"DigiLink Thailand" เผยกลยุทธ์เจาะนักท่องเที่ยวจีนจาก 14 กูรูไทย-เทศ ถ่ายทอดสู่ผู้ชมกว่า 1 หมื่นชีวิตทั้งในไทยและจีน

วันจันทร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2563



เปิดเวทีเสวนาออนไลน์ “The Rising of Chinese Tourist Forum” ในหัวข้อ The Rebound of Chinese Travelers, The Reborn of Thai Economy ภายใต้ความร่วมมือของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.),สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)(ทีเส็บ),ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ,บริษัท เอวี โปรเจคท์ จำกัด,บริษัท ดิจิลิ้งก์  (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ฟูลริช พับบลิค จำกัด ผ่านพ้นไปแล้วโดยมีผู้ประกอบการธุรกิจด้านท่องเที่ยว โรงแรม ค้าปลีก สินค้าและบริการเข้าร่วมรับฟังกว่า 1 หมื่นราย

โดยนายพิพัฒน์  รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานพร้อมกล่าวถึงนโยบายของภาครัฐในการคลายล็อกเฟส 6 ว่า มาตรการคลายล็อกเฟส 6 ของรัฐเปิดให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาเมืองไทยได้ใน 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มที่เข้ามาจัดแสดงสินค้า ประชุม นิทรรศการ หรืออุตสาหกรรมไมซ์ในไทย 2.กลุ่มที่เดินทางเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ 3.กลุ่มที่เดินทางเข้ามารักษาพยาบาลหรือเมดิคัล เวลเนส และ 4.กลุ่มไทยแลนด์ อีลิทการ์ด ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกราว 10,000 คน แบ่งเป็นคนไทย 3,000 คน และต่างชาติ 7,000 คน โดยชาวต่างชาติทุกกลุ่มที่จะเดินทางเข้ามาประเทศไทยจะต้องปฏิบัติตามมาตรการของภาครัฐ อาทิ การกักตัว 14 วัน ,การท่องเที่ยวตามเส้นทางที่กำหนด เป็นต้น

“ในปี 2562 นักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยราว 11 ล้านคนหรือคิดเป็นร้อยละ 27 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยถือเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญต่อการท่องเที่ยวของประเทศไทยซึ่งภาครัฐเองให้ความสำคัญและพร้อมสนับสนุนและส่งเสริมให้เดินทางกลับเข้ามาท่องเที่ยวในเมืองไทยซึ่งวันนี้นักท่องเที่ยวชาวจีนมั่นใจด้านความปลอดภัยได้เพราะไทยมีมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย Amazing Thailand Safety & Healthy Administration (SHA)ที่มีการตรวจสอบอย่างเข้มข้นทั้งในสินค้าและบริการต่างๆ”

นายสันติ  แสวงเจริญ  รองผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวภายใต้หัวข้อ What : อะไรคือโอกาสที่กำลังกลับมาพร้อมนักท่องเที่ยวชาวจีนและอะไรคือมาตรการรับมือการท่องเที่ยวยุค New Normal ในประเทศไทยว่าวันนี้ททท.มีสำนักงานอยู่ในจีนรวม 5 แห่งมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนโดยทั้ง 5 แห่ง ได้แก่ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้  กวางโจว  เฉินตู  และคุณหมิง ครอบคลุมทุกภาคของประเทศจีน

อย่างไรก็ดีพฤติกรรมนักท่องเที่ยวชาวจีนหลังเกิดวิกฤติโควิด-19 หรือวิถี New Normal พบว่า 1.การใช้ชีวิตการท่องเที่ยวทุกอย่างจะไม่เหมือนเดิม 2.กลุ่มผู้สูงวัยและเด็กจะลดการท่องเที่ยวลงเพราะมีความเสี่ยงในการติดเชื้อสูง 3.รูปแบบการท่องเที่ยวจะถูกควบคุมทุกอย่าง 4.รูปแบบการท่องเที่ยวจะเปลี่ยนไป กลุ่มเล็กลงจากเดิมที่เป็นกลุ่มทัวร์จะเปลี่ยนเป็นกลุ่ม FIT  (Free Independent Traveler) ระยะเวลาในการเดินทางจะเน้นระยะสั้นและเลือกท่องเที่ยวในรูปแบบของเฮลท์ ทัวริสต์ซึม เป็นต้น

ขณะที่แผนการดำเนินงานของททท.จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ 1.Rebrand สร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยวกลับมาได้อย่างสบายใจการสร้างให้เป็น Top of Mind ขณะที่ประเทศญี่ปุ่นก็ส่งเสริมและกระตุ้นด้านการท่องเที่ยวมาอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกับเกาหลีและเวียดนามที่หันมาจับกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนมากขึ้นด้วย 2.Rebound เน้นการทำกิจกรรมต่างๆในกลุ่ม Millennial ที่มีอายุ 24-39 ปี ทั้งกลุ่มคนทำงานผู้หญิง ครอบครัวรุ่นใหม่ กลุ่มแต่งงานใหม่ มีการกำลังซื้อแข็งแรง ซึ่งมีจำนวนราว 400 ล้านคน อีกกลุ่มได้แก่ กลุ่มนิชหรือกลุ่มเฉพาะได้แก่ 1.กลุ่ม เฮลท์ แอนด์ เวลเนส ที่เดินทางเข้ามาใช้บริการทางการแพทย์และดูแลสุขภาพ อาทิ โรงพยาบาล ,สปา ฯลฯ 2.กลุ่มสปอร์ต ทัวริสซึม เช่น กอล์ฟ มาราธอน มวยไทย 3.กลุ่มลักชัวรี ปัจจุบันชาวจีนมีเศรษฐีใหม่เกิดขึ้นจำนวนมากและเป็นกลุ่มที่เดินทางท่องเที่ยวไปทั่วโลกและ 4.กลุ่มโรแมนซ์ชาวจีนที่เดินทางมาท่องเที่ยวพร้อมฮันนีมูน,พรีเวดดิ้ง ฯลฯ

ทั้งนี้ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในการรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนไม่ว่าจะเป็นการจัดทำโมบาย แอพพลิเคชั่น,เว็บไซต์ เป็นภาษาจีน,การประชาสัมพันธ์ผ่านโซเชียลมีเดีย อาทิ Wechat,Weibo,TikTok ฯลฯ การทำ KOL Influence จีน,การใช้ Mobile Payment,การสื่อสารภาษาจีนและการพัฒนาสินค้าใหม่เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวชาวจีน เป็นต้น 

ขณะที่นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงาน ส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (ทีเส็บ)  กล่าวในหัวข้อ What : อะไร...คือแนวทางในการปรับตัวของ MICE Tourism และแนวโน้มของอุตสาหกรรมไมซ์ที่น่าจับตามองหลังวิกฤติการณ์โควิด-19 ว่าอุตสาหกรรมไมซ์ จะเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนให้ธุรกิจท่องเที่ยวกลับมาหลังวิกฤติโควิด-19 คลี่คลาย โดยเฉพาะหลังจากที่ภาครัฐผ่อนปรนเฟส 6 ให้การจัดประชุม งานแสดงสินค้า อีเว้นท์กลับมาจัดได้อีกครั้ง

โดยที่ผ่านมากลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวทั้งในรูปแบบการประชุม (Meeting), การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล (Incentive Travel),การประชุมนานาชาติ (Convention),การแสดงสินค้า/นิทรรศการ (Exhibition),เทศกาลนานาชาติหรือเฟสติวัล (Mega Events and World Festivals)

 “ประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกๆ ที่มีการจัดอีเว้นท์ เช่น งานมอเตอร์โชว์ ในรูปแบบ New Normal  นอกจากนี้ยังมีคอนเสิร์ตซึ่งอนาคตหลังผ่อนปรนเฟส 6 และเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาได้ กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนจะเป็นกลุ่มแรกที่เข้ามาทั้งการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การผจญภัย การท่องเที่ยวอินเซนทีฟหรือการจัดคอนเสิร์ตซึ่งที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามาจัดคอนเสิร์ต EDM จำนวนกว่า 20,000 คนมาแล้ว โดยการจัดงานไมซ์นอกจากจะสร้างเม็ดเงินให้กับประเทศแล้วยังช่วยกระจายรายได้สู่ชุมชนด้วย”

นอกจากนี้ทีเส็บยังสนับสนุนให้นำนวัตกรรมเข้ามาใช้ในการอุตสาหกรรมไมซ์ไม่ว่าจะเป็นการประชุมสัมมนาเสมือนจริงผ่านระบบออนไลน์ (WEBINAR), การจัดแสดงสินค้าผ่านระบบออนไลน์ (ONLINE TO OFFLINE : O2O) และการสนับสนุนคอร์สฝึกอปรมออนไลน์ E-LEARNING ด้วย

ด้านนางสาวพรรณอวิกา ลิมปะพันธุ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดิจิลิ้งก์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวในหัวข้อ Who: เจาะลึกพฤติกรรมหลากหลายของนักท่องเที่ยวชาวจีนว่าจากข้อมูลของหม่า เฟิง หว่อ พบว่า กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางมาท่องเที่ยวในเมืองไทยเป็นกลุ่มทัวร์คิดเป็นสัดส่วน 30% ส่วนอีก 70% เป็นกลุ่ม FIT ซึ่งเป็นกลุ่มที่ความหยืดหยุ่นสูงและเป็นกลุ่มอันดับต้นๆที่จะเดินทางกลับเข้ามาท่องเที่ยวในเมืองไทยหลังสถานการณ์โควิด-19คลี่คลายและประเทศไทยเปิดให้เดินทางท่องเที่ยวได้

ขณะที่พฤติกรรมนักท่องเที่ยวชาวจีนจะเปลี่ยนโดยกลุ่ม FIT จะเป็นกลุ่มเล็กจึงต้องมีการแยกเซกเม้นท์ที่ชัดเจนได้แก่ 1.กลุ่ม Super Luxury เดิมมีสัดส่วน 30% ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเท่าตัวเป็นกลุ่มที่มีอัตลักษณ์มีความเป็นมินิมอลจึงต้องการความพิเศษที่แตกต่างเฉพาะบุคคลการสร้างความประทับใจจะทำให้พิชิตใจได้ 2. กลุ่ม Adventurers เป็นกลุ่มที่นิยมท่องเที่ยวในรูปแบบ Road Trip ,one day trip ,Self – driving จึงนิยมท่องเที่ยวที่แตกต่างมีความท้าทาย 3.กลุ่ม Value Seeker การท่องเที่ยวแบบ Culture,Arts หรือเฉพาะกลุ่มเช่น ครอบครัว ฯลฯ และ 4.กลุ่ม Revitalizer กลุ่มที่มาเที่ยวเพื่อบำบัดตัวเองเน้นพักผ่อนระยะยาว อาทิ กลุ่มเบบี้บูมเมอร์,กลุ่ม Medical travelers ,Medi-spa เป็นต้น

นายภากร  กัทชลี เจ้าของเพจ อ้ายจงกล่าวในหัวข้อ “Why : เจาะใจนักท่องเที่ยวจีนอะไรที่ทำให้ประเทศไทยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันดับหนึ่งในใจคนจีน”ว่าจากจุดเริ่มต้นที่นักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยในรูปแบบทัวร์ศูนย์เหรียญแต่หลังจากที่มีการส่งออกละครไทยซีรี่ย์ไทยชาวจีนจึงนิยมเดินทางมาท่องเที่ยวเมืองไทยมากขึ้นอีกทั้งการบอกต่อแบบปากต่อปากทำให้ประเทศไทยเป็นเดสติเนชั่นที่นักท่องเที่ยวชาวจีนนิยมเดินทางมาต่อเนื่อง

โดยปัจจัยที่ทำให้นักท่องเที่ยวชาวจีนนิยมมาเมืองไทยนอกจากความสัมพันธ์ที่ดีในฐานะไทย-จีนพี่น้องกันแล้วอัธยาศัยที่ดี อาหารที่อร่อย สินค้าที่มีคุณภาพ มีความสวยงาม ความสะดวก ความคุ้มค่ากับราคา และผลที่ได้รับที่เหนือความคาดหมายทำให้นักท่องเที่ยวชาวจีนนิยมและชื่นชอบประเทศไทยและไทยจะเป็นตัวเลือกอันดับ 1 เมื่อชาวจีนต้องการเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศ

อย่างไรก็ดีการประชาสัมพันธ์ให้ข่าวสารข้อมูลต่างๆโดยเฉพาะผ่านทางโซเชียลมีเดียถือว่ามีความสำคัญเพราะชาวจีนเองเข้าถึงโซเชียลมีเดียในทุกรูปแบบ



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ