ยืดอายุ “พ.ร.ก.(โควิด)ฉุกเฉิน” “ตอบโจทย์” หรือ “เพิ่มปัญหา” ให้รัฐบาล

วันอังคารที่ 02 มิถุนายน พ.ศ. 2563

ยืดอายุ “พ.ร.ก.(โควิด)ฉุกเฉิน”  “ตอบโจทย์” หรือ “เพิ่มปัญหา” ให้รัฐบาล


 

ระหว่างวันที่ 27 พ.ค.ถึง 31 พ.ค.2563 ได้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เพื่อแก้ไขวิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด 3ฉบับ ประกอบด้วย 1.พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563

2.พ.ร.ก.ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 และ 3.พ.ร.ก.รักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ.2563 และ 4.พ.ร.ก.ว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2563

การประชุมสภาฯครั้งนี้มีบุคคลที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง อาทิ นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประธานคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการ ตาม พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อแก้ปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ฯลฯ พรรคร่วมรัฐบาล 20 พรรค รวมพรรคเศรษฐกิจใหม่ รัฐมนตรี จำนวน ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลล่าสุด 276 คน ขณะที่ ส.ส.พรรคฝ่ายค้านมี 211 คน รวม 487 คน ที่หายไป 13 คน คือ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ที่ถูกตัดสิทธิเลือกตั้ง 11 คน และนายอิทธิรัตน์ จันทรสุรินทร์ อดีต ส.ส.ลำปาง พรรคเพื่อไทย ที่เสียชีวิต และนายกรุงศรีวิไล สุทินเผือน ส.ส.สมุทรปราการ พรรคพลังประชารัฐ ที่หยุดปฏิบัติหน้าที่

นับเป็นการประชุมครั้งสำคัญของฝ่ายนิติบัญญัติ เพราะเกี่ยวข้องกับวงเงินจำนวนมาก และเกี่ยวข้องกับปัญหาโรคระบาดที่ประชาชนรับผลกระทบมากที่สุด และได้มีการโหวตทั้ง 4 ฉบับ ในวันสุดท้าย คือวันที่ 31 พ.ค. ตามลำดับซึ่งไม่มีปัญหาเพราะเสียงของรัฐบาล มีมากกว่าฝ่ายค้านถึงกว่า 60 เสียง

               ห้วงเวลาตั้งแต่วันที่ 27-31 พฤษภาคม ทำให้เสียงจาก “ฝ่ายการเมือง” เริ่มกลับมากระหึ่มอีกครั้ง หลังจากที่รัฐบาลใช้เวลาหลังประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตั้งแต่โควิด-19ระบาด แต่สถานการณ์เมื่อขณะที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กับสถานการณ์ในขณะนี้ แตกต่างกัน ยิ่งสถานการณ์ในช่วงรัฐสภาเปิดสมัยประชุมยิ่งแตกต่างจากวันที่ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

กระนั้นก็ตาม พลันที่มติที่ประชุม ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เห็นชอบให้ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกไปอีก 1 เดือน ให้สิ้นสุด 30 มิ.ย.63 ตามที่ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) มีมติต่ออายุการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกไปอีก 1 เดือนก็มีเสียงท้วงติงตามมาว่าการต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นไปเพื่อความมั่นคงของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม

ไม่ว่าจะเป็นจากฝ่ายการเมืองอย่างพรรคเพื่อไทย ที่มองว่าล่าวถึงแนวทางการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ของรัฐบาล ว่า รัฐบาลกำลังหลงทาง หลายเรื่องไม่ควรทำ กลับทำ แต่ละทิ้งในสิ่งที่ควรทำ แต่การยืดอายุพ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นการปกปิดการบริหารงานที่ล้มเหลว เพียงเพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯกระชับอำนาจ เป็นรัฐบาลพรรคร่วมมากที่สุด แต่กลับไร้เสถียรภาพมากที่สุด  

นอกจากนี้พรรคเพื่อไทยยังมองว่า วิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบหนักทางเศรษฐกิจ ยิ่งกว่าวิกฤติต้มยำกุ้งกว่า 10 เท่า รัฐต้องเผชิญมรสุมอย่างน้อย 3 ลูก คือ โควิด-19 ฟื้นฟูเยียวยาเศรษฐกิจ และวิกฤติการเมืองทั้งในพรรคและนอกพรรค รัฐต้องสร้างสมดุลระหว่างสุขภาพ เสรีภาพ และเศรษฐกิจ ให้เกิดขึ้นให้ได้ ไม่ใช่เอาทุกปัญหาไปกลบไว้ใต้โควิด

ทั้งนี้ โควิด-19 ไม่ได้ควบคุมได้จากพ.ร.ก.ฉุกเฉิน และเคอร์ฟิว แต่ควบคุมจากความร่วมมือของพี่น้องประชาชนถ้ารัฐบาลยังคงกระชับและใช้อำนาจอย่างฟุ่มเฟือยไม่มีที่สิ้นสุด อาจเกิดปฏิกิริยาสะท้อนกลับที่รัฐบาลไม่อาจรับมือได้

หรือมุมมองของฝ่ายแพทย์ อย่าง นพ.เรวัต วิศรุตเวช อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า รัฐบาลใช้หมอเป็นเครื่องมือ ใช้โควิดเป็นข้ออ้าง ให้ยาไม่ตรงกับโรค การจับกุมคุณหมอทศพร เสรีรักษ์ และเพนกวิน นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ กับอีกหลายคนที่ทำกิจกรรมครบรอบ 6 ปี รัฐประหาร ของ คสช. เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม เป็นการยืนยันอีกครั้งว่ารัฐบาลใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อสกัดม็อบเพราะกระบอกเสียง อย่าง ศบค. ที่แถลงทุกวัน ไม่เคยชี้แจงหรืออธิบาย ถึงความสัมพันธ์ระหว่าง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ว่ามีผลอย่างไรกับการสกัดการระบาดของโรคอย่างเป็นวิชาการ

นอกจากนั้นยังเห็นได้ชัดเจนว่า รัฐบาลไม่ใส่ใจที่จะวิเคราะห์ข้อมูลว่าผู้ฝ่าฝืนเคอร์ฟิว หลายหมื่นคนนั้นมีผู้ป่วยด้วยโรคโควิดแล้วนำส่งโรงพยาบาล เพื่อการรักษาและไม่แพร่เชื้อต่อ จำนวนทั้งหมดกี่ราย ซึ่งควรแถลงให้ประชาชนทราบและเชื่อว่าเคอร์ฟิวจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นั้นช่วยสกัดโควิดได้จริงๆ

“..วันนี้ชัดเจนแล้ว ว่าหมอถูกใช้เป็นเครื่องมือให้อ้างโควิดเพื่อยืดอายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไปอีก 1 เดือน ทั้งที่หมอเองก็รู้แก่ใจว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่ได้ช่วยสกัดโควิด แต่ช่วยสกัดม็อบ หมอยอมขายกันจนหมดตัว ทั้งวิชาความรู้ และจรรยาบรรณโดยให้ยาไม่ตรงกับโรค ใช้ยาชื่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อรักษาอำนาจ แต่ไม่รักษาโรคโควิด..”

ขณะที่ภาคประชาสังคมอย่าง กลุ่มเครือข่ายประชาชน 5 ภูมิภาค ก็ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เลิกต่ออายุพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เนื่องจากสถิติของผู้ติดเชื้อได้ลดลงตามลำดับ จนแทบไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ แสดงให้เห็นว่าการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด- 19 นั้นไม่ได้อยู่ในสภาวะฉุกเฉินในระดับที่จะไม่สามารถควบคุมโรคได้อีก ที่สำคัญรัฐบาลสามารถบังคับใช้กฎหมายปรกติที่มีอยู่ หากขยายเวลาใช้ พ.ร.ก ฉุกเฉินออกไปอีก จะเกิดผลกระทบกับการดำรงชีวิตของประชาชน และเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนจำนวนมากเกินความจำเป็น

น่าสังเกตว่าการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และการประกาศเคอร์ฟิว ในระยะหลังมีเสียงคัดค้านมากขึ้น ทั้งจากนักธุรกิจใหญ่อย่าง “บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา” ประธานเครือสหพัฒน์ ให้ความเห็นว่า ยิ่งเลิกใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ได้เร็วเท่าไหร่ยิ่งดี   เพราะหาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินยังอยู่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจก็จะกลับมาได้ช้า แต่หากเลิกใช้แล้ว เศรษฐกิจจะมีการขับเคลื่อนและฟื้นกลับมาได้เร็ว แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับการควบคุมไวรัส และการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันไวรัสอย่างเข้มข้น

ประเด็นเรื่องการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในรอบนี้ จึงกลายเป็นเรื่องที่ต้องตอบฝ่ายการเมืองและฝ่ายธุรกิจให้ได้ ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังมี “การบ้าน” ที่ต้องคลี่คลาย ทั้งในเรื่อง “สุขภาพ” และเรื่อง “เศรษฐกิจ” ซึ่งพร้อมจะจุดปะทุกลายเป็นประเด็นทางการเมืองได้ตลอดเวลา

ปัญหามีอยู่ว่า การยืดใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในช่วงเวลานี้ เป็นการ “ตอบโจทย์” ให้รัฐบาล หรือจะเป็นการ “เพิ่มโจทย์” ให้รัฐบาลกันแน่..!?!

           

 

           

 



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ