“สองล้อ” จับมือ “กกท.-ม.เชียงใหม่”ใช้วิทยาศาสตร์การกีฬามาพัฒนานักปั่น

วันพฤหัสบดีที่ 09 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

“สองล้อ” จับมือ “กกท.-ม.เชียงใหม่”ใช้วิทยาศาสตร์การกีฬามาพัฒนานักปั่น


               สมาคมกีฬาจักรยานฯ จับมือกับ การกีฬาแห่งประเทศไทย และ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขยายกรอบการนำเอาวิทยาศาสตร์การกีฬา พร้อมองค์ความรู้สหวิทยาการด้านต่าง ๆ มาพัฒนานักปั่นทีมชาติไทย ตามนโนบายของ “พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลด้านกีฬา และประธานโอลิมปิคไทยฯ หลังจากกีฬาสองล้อประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เอเชี่ยนเกมส์ที่อินโดนีเซีย มาถึงซีเกมส์ที่ฟิลิปปินส์ โดยเริ่มจาก “บีซ” จุฑาธิป มณีพันธุ์ นักปั่นชุดโอลิมปิกเกมส์ 2020 พร้อมกับทีมอาชีพหญิง “ไทยแลนด์ วีเมนส์ ไซคลิง ทีม” ที่จะเก็บตัวฝึกซ้อมเป็นชุดแรกในเดือนกรกฎาคมนี้ ที่จังหวัดเชียงใหม่

               “เสธ.หมึก” พลเอกเดชา เหมกระศรี นายกสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า สมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ มีแผนเดินหน้าขยายกรอบการนำเอาวิทยาศาสตร์การกีฬา เข้ามาประยุกต์ใช้ในการพัฒนานักกีฬาจักรยานทีมชาติไทย ตามนโยบายของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลด้านกีฬา และประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ หลังจากที่กีฬาจักรยานประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 18 ที่ประเทศอินโดนีเซีย ต่อเนื่องมาจนถึงการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 30 ที่ประเทศฟิลิปปินส์

               พลเอกเดชา กล่าวว่า จากการหารือร่วมกันระหว่างฝ่ายเทคนิคสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ กับ คณะผู้เชี่ยวชาญจากคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประกอบด้วย รศ.สมรรถชัย จำนงค์กิจ, ผศ.ดร.ภัทรพร สิทธิเลิศไพศาล และ น.ส.บุษบา ฉั่วตระกูล ร่วมด้วย ผู้แทนการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ประกอบด้วย นายสุรศักดิ์ เกิดจันทึก ผู้อำนวยการฝ่ายวิทยาศาสตร์การกีฬา และ นายสุวิทย์ เกิดบำรุง ผู้อำนวยการกองกีฬาเวชศาสตร์ ได้ข้อสรุปว่า คณะทำงานด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา จะนำเอาองค์ความรู้สหวิทยาการด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาศักยภาพนักกีฬามาใช้กับนักปั่นทีมชาติไทย โดยจะเริ่มจากนักปั่นไทยชุดโอลิมปิกเกมส์ 2020 ได้แก่ “บีซ” ร้อยเอกหญิง จุฑาธิป มณีพันธุ์ และคู่ซ้อม “แพร” สิบตรีหญิง เพชรดารินทร์ สมราช สมทบด้วยทีมอาชีพหญิง “ไทยแลนด์ วีเมนส์ ไซคลิง ทีม” ที่จะเริ่มเก็บตัวฝึกซ้อมเป็นชุดแรกในเดือนกรกฎาคม 2563 ที่จังหวัดเชียงใหม่

               “สำหรับแนวทางการทำงานก็จะขยายกรอบจากกายภาพบำบัด หรือรักษาอาการบาดเจ็บซึ่งเป็นการปฎิบัติโดยปกติ แต่การทำงานร่วมกันก็จะใช้การวิเคราะห์สมรรถภาพทางกายของนักกีฬา ตั้งแต่เริ่มต้น พัฒนาการ ตลอดจนการแก้ไขข้อบกพร่องแบบเฉพาะเจาะจง นอกจากนี้ ก็ยังจะขยายกรอบไปถึงการคัดเลือก หรือ Identify นักกีฬาจักรยานไทย ตั้งแต่ระดับยุวชนและเยาวชนจากศูนย์ฝึกจักรยานภูมิภาคขึ้ นสู่ระดับสู่ความเป็นเลิศ เพื่อพัฒนานักกีฬาแต่ละคน แต่ละแบบการแข่งขันให้เหมาะสมกับสมรรถนะทางกายของนักกีฬาแต่ละคนอย่างถูกทาง” พลเอกเดชา กล่าว

               นายกสองล้อไทย กล่าวอีกว่า คณะนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญของคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะเตรียมในเรื่องการตรวจร่างกาย วิเคราะห์กายวิภาคของนักกีฬาไทย รวมถึงติดตามแก้ไขอาการบาดเจ็บระหว่างการฝึกซ้อมอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน ก็ยังจะคัดเลือกหัวข้อการวิจัยของนักวิชาการในสังกัด หากมีหัวข้อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับกีฬาจักรยาน ก็จะดำเนินการวิจัยร่วมกัน โดยใช้นักกีฬาและผู้ฝึกสอนทีมชาติไทยในการสนับสนุนข้อมูล ตลอดจนแนวทางการวิจัยเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จร่วมกัน เช่นเดียวกันกับฝ่ายวิทยาศาสตร์การกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย ก็จะเข้าร่วมโครงการทั้งในแนวทางการสนับสนุนอุปกรณ์และบุคลากรเพิ่มเติม

               “การสนับสนุนด้านวิชาการของคณะทำงานจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไม่เพียงแต่จะเน้นในด้านการพัฒนาศักยภาพนักกีฬาไทยด้วยการฝึกซ้อมเท่านั้น แต่ก็จะมีการนำองค์ความรู้จากภาควิชาหรือสาขาอื่นที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น โภชนาการ จิตวิทยา เข้ามาใช้อย่างเต็มรูปแบบ นอกจากนี้ ก็ยังจะใช้ระบบชีวกลศาสตร์ ผสมผสานกับการปรับรถจักรยานของนักกีฬาแต่ละคนให้ได้ประสิทธิภาพและเป็นไปตามหลักกายวิภาค ซึ่งไม่เพียงจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพระหว่างการฝึกซ้อมและแข่งขันเท่านั้น แต่ยังจะช่วยลดอาการบาดเจ็บของนักกีฬาได้อีกทางหนึ่งด้วย” พลเอกเดชา กล่าวตอนท้าย.



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ