นประมาณ 20%

นายเกษมสันต์ ยังกล่าวด้วยว่าในปี 2563 จะรุกเข้าสู่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ โดยใช้สิ่งที่คนมองว่าเป็นจุดอ่อนคือหน้าร้านให้เป็นจุดแข็งพร้อมกับปรับปรุงระบบหลังบ้านเว็บไซต์ให้เป็นช่องทางการซื้อหนังสือออนไลน์ได้ง่าย รวดเร็ว และสะดวก พร้อมกับบริหารจัดการสายส่งหนังสือที่มีความพร้อมส่งระยะไกล 3 เที่ยวต่อสัปดาห์และในกรุงเทพฯปริมณฑล 6 เที่ยวต่อสัปดาห์เชื่อมโยงกับหน้าร้านกว่า 300 สาขา โดยปัจจุบันเว็บไซต์มียอดคนเข้ามาหาข้อมูลหนังสือมากกว่า 1 ล้านคนต่อเดือน จึงต้องแปลงให้เป็นยอดซื้อขายมากขึ้น ตลอดจนการเพิ่มช่องทางการสื่อสารระหว่างนักเขียนและผู้อ่าน

รุกขายผ่านช่องทาง C-Commerce

C-Commerce (Conversational Commerce) หรือการค้าขายผ่านการสนทนาด้วยระบบออนไลน์กลายเป็นเทรนด์สำคัญที่เขย่าวงการค้าปลีกไทย และจะรุนแรงยิ่งขึ้นในปี 63 จากการสำรวจพบว่าไทยนำเทรนด์ C-Commerce มากที่สุดใน 9 ประเทศ โดยคนไทยใช้อินเตอร์เน็ตนานที่สุดเฉลี่ย 10 ชั่วโมงต่อวัน นานกว่าชาวสหรัฐฯที่ใช้เน็ต 6 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งการนิยมใช้แอปพลิเคชันแชตในการทำงานมากขึ้น กลายเป็นพื้นฐานที่ทำให้คนไทยสนใจใช้งาน C-Commerce ไปด้วย

ประกอบกับการเข้าถึงเฟสบุ๊คได้ง่ายทำให้ C-Commerce กลายเป็นเรื่องใกล้ตัว สามารถติดต่อกับแบบ two way communications อย่างแท้จริง ทำให้คนไทยซื้อสินค้าที่มีราคาแพง เช่น นาฬิกาหรือกระเป๋าหรู ไม่เว้นแม้กระทั่งหนังสือที่หลายสำนักพิมพ์เริ่มกระโจนลงมาเล่นในสนามนี้ เพิ่มช่องทางการขายนอกเหนือจากร้านหนังสือและการออกบูธตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งก็ได้รับความนิยมมียอดขายจำนวนมากต่อครั้ง โดยเฉพาะหนังสือที่มีการลดราคาหรือการทำโปรโมชั่น

ปั้นฐานแฟนคลับเสริมทัพธุรกิจ

นายปัณณธร ไชยบุญเรือง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปัญญาชนดิสทริบิวเตอร์, ประธานสมาพันธ์ผู้จำหน่ายหนังสือและสื่อการศึกษา, กรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย กล่าวในฐานะผู้มีประสบการณ์ในวงการสื่อสิ่งพิมพ์ว่า ธุรกิจพ็อกเก็ตบุ๊กในอนาคตอย่างน้อย 10 ปีต่อจากนี้ยังคงอยู่ เพราะว่าหนังสือแต่ละประเภทยังมีเสน่ห์ในตัวเอง ปัจจุบันหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊กที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊กแนวนวนิยาย วรรณกรรม ซึ่งเป็นหนังสือด้านบันเทิง กลุ่มผู้อ่านส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงวัยทำงาน หนังสือพ็อกเก็ตบุ๊กด้านฮาวทูด้านบิสิเนสก็เป็นหนังสือที่ยังได้รับความนิยมซึ่งผู้อ่านกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายที่มีความสนใจแตกต่างกันไป เช่น ด้านหุ้น ด้านการลงทุน ด้านสุขภาพ ด้านนวัตกรรม โดยแต่ละสำนักพิมพ์ที่ทำหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊กจะมีกลุ่มลูกค้าของตัวเอง คือพยายามสร้างกลุ่มลูกค้าของตัวเอง เช่น พ็อกเก็ตบุ๊กด้านประวัติศาสตร์ ด้านสารคดี ด้านฮาวทู การพัฒนาตนเอง รวมถึงการสร้างฐานแฟนคลับของตัวเอง เช่นถ้ามีแฟนคลับ 5 แสนคน ขอแค่ 10% มาซื้อหนังสือก็ 5 หมื่นคนแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าสำนักพิมพ์สร้างฐานแฟนคลับได้มากเท่าไหร่ โอกาสที่จะพิมพ์หนังสือออกมาแล้วไม่ขาดทุนก็มีมากเท่านั้น



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ