โควิด-19 ... เชื้อร้ายกัดกร่อน “รัฐบาลแป้งมัน”

วันจันทร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2563

 โควิด-19 ...  เชื้อร้ายกัดกร่อน “รัฐบาลแป้งมัน”


ข้อเรียกร้องของกลุ่ม ส.ส.และอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่ก่อหวอดในกลุ่มไลน์เพิ่มกระแสกดดันให้พรรค และผู้บริหารพรรคถอนตัวจากการร่วม “รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ด้วยข้ออ้างมีรัฐมนตรีบางคนมี “รอยมลทิน” ถึงเวลาที่ต้องตัดสินใจไม่ “พายเรือให้โจรนั่ง” อีกต่อไปนั้น เรียกได้ว่าเป็น “พายุการเมืองลูกใหม่” กำลังตั้งเค้าซัดเข้าใส่รัฐบาล ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต้องออกมาตอบโต้ ถึงเรื่องนี้ ด้วยคำพูดที่ว่า “ก็ถอนไปสิ แต่ก็ยังไม่ถอน” สร้างความ “สั่นคลอน” และเกิดรอยร้าวในพรรคร่วมรัฐบาล รวมไปถึงกระแสเรื่องการปรับคณะรัฐมนตรีออกมามากมาย

ว่ากันที่จริงแล้วกว่าจะมาเป็น “รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” หรือรัฐบาล “ประยุทธ์2/1” นั้นต้องผ่านการเป็น “รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ” ด้วยการรวบรวมเสียงจากพรรคเล็กพรรคน้อยเกือบ 20 พรรค ท่ามกลางเสียง “ข้อครหา”มากมายอาจทำให้ “รัฐบาลบิ๊กตู่” มีอายุสั้น

การกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยสองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา “ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ” เหมือนเช่นการยึดอำนาจเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา แต่จะเต็มไปด้วยฝากหนามเกมทางการเมืองอย่างหนักหน่วงและรุนแรง ฉะนั้นการตั้งรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำไปตายเอาดาบหน้า ย่อมทำให้รัฐบาลนี้อยู่อย่างทุลักทุเล  และมีแนวโน้มว่าอายุรัฐบาลนี้อาจไม่ยืดยาว

หากรวบรวมปัจจัยสำคัญที่เป็น “จุดอ่อน” ซึ่งอาจทำให้ “รัฐบาลบิ๊กตู่” อยู่ไม่ยืดยาวนั้น อาจจะมาจาก “ความนิยม” ในตัว “บิ๊กตู่” ลดลงจากเดิมอยู่ในช่วงขาลง เพราะเป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 5 ปี มีข้อครหามากมายทั้งเรื่องความโปร่งใส และการแก้ปัญหาปากท้องไม่สำเร็จ ซึ่งผลเลือกตั้งบ่งบอกชัดเจนว่าพรรคพลังประชารัฐ-พปชร.ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้งได้ ส.ส.แค่เพียง 116 เสียง น้อยกว่าพรรคเพื่อไทยที่เป็นฝ่ายตรงข้ามที่ได้ถึง 136 ที่นั่ง  

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยในเรื่องของ “ภาพลักษณ์รัฐบาลติดลบ” ถูกมองสืบทอดอำนาจ ขาดความชอบธรรม ทั้งเรื่องของการควบคุมกลไกองค์กรอิสระ อาทิ กกต. ปปช. รวมถึง ส.ว.250 คน ที่ พล.อ.ประยุทธ์ตั้งเองกับมือ ยิ่งได้รับเสียงโหวต 500 เสียงให้เป็นนายกฯ จึงถูกตั้งฉายาให้เป็น “นายกฯ 500” ติดตัวไปทันที  

ขณะเดียวกันการตั้ง “รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ” ทำให้รัฐบาลขาดเสถียรภาพรุนแรง ล่มได้ทุกเวลา แม้จะมีเสียงเบ็ดเสร็จในรัฐสภาถึง 500 เสียง แต่พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับเสียงโหวตจาก ส.ส.เพียง 251 เสียง จาก 500 เสียง ถือว่าปริ่มน้ำ แม้ว่าล่าสุดปัจจุบันนี้รัฐบาลสามารถ “รวบรวมเสียง” ได้มากขึ้นจนเป็นเสียงข้างมาก ภายหลังพรรคอนาคตใหม่ถูกคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุบพรรคจากข้อหาพรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงินจากนายธนากร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคในขณะนั้น ทำให้เสียงของ ส.ส.ฝ่ายค้านลดลงไปมากก็ตาม

แต่ด้วยความที่เป็น “รัฐบาลผสม” ทำให้เกิดการต่อรองกันตลอดเวลา หากไม่ลงตัวโอกาสเกิดการแทงข้างหลัง ปล่อยข่าวถล่มสกัดกันในแต่ละโครงการ ทั้งเรื่องของผลประโยชน์แบ่งกันไม่ลงตัว และปมแย่งกันสร้างคะแนนนิยมในแต่ละพรรคเพื่อเตรียมตัวสำหรับการเลือกตั้งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทุกเวลา  

นอกจากนี้ ภายในพรรครัฐบาล โดยเฉพาะ “พรรคพลังประชารัฐ” ซึ่งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลนั้น “ขาดเอกภาพ” มีหลายก๊ก หลายมุ้งการเมือง ไม่มีใครมีอำนาจที่แท้จริง ทำให้เกิดการต่อรองกันทั้งเรื่องของเก้าอี้รัฐมนตรี และตำแหน่งต่างๆ ทั้งในรัฐบาล ซึ่งล้วนแต่สร้างรอยร้าว อย่างกรณี “กลุ่มสามมิตร” และกลุ่มนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาฯ ที่ยื่นเงื่อนไขต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรี จนทำให้การเกิดความปั่นป่วนกันมาแล้วในการเลือกประธานสภา และการจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์และภูมิใจไทย ในการแย่งชิงรมว.กระทรวงเกษตรฯ และรมว.กระทรวงคมนาคม

ล่าสุด “รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” ต้องเผชิญกับกระแส “ศรัทธา” ของประชาชนที่นับวันจะลดน้อยลงไปทุกขณะ อันเป็นผลมาจากการบริหารราชการแผ่นดินที่ดูเหมือนว่า “ล้มเหลว” ไปทุกๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรื่อง “ปากท้อง” ของคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ที่บอกได้เลยว่า “สอบตก” เพราะการแก้ปัญหาด้วยการ “แจกเงิน” เพียงอย่างเดียวซึ่งนับว่าเป็นงานถนัด หรือจัดว่าเป็น “ท่าไม้ตาย” ของรัฐบาลนี้นั้นไม่สามารถปลุกความมั่นใจของประชาชนขึ้นมาได้

นอกจากนี้ ปัญหา ไวรัสโคโรนา “โควิด-19” ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลกกำลังจะกลายเป็น “ระเบิดเวลาลูกใหญ่” ที่พร้อมจะทำให้รัฐบาลลุงตู่ล่มสลายได้ เนื่องเพราะนับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโรคร้ายนี้ดูเหมือนว่าการ “สั่งการ” ของ “ฝ่ายการเมือง” ไม่ทันต่อสถานการณ์ ทำประชาชนอยู่ในภาวะที่เรียกว่า Panic attack ที่ขาดการวางแผนอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะการ “สื่อสาร” ของหน่วยงานภาครัฐที่ทำให้ประชาชน-ชาวบ้านไม่เชื่อถือในข้อมูลที่สื่อออกไป ซึ่งต้องปรับกลยุทธ์ ใช้ Data ที่มีประสิทธิภาพ ถูกต้อง ชัดเจน และสื่อสารถูกเวลา เข้ามาแทนที่ Drama ที่เกิดจากความไม่รู้เท่าทันของทั้ง “ผู้ส่งสาร” และ “ผู้รับสาร”

ขณะที่เจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์ซึ่งมีประสบการณ์จากโรคไวรัสซาร์สก่อนหน้านี้ทำงานอย่างเต็มที่ แต่กลับไร้การเหลียวแลจากฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยเฉพาะ “หน้ากาก” ป้องกันที่ขาดแคลนอย่างหนัก แต่จู่ๆ กลับปรากฏข่าวผู้ใกล้ชิดรัฐมนตรีในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ คือ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ไปลอยหน้าลอยตาประกาศขายหน้ากากอนามัยกว่า 200 ล้านชิ้นในโซเชียลมีเดีย ซึ่งได้สร้าง “ความงุนงงสงสัย” ให้กับประชาชนในประเทศอย่างมาก

แม้ว่ารัฐมนตรีคนดังกล่าวจะออกมาปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพ่อค้าและได้ปลดอดีตผู้สมัครส.ส.พลังประชารัฐในฐานะผู้ติดตามรมต.แล้วก็ตาม แต่สังคมก็ยังมีความ “กังขา” เนื่องจากตัวรัฐมนตรีคนดังกล่าวมีคำถามถึงความเหมาะสมในการมานั่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหลังจากสื่อต่างชาติเปิดเผยว่ามีส่วนพัวพันกับคดียาเสพติดจนถูกตัดสินติดคุกมาแล้ว แต่กลับได้รับความไว้วางใจจากพล.อ.ประยุทธ์ให้มาเป็นรัฐมนตรีร่วมรัฐบาล

จนถึงวันนี้เริ่มมีกระแสให้ปรับรมต.คนดังกล่าวพ้นจากรัฐบาล โดยไม่เพียงมีเสียงเรียกร้องออกมาจากพรรคร่วมรัฐบาลเท่านั้น หากแต่ส.ส.ในพรรคเดียวกันก็ออกมาเรียกร้องในนายกฯปรับพ้นเก้าอี้รัฐมนตรี แต่คนที่มีอำนาจในเรื่องดังกล่าวมีเพียง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเท่านั้น ที่สำคัญประเด็นที่ถูกสังคมตั้งคำถามถึงเรื่องการกักตุนหน้ากากอนามัยนั้น นายกฯ ออกมาบอกว่ามีการตรวจสอบโรงงานหน้ากากแล้ว ไม่พบสิ่งผิดปกติ และมีคนที่ถูกกล่าวอ้างมาสารภาพ ทุกอย่างต้องว่าไปตามกระบวนการ

เมื่อเป็นเช่นนี้ เราก็ได้แต่หวังว่ารัฐบาลพลเอกประยุทธ์จะแก้ปัญหาในหลายๆ เรื่องได้ โดยเฉพาะปัญหาเร่งด่วนอย่างการแพร่ระบาดของไข้ “โควิด-19” ไม่เช่นนั้นแล้วไวรัสร้ายตัวนี้อาจหวนกลับมากัดกินรัฐบาลได้ทุกขณะ...  

 

 



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ