ไวรัสโควิดแพร่ระบาด สนพ. ปรับตัวเลขคาดการณ์การใช้พลังงานใหม่ลดลงทุกภาคเศรษฐกิจ

วันอาทิตย์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

ไวรัสโควิดแพร่ระบาด สนพ. ปรับตัวเลขคาดการณ์การใช้พลังงานใหม่ลดลงทุกภาคเศรษฐกิจ


 

 

สนพ. ปรับคาดการณ์การใช้พลังงานปี 63 ลดลงทุกภาคเศรษฐกิจ โดยการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายปรับตัวลดลง 6.0% ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงเนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจไทยหยุดชะงักอย่างกะทันหันในขั้นรุนแรง

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เปิดเผยถึงสถานการณ์พลังงานในไตรมาสแรกของปี 2563 ว่า การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ส่งผลกระทบต่อการพยากรณ์การใช้พลังงานปี 2563 ที่ สนพ. ได้แถลงข่าวไปช่วงต้นปี 2563 ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป สนพ. ได้มีการปรับคาดการณ์การใช้พลังงานขั้นสุดท้ายในปี 2563 โดยใช้สมมุติฐานว่า การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 มีการระบาดสูงสุดในไตรมาสที่ 2 เริ่มลดลงในช่วงไตรมาสที่ 3 และกลับเข้าสู่สภาวะปกติในไตรมาสที่ 4 ซึ่งการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้เศรษฐกิจไทยหยุดชะงักอย่างกะทันหัน ในขั้นรุนแรง โดยสามารถจำแนกผลกระทบตามภาคเศรษฐกิจได้ ดังนี้

1.ภาคขนส่ง (Transport) ได้รับผลกระทบจากมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) การทำงานที่บ้าน (Work from Home) และลดการเดินทางข้ามจังหวัด

2. ภาคอุตสาหกรรม ได้รับผลกระทบจากภาวะการระบาดในทั่วโลก ส่งผลต่อการส่งออกสินค้า และการชะงักงันจากระบบการผลิตของ Supply จากทั่วโลก โดยเฉพาะการผลิตจากประเทศจีน

3. ภาคครัวเรือน ทำให้เกิดจากการว่างงาน การขาดรายได้ และ Social Distancing

4. ภาคการพาณิชย์ (Commercial) ได้รับผลกระทบจากการปิดแหล่งชุมชนและการค้า เช่น ห้างสรรพสินค้า สถานบันเทิง กิจกรรมสันทนาการ และร้านอาหาร เป็นต้น

5. ภาคการท่องเที่ยว ได้รับผลกระทบจากการปิดโรงแรมและแหล่งท่องเที่ยว การกักตัว 14 วันสำหรับ ผู้เดินทางทั้งในและต่างประเทศ การจำกัดการเดินทาง และการเกิดการระบาดอย่างหนักทั้งในจีน เกาหลี รวมทั้งยุโรป สหรัฐอเมริกา และทวีปอเมริกา ตลอดจนประเทศต่างๆ ในอาเซียน และญี่ปุ่น ตลอดจนมาตรการป้องกันการระบาดในต่างประเทศ

ดังนั้น สนพ. คาดการณ์การใช้พลังงานขั้นสุดท้ายของปี 2563 ปรับตัวลดลง 6.0% โดยการใช้น้ำมันสำเร็จรูป ลดลง 6.3% คิดเป็น 134 ล้านลิตรต่อวัน โดยเป็นการลดลงในแต่ละภาคเศรษฐกิจ ดังนี้ ภาคขนส่ง การใช้น้ำมันเบนซิน อยู่ที่ 30.2 ล้านลิตรต่อวัน ลดลง 5.7% การใช้น้ำมันดีเซล อยู่ที่ 45.6 ล้านลิตรต่อวัน ลดลง 3.7% การใช้ LPG อยู่ที่ 883 พันตัน ลดลง 18.6% การใช้น้ำมันเครื่องบินปรับลดลงมากที่สุดถึง 12.7% หรือคิดเป็น 17.1 ล้านลิตรต่อวัน

ภาคอุตสาหกรรม เป็นภาคเศรษฐกิจที่มีการใช้พลังงานอย่างหลากหลายชนิด ผลกระทบจากการระบาด COVID-19 ส่งผลต่อการใช้พลังงานที่สำคัญๆ ของภาคเศรษฐกิจนี้ได้แก่ น้ำมัน (ดีเซล และ LPG) ไฟฟ้า และถ่านหิน โดยการใช้น้ำมันดีเซล ลดลง 2.4% คิดเป็น 10.0 ล้านลิตรต่อวัน การใช้ LPG ลดลง 5% การใช้ไฟฟ้าและการใช้ถ่านหิน ลดลง 5.0% และภาคอื่นๆ ได้แก่ ภาคครัวเรือน ภาคการพาณิชย์ และภาคเกษตรกรรม ในภาคเศรษฐกิจอื่นๆ นี้คาดว่า ผลกระทบหลักจะอยู่ที่ภาคการพาณิชย์และภาคครัวเรือน ซึ่งผลกระทบดังกล่าวมาจากรายได้ที่ลดลงจาก Social Distancing และการล็อคดาวน์ปิดเมือง ทั้งนี้พลังงานสำคัญที่ได้รับผลกระทบของภาคนี้ ได้แก่ น้ำมันดีเซล LPG และไฟฟ้า โดยการใช้น้ำมันดีเซล ลดลง 3.6% คิดเป็น 9.3 ล้านลิตรต่อวัน การใช้ LPG ลดลง 3.9% การใช้ไฟฟ้าลดลง 8.5%

นายวัฒนพงษ์ กล่าวว่า ภาพรวมของการใช้พลังงานขั้นต้นของประเทศ ลดลง 3.5% เป็นการลดลงของการใช้น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ สอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดการณ์ไว้เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 ว่าจะขยายตัวประมาณ 1.5-2.5% ชะลอตัวลงจากปีก่อน ตามข้อจำกัดที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ปัญหาภัยแล้ง และความล่าช้าของงบประมาณรายจ่ายรัฐบาล

สำหรับการใช้พลังงานขั้นสุดท้าย ลดลงร้อยละ 3.9% โดยเป็นการลดลงของการใช้น้ำมันสำเร็จรูปเกือบทุกประเภท โดยเฉพาะการใช้น้ำมันเครื่องบินลดลงถึงร้อยละ 16.2% จากผลกระทบของ COVID-19 ทำให้หลายๆ ประเทศจำเป็นต้องปิดประเทศ และหลายสายการบินประกาศหยุดให้บริการเส้นทางบินระหว่างประเทศ โดยในไตรมาสแรกของปี 2563 มีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเพียง 6.7 ล้านคน ลดลง 38.0%

ส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติลดลงในทุกสาขา โดยเฉพาะการใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ (NGV) มีการใช้ลดลงถึง 16.1% จากการที่ผู้ใช้รถยนต์ NGV บางส่วนเปลี่ยนกลับไปใช้น้ำมันเนื่องจากราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศปัจจุบันอยู่ในระดับที่ต่ำมาก นอกจากนี้การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้เกิดปัญหาด้านการขนส่งสินค้าและการนำเข้าวัตถุดิบหรือสินค้าทุนจากประเทศจีน ที่ปิดโรงงาน ส่งผลให้การผลิตชะลอตัว รวมถึงปัญหาการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าที่ประสบปัญหามีผู้ติดเชื้อ ส่งผลให้การใช้ไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าสูงสุด ถึง 45% มีการใช้ไฟฟ้าลดลง 1.4%

ทางด้านภาคธุรกิจการใช้ไฟฟ้าลดลง 0.1% โดยกลุ่มธุรกิจหลักได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ได้แก่ ห้างสรรพสินค้าจากการประกาศปิดให้บริการของห้างสรรพสินค้าโดยเปิดได้เฉพาะส่วนขอซุปเปอร์มาเก็ตและร้านอาหารกรณีซื้อกลับบ้าน และโรงแรมจากการชะลอตัวลงของนักท่องเที่ยว แต่ในทางตรงกันข้ามการใช้ในภาคครัวเรือนที่ปรับตัวสูงขึ้นถึง 6.0% เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาส่งผลให้มีความต้องการใช้ไฟฟ้าในการทำความเย็นเพิ่มขึ้น ประกอบกับมาตรการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” เพื่อลดปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2563 ส่งผลให้ภาพรวมการใช้ไฟฟ้าในไตรมาสแรกของปี 2563 เพิ่มขึ้น 1.0%

“สนพ. ยังคงจับตาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 และปัจจัยอื่นๆ ที่จะส่งผลต่อการใช้พลังงานของประเทศอย่างใกล้ชิด อาทิ ราคาน้ำมันดิบตลาดโลก ราคาก๊าซธรรมชาติ มาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 และมาตรการในการป้องกัน COVID-19 ทั้งในและต่างประเทศ” นายวัฒนพงษ์ กล่าวปิดท้าย

 



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ