7 แนวคิดสร้างสรรค์ปั้นสินค้าสู่ตลาดใหม่ ฝ่าวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19

วันจันทร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2563

7 แนวคิดสร้างสรรค์ปั้นสินค้าสู่ตลาดใหม่ ฝ่าวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19


แม้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจวันนี้จะเต็มไปด้วยขวากหนามและความมืดมน แต่ในความวิกฤตินั้นยังมีโอกาสอยู่เสมอ สยามธุรกิจรวบรวมไอเดียช่วยคนตัวเล็กพลิกวิกฤติเป็นโอกาส ซึ่งหลายคนสามารถนำไปประยุกต์ต่อยอดผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ กับ 7 ไอเดีย

*** หน้ากากผ้าไหม แค่คิดก็วิน ***

หน้ากากผ้าไหมหนึ่งในไอเดียที่ผุดขึ้นมาในช่วงสังคมขาดแคลนหน้ากากอนามัย โดยนายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ กล่าวถึงแนวคิดการทำหน้ากากผ้าไหมว่า จากวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 นอกจากสร้างภาวะตื่นกลัวการระบาดของโรคไปทั่วโลกแล้ว สิ่งที่เป็นปัญหาตามมาคือหน้ากากอนามัยขาดแคลนทั่วประเทศ รัฐบาลจึงมีนโยบายให้จังหวัดต่าง ๆ รณรงค์ให้ประชาชนทำหน้ากากอนามัยจากผ้าใช้เอง จังหวัดสุรินทร์ซึ่งเป็นจังหวัดที่ขึ้นชื่อเรื่องผ้าไหม มีการทอผ้าไหมประมาณ 1,400 หมู่บ้าน จากจำนวนทั้งหมด 2,128 หมู่ จึงมีนโยบายรณรงค์ให้ชาวสุรินทร์ทำหน้ากากอนามัยจากผ้าไหม นอกจากป้องกัน Covid-19 แล้ว ยังส่งเสริมค่านิยมด้านแฟชั่นไทย สร้างมูลค่าเพิ่มให้ไหมสุรินทร์ สร้างรายได้ให้ชาวบ้านซึ่งหลายท้องถิ่นมีผ้าหลากหลายรูปแบบสามารถนำไปประยุกต์ต่อยอดได้แน่นอน!

*** เปลี่ยน อาหารตามสั่งเป็น อาหารออนไลน์’ ***

ข้อมูลจากสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย นำเสนอในยุคที่ผู้คนหลีกเลี่ยงการออกมานอกบ้านและหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ชุมชน ร้านอาหารหลายร้านเริ่มปรับรูปแบบให้เป็น delivery และเปลี่ยนแนวมาทำ chef table แบบตามบ้านมากขึ้น การที่ผู้บริโภคออกจากบ้านมาจับจ่ายใช้สอยน้อยลง ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาไม่มีความต้องการจับจ่าย ผู้บริโภคยังต้องกินต้องใช้ เขายังคงค้นหาสิ่งที่พวกเขาต้องการ แต่เปลี่ยนรูปแบบเป็นการสืบค้นทำธุรกรรมและการซื้อขายทางออนไลน์มากขึ้นกว่าเดิม ถึงเวลาที่ร้านอาหารตามสั่งจะหันมาทำระบบออนไลน์ หรือหากคุณเคยทำธุรกิจ catering ให้กับงานอีเวนต์ใหญ่ๆ ตอนนี้อาจต้องปรับรูปแบบมาบุกตลาดอาหารส่งประจำแบบผูกปิ่นโตตามสำนักงาน ร้านนวด ร้านทำผม อาจต้องเริ่มบริการถึงบ้านแบบ home service ให้มากขึ้น (อ่านรายงานพิเศษ : ปรับ ‘ร้านอาหารตามสั่ง’ ฝ่ากระแส COVID-19 หน้า 3)

*** แนะเปลี่ยนไลน์สู่ 5 ผลิตภัณฑ์ ***

นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 (COVID-19) ลุกลามทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย จึงเล็งเห็นถึงความสำคัญในการเสริมสร้างและพัฒนาผลิตภัณฑ์ในกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการ เปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสภายใต้กรอบแนวคิดการปรับกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ให้สอดรับกับความต้องการของตลาด โดยนำองค์ความรู้มาผสานกับเทคโนโลยี เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ พร้อมกับเพิ่มศักยภาพทางด้านกระบวนการผลิต ด้วยการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตสินค้าให้เป็นที่ต้องการของตลาดและสามารถเลือกใช้วัตถุดิบอื่นๆในการผลิตทดแทนกับวัตถุดิบหลักที่ขาดแคลน ใน 5 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วย

1.ปรับกระบวนการผลิตเสื้อผ้าแฟชั่นสู่หน้ากากผ้า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ความต้องการหน้ากากอนามัยสูง สวนทางกับกำลังการผลิตภายในประเทศได้ประมาณ 5 ล้านชิ้นต่อเดือน (ข้อมูลจากกรมการค้าภายใน) ดังนั้น ผู้ประกอบการในกลุ่มสิ่งทอ สามารถปรับกระบวนการผลิต การตัดเย็บเสื้อผ้าแฟชั่น เสื้อผ้ากีฬา มาสู่การตัดเย็บหน้ากากผ้า โดยสามารถดำเนินการได้ทันที เนื่องจากประชาชนจำนวนมากเริ่มหันมาใช้หน้ากากผ้าทดแทนกับหน้ากากอนามัยที่ขาดแคลน ซึ่งสามารถดีไซน์ลวดลายตามเทรนด์แฟชั่นและพัฒนาขนาดให้สอดรับกับกลุ่มผู้ใหญ่และเด็ก สำหรับโครงสร้างสิ่งทอที่เหมาะสมกับการป้องกันไวรัสโควิด-19 อาทิ ผ้านิตเจอร์ซี่ (Jersey Knit) หรือ ผ้าสะท้อนน้ำ ซึ่งมีคุณสมบัติป้องกันสารคัดหลั่ง ไอ จาม หรือเสมหะ

2.ปรับสายการผลิตน้ำหอมสู่เจลล้างมือ จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด–19 ส่งผลให้ความต้องการกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ “เจลล้างมือ” พุ่งสูงขึ้น โดยกำลังการผลิตในประเทศไทยประมาณ 400,000 หลอดต่อเดือน (ข้อมูลจาก องค์การเภสัชกรรม) ซึ่งอาจไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด ดังนั้น กลุ่มธุรกิจความงามที่มีสายการผลิตน้ำหอม สามารถปรับกระบวนการผลิตจากน้ำหอมสู่การทำเจลล้างมือ เนื่องจากมีสายการผลิตที่สามารถดำเนินการได้ และขณะเดียวกันยังเป็นโอกาสอันดีสำหรับผู้ประกอบการในการขยายผลิตภัณฑ์ใหม่ๆสู่ตลาด แต่ในสถานการณ์ที่กำลังการผลิตแอลกอฮอล์ขาดแคลนและราคาพุ่งสูงขึ้นหลายเท่าตัว ผู้ประกอบการสามารถนำ “ไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์” หรือ “แอลกอฮอล์ล้างแผล” เป็นวัตถุดิบทดแทนการผลิตเจลล้างมือได้ เพราะมีประสิทธิภาพฆ่าเชื้อไวรัสได้ดีและยังมีราคาถูก

3.สร้างมูลค่าเพิ่มผลิตทิชชูเปียกผสมแอลกอฮอล์ ปัจจุบันมีผู้ประกอบการโรงงานกระดาษทิชชูเปียกที่ปราศจากแอลกอฮอล์มีอยู่เป็นจำนวนมากในประเทศไทย ดังนั้น ในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลให้ในท้องตลาดมีความต้องการผลิตภัณฑ์ที่จะลดความเสี่ยงของการติดเชื้อไวรัสดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น จึงถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่จะหันมาเร่งสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ด้วยการพัฒนา “ทิชชูเปียก” มาสู่ “ทิชชูผสมแอลกอฮอล์” ต่อยอดจากผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติยับยั้งแบคทีเรีย 99.9% มาสู่ผลิตภัณฑ์ที่ยับยั้งเชื้อไวรัส ซึ่งปัจจุบันทิชชูเปียกผสมแอลกอฮอล์เริ่มเป็นที่ต้องการของตลาดสูงขึ้น เนื่องจากมีความสะดวกต่อการใช้งาน

4.ต่อยอดผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดพื้น-สเปรย์ยับยั้งเชื้อไวรัส สำหรับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดพื้นหรือสเปรย์ในปัจจุบันอาจมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอสำหรับการยับยั้งไวรัส เพราะผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดทั่วไปมีคุณสมบัติทำความสะอาดคราบสกปรกและฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้เท่านั้น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ประเภทดังกล่าว ผู้ประกอบการสามารถต่อยอดองค์ความรู้ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยี พัฒนาผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดยับยั้งไวรัสหรือพัฒนาสเปรย์เพื่อเป็นอีกทางหนึ่งสำหรับการใช้งาน

5.เสริมสร้างโอกาสจากสมุนไพรไทย ประเทศไทยมีความโดดเด่นเรื่องพืชสมุนไพร ซึ่งเป็นพืชที่ไม่ใช่พืชเศรษฐกิจหลัก กลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการ สามารถนำองค์ความรู้ทางภูมิปัญญาไทยสู่การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายในเชิงพาณิชย์ เช่น ฟ้าทะลายโจร เป็นสมุนไพรที่กำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างไรก็ดี เพื่อผลักดันสมุนไพรไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ผู้ประกอบการควรเติมเต็มองค์ความรู้ การออกแบบผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีคุณภาพผ่านการรับรองมาตรฐานความปลอดภัย



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ