ไวรัส-ฝุ่นพิษ-รถติด ดัน ‘แอพฟู้ด’ สมรภูมิ..ดิลิเวอรี่ ปลุก! ยักษ์เล็ก

วันเสาร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2563

ไวรัส-ฝุ่นพิษ-รถติด ดัน ‘แอพฟู้ด’  สมรภูมิ..ดิลิเวอรี่  ปลุก! ยักษ์เล็ก


ธุรกิจอาหารส่งด่วนถึงบ้าน หรือ ฟู้ด ดิลิเวอรี่ มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 10% มาตั้งแต่ปี 2557-2561 โดยเฉพาะปี 2562 น่าจะเติบโตถึง 14% หรือมีมูลค่าประมาณ 33,000 ล้านบาท

ในอดีตเมื่อพูดถึงฟู้ด ดิลิเวอรี่ เรามักจะนึกภาพถึงร้านอาหารขนาดใหญ่ที่มีสาขาจำนวนมากๆ เช่น เคเอฟซี, พิซซ่าฮัท, เดอะพิซซ่า เป็นต้น แต่ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำหน้ามีการพัฒนาแอพพลิเคชั่นสั่งอาหารขึ้นมาหลายแอพ ไม่ว่าจะเป็นแกร็บฟู้ด ไลน์แมน หรือ ฟู้ดแพนด้า กลายเป็นช่องทางให้รานอาหารข้างทางหรือสตรีทฟู้ดก้าวกระโดดขึ้นมาเทียบเท่าร้านอาหารเชนใหญ่ๆโดยไม่จำเป็นต้องเปิดสาขาจำนวนมาก ขอเพียงแต่เป็นร้านที่ทำอาหารอร่อย ลูกค้าติดใจ มีการแนะนำปากต่อปาก ก็จะถูกดึงชื่อเข้าไปติดในทำเนียบของแอพดังๆเพื่อเป็นหนึ่งในตัวเลือกของลูกค้า

ด้วเหตุนี้เราจึงเห็นร้านอาหารริมทางหลายแห่งมีพนักงานส่งอาหารไปเข้าคิวรอซื้ออาหารเพื่อนำไปส่งให้กับลูกค้าที่สั่งผ่านแอพ บางร้านเป็นร้านธรรมดาที่ไม่ได้มีชื่อเสียงโด่งดัง ไม่เคยมีการประชาสัมพันธ์ในโลกออนไลน์ เพียงแต่อาจเป็นที่นิยมหรือรู้จักของคนในละแวกนั้นๆ ก็กลายเป็นร้านที่ถูกสั่งผ่านแอพฟู้ดได้เช่นเดียวกัน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้เคยทำการสำรวจพบว่า 63% ของกลุ่มตัวอย่างมองว่าการมีบริการสั่งอาหารผ่านแอพพลิเคชั่นทำให้คนออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านน้อยลง โดย 88% ของกลุ่มตัวอย่างเคยสั่งอาหารผ่านแอพพลิเคชั่น ปัจจัยสนับสนุนหลักคือโปรโมชั่นและส่วนลดต่าง ๆ อย่างไรก็ดี หนึ่งในสามของกลุ่มตัวอย่างคิดว่าร้านอาหารยังต้องมีการขยายสาขา เพื่อความรวดเร็วและรองรับจำนวนลูกค้าที่มากขึ้น

โอกาสแจ้งเกิด ‘ยักษ์เล็ก’

Food Delivery Application หรือแอพพลิเคชั่นสั่งอาหารไปทานที่บ้าน ไม่เพียงทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป แต่ยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในห่วงโซ่ธุรกิจร้านอาหาร และทำให้ธุรกิจฟู้ด ดิลิเวอรี่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เพิ่มโอกาสสร้างรายได้ให้แก่ผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่ธุรกิจร้านอาหาร โดยเฉพาะร้านอาหารขนาดกลางและขนาดเล็ก

จากการคาดการณ์ปี 2562 มูลค่าธุรกิจฟู้ดดิลิเวอรี่ 33,000 ล้านบาท จะเป็นรายได้ของร้านอาหารขนาดกลางและเล็กประมาณ 26,000 ล้านบาท ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ 3,900 ล้านบาท และ แอพพลิเคชั่นซึ่งเป็นตัวกลางสำหรับการสั่งอาหารหรือ Food Delivery Application มีส่วนแบ่งรายได้ราว 3,400 ล้านบาท จากมูลค่ารวมของธุรกิจ Food Delivery ปี 2562 ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 33,000 – 35,000 ล้านบาท โตต่อเนื่องราว 14% จากปีก่อน คิดเป็นสัดส่วน 8% ของมูลค่าธุรกิจร้านอาหารของประเทศไทยในปี 2562

ตลาดขวัญใจคนโสด

นางสาววงศ์ทิพพา วิเศษเกษม ผู้อำนวยการฝ่ายแพลตฟอร์มโอเปอเรชั่น GET กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้ชีวิตของลูกค้ามาวิเคราะห์โดยตลอด เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาช่วยให้ร้านค้าสามารถพัฒนาสินค้าและบริการได้ตอบโจทย์และตรงใจคนสั่งอาหาร โดยพบว่าคนส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการสั่งอาหารแบบ Order for One หรือสั่งรับประทานคนเดียว โดยจะสั่งแค่ 1 หรือ 2 เมนูต่อหนึ่งออเดอร์ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่คนโสดเพิ่มมากขึ้น และครอบครัวเดี่ยวมีจำนวนมากขึ้น สำหรับมื้ออาหารที่คนนิยมสั่งมากที่สุดคือมื้อเย็นช่วงระหว่าง 16.00-19.00 น.

ชานมไข่มุกเครื่องดื่มยอดนิยม

ขณะที่ผู้หญิงชอบสั่งอาหารเดลิเวอรี่มากกว่าผู้ชาย สัดส่วนอาหารที่สั่งเป็นอาหารหลัก 44% เครื่องดื่ม 17% ขนมหวาน 15% และอาหารระหว่างมื้อ 4% คนกรุงเทพฯยังมีพฤติกรรมการสั่งอาหารตลอดทั้งวัน โดยมีการสั่งอาหารว่างทั้งมื้อเช้า มื้อบ่าย และมื้อดึก คิดเป็นยอดประมาณ 28% สำหรับยอดขายผ่าน GET เดือนตุลาคม 2562 อาหารที่มียอดสั่งมากที่สุด 4 อันดับแรก ประกอบด้วย ชานมไข่มุกกว่า 300,000 แก้ว ขนมปังไส้ต่างๆ 190,000 ชิ้น ก๋วยเตี๋ยว 120,000 ชาม อาหารทานง่ายๆเช่นหมูทอดหมูปิ้ง 90,000 ชุด โดยกลุ่มลูกค้าหลักของ GET ยังคงเป็นคนในกลุ่มมิลเลนเนียลหรือคนที่เป็นกลุ่มระหว่าง GEN Z และ GEN Y ที่อยู่ในช่วงอายุ 23-38 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เติบโตมาในช่วงของการพัฒนาทางเทคโนโลยี

“พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนมาใช้บริการสั่งอาหารมากขึ้น ทำให้ยอดขายของร้านอาหารต่างๆเพิ่มขึ้นกว่า 40% และการที่เราทำสถิติส่งในรัศมีไม่เกิน 20 กม.ด้วยเวลาไม่เกิน 28 นาที ทำให้อาหารยังคุณภาพ ส่งผลผู้บริโภคตอบรับใช้บริการมากขึ้นอย่างรวดเร็ว” นางสาววงศ์ทิพพา กล่าว

หนุนร้านThai SELECTแชร์ตลาด

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า กรมเตรียมจะขยายโครงการร้านอาหารไทยที่ได้รับตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ด้วยการร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่มีโครงการเส้นทางท่องเที่ยว 108 เส้นทาง เพื่อร่วมโปรโมตร้านอาหารและธุรกิจท่องเที่ยวไปด้วยกัน

ขณะเดียวกันกรมฯมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยการร่วมนำเทคโนโลยีไปส่งเสริมผู้ประกอบการ ทั้งการร่วมมือกับแอพพลิเคชั่น Wongnai และ Grab ร่วมโปรโมตร้านอาหารไทยที่ได้รับตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น

โดย Wongnai ได้มีการเปิดเผยข้อมูลจำนวนร้านค้าที่เปิดให้บริการทั่วประเทศในปี 2561 มีจำนวน 34,934 ร้านค้า เพิ่มขึ้น 9.62% จากปีก่อน โดยร้านที่เปิดใหม่ทั่วประเทศดับหนึ่งได้แก่ ร้านกาแฟและคาเฟ่ โดยครองอันดับหนึ่งติดต่อกันเป็นปีที่สี่ อันดับสองร้านก๋วยเตี๋ยว อันดับสาม ร้านอาหารไทย อันดับสี่ ของหวาน (เบเกอรี เค้ก และไอศกรีม) อันดับห้า อาหารตามสั่ง โดยแนวโน้มธุรกิจร้านอาหารมีการขยายตัวที่ดีต่อเนื่อง

รายใหญ่ผุดแอพรักษาส่วนแบ่ง

นายไพศาล อ่าวสถาพร รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจอาหาร บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจุบันการเติบโตของธุรกิจดิลิเวอรี่ โดยเฉพาะในกลุ่มอาหารมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะเห็นว่าผู้บริโภคหันมาเลือกใช้บริการดีลิเวอรี่มากขึ้น เพราะต้องการความสะดวกและข้อจำกัดด้านเวลา ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการร้านอาหารเริ่มให้ความสำคัญกับการพัฒนาช่องทางดิลิเวอรี่เพื่อขยายฐานลูกค้า พร้อมเพิ่มโอกาสการขายเสริมจากหน้าร้านที่ทราฟฟิกส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่เฉพาะบางช่วงเวลาเท่านั้น

ล่าสุด โออิชิ กรุ๊ป ได้จัดตั้งบริษัท โออิชิ เดลิเวอรี่ จำกัด เพื่อซัพพอร์ตธุรกิจดิลิเวอรี่ช่องทางออนไลน์โดยเฉพาะและสร้างแอปพลิเคชั่น BevFood สำหรับรองรับการสั่งอาหารจากร้านในเครือของโออิชิทั้ง 7 แบรนด์ คือ โออิชิแกรนด์ โออิชิอีทเทอเรียม โออิชิบุฟเฟต์ ชาบูชิ นิกุยะ โออิชิราเมน และ คาคาชิ รวมถึงรองรับการสะสมคะแนน ระบบบัตรสมาชิก แจ้งข่าวสาร

โปรโมชั่นต่าง ๆ ก่อนเตรียมจะพัฒนาไปสู่รูปแบบการทำซีอาร์เอ็มเฉพาะบุคคล และขยายไปสู่ธุรกิจร้านอาหารอื่น ๆ ในเครือของไทยเบฟในอนาคต

ฝุ่นพิษ รถติด ดันยอดโต

จากรายงานของ McKinsey & Company เปิดเผยตัวเลขการสั่งอาหารผ่านแอพทั้งหมดมีจำนวนถึง 84% เป็นการสั่งอาหารไปส่งที่บ้าน ขณะที่อีก 16% ส่งไปที่ทำงาน ด้านกลุ่มลูกค้าก็มีหลากหลายทั้งคนที่มีครอบครัวแล้วและคนโสด ตั้งแต่เจน X เจน Y เจน Z ซึ่งค่อนข้างแตกต่างจากกลุ่มลูกค้าของธุรกิจประเภทอื่นๆ ที่มีการกระจุกตัวอยู่ที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

จากฐานข้อมูลของ LINE MAN พบว่า ภาพรวมของออร์เดอร์ดิลิเวอรี่ในปี พ.ศ. 2561 โตขึ้น 3 เท่า มีร้านอาหารและสตรีทฟู้ดจากทั่วกรุงเทพฯ เข้าร่วมจำนวนมาก ซึ่งเข้ามาช่วยตอบโจทย์พฤติกรรมการสั่งอาหารดิลิเวอรี่ รวมถึงเป็นประโยชน์แก่เจ้าของร้านอาหารที่ประสบปัญหาในเรื่องของสถานที่และทุนทรัพย์ในการเปิดร้านอาหาร ช่องทางเดลิเวอรี่เป็นอีกหนึ่งช่องทางการขายที่ช่วยเพิ่มยอดขายได้เป็นอย่างดี เห็นได้จากความสำเร็จของร้านอาหารบางแห่งมีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 100 เท่า

ขณะที่ปัจจุบันปัญหาการจราจรบนท้องถนน ผสมกับการแพร่กระจายของฝุ่นพิษ PM2.5 ทำให้กระแสการสั่งอาหารไปทานที่บ้านยิ่งเติบโตมากขึ้น

ธุรกิจร้านอาหารทะลุ 4 แสนล้าน

ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ รายงานมูลค่าตลาดธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทยปี 2560 - 2561 มีมูลค่าสูงกว่า 4 แสนล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผนวกกับความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจ ที่เพิ่มขึ้นทุกปี ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดให้ผู้ประกอบการรายใหม่ เข้าสู่ตลาดธุรกิจร้านอาหารอย่างต่อเนื่อง

ธุรกิจร้านอาหารที่ดำเนินกิจการอยู่จำนวน 14,413 ราย คิดเป็น 1.98% ของธุรกิจที่ดำเนินการอยู่ทั้งสิ้น มูลค่าทุน 99,155.96 ล้านบาท คิดเป็น 0.59% ของธุรกิจที่ดำเนินการอยู่ทั้งสิ้น ธุรกิจส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบบริษัทจำกัด จำนวน 12,486 ราย คิดเป็น 86.63% มีมูลค่าทุน 92,140.61 ล้านบาท คิดเป็น 92.92% โดยธุรกิจนี้มีมูลค่าทุนไม่เกิน 5 ล้านบาทสูงถึง 82.39%

เมื่อพิจารณารายจังหวัด พบว่า จังหวัดที่ประกอบธุรกิจร้านอาหารสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี และเชียงใหม่ ตามลำดับ ซึ่งแต่ละจังหวัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ ในส่วนพื้นที่กรุงเทพมหานครนั้น นอกจากจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติแล้ว ยังเป็นชุมชนเมืองที่มีประชากรอาศัยอยู่จำนวนมาก โดยมีการใช้ชีวิตแบบเร่งรีบ ต้องการความสะดวกรวดเร็ว ทำให้มีการใช้บริการร้านอาหารเป็นจำนวนมาก นอกจากจะใช้เป็นที่รับประทานอาหารแล้วยังใช้เป็นที่พบปะสังสรรค์กับกลุ่มเพื่อนอีกด้วย



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ