“ฐานสมรรถนะ” และ “ความฉลาดรู้” คำสำคัญที่ควรตระหนัก การดำเนินงานของ สสวท. เพื่อ “ยกระดับการศึกษาไทย” ให้ก้าวทันสู่ศตวรรษที่ 21

วันอังคารที่ 04 สิงหาคม พ.ศ. 2563

“ฐานสมรรถนะ” และ “ความฉลาดรู้” คำสำคัญที่ควรตระหนัก การดำเนินงานของ สสวท. เพื่อ “ยกระดับการศึกษาไทย” ให้ก้าวทันสู่ศตวรรษที่ 21


การประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (Programme for International Student Assessment หรือ PISA) มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินคุณภาพของระบบการศึกษาของประเทศต่าง ๆ ในการ เตรียมความพร้อมให้เยาวชนมีศักยภาพ หรือความสามารถพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในโลกที่มีความเปลี่ยนแปลง โดย PISA เน้นการประเมินสมรรถนะของนักเรียนเกี่ยวกับการใช้ความรู้ และทักษะในชีวิตจริงมากกว่าการเรียนรู้ตามหลักสูตรในโรงเรียน ซึ่งได้ประเมินความฉลาดรู้ 3 ด้าน ได้แก่ ความฉลาดรู้ด้านการอ่าน (Reading Literacy) ความฉลาดรู้ด้านคณิตศาสตร์ (Mathematical Literacy) และความฉลาดรู้ด้านวิทยาศาสตร์ (Scientific Literacy)

ผลการประเมิน PISA ได้สะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพของนักเรียนไทยเมื่อเทียบกับการจัดการศึกษาของประเทศอื่น ๆ  ซึ่งสิ่งที่เห็นชัดเจน คือ การเรียนรู้แบบท่องจำมากกว่าเรียนรู้เพื่อให้เกิดการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์  สร้างองค์ความรู้ให้เกิดขึ้นได้ด้วยตนเอง จากปัญหาที่เกิดขึ้นในการศึกษาไทย และกระแสการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 ทำให้  “หลักสูตรฐานสมรรถนะ” ได้ถูกกำหนดไว้ในแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิรูปหลักสูตร และ    การจัดการเรียนการสอนให้ตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 โดยมีเป้าหมายให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะหลักที่จำเป็นสำหรับการทำงาน การแก้ปัญหา และการดำรงชีวิต ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการกำลังดำเนินการเพื่อให้เกิดปฏิรูปการศึกษาเพื่อสอดรับกับแผนดังกล่าว 

ศาสตราจารย์ ดร. ชูกิจ  ลิมปิจำนงค์  ผู้อำนวยการ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)  กล่าวว่า “การเรียนรู้จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนจากเดิมเคยที่เน้นเนื้อหาวิชา (Content Based Learning)  ไปเป็นการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ (Competency Based Learning) และเนื่องด้วยความฉลาดรู้เป็นสิ่งที่จำเป็นที่พลเมืองโลกและพลเมืองไทยควรมีไว้เป็นทักษะพื้นฐานในสังคมยุคดิจิทัลเพื่อรองรับศตวรรษที่ 21 สสวท. ได้ตระหนักถึงสภาพปัญหาการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น  จึงได้ดำเนินโครงการ “พัฒนาและส่งเสริมการใช้ข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยเชิงสมรรถนะที่วัดความฉลาดรู้ด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (Science and Mathematical Literacy)” ร่วมกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ปรับเปลี่ยนรูปแบบข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้เน้นการวัดสมรรถนะ โดยปีหน้าจะดำเนินงานต่อเพื่อสอดรับกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ”

การดำเนินงานดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการจัดการเรียนรู้ที่พัฒนาความฉลาดรู้ ด้านวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ในโรงเรียน  ให้นักเรียนมีความสามารถในการเชื่อมโยงความรู้ และแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์  เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ หรือปัญหา หาคำตอบ แสดงเหตุผล หรือหาข้อสรุปได้อย่างมีวิจารณญาณ  รวมถึงมีการสื่อสารอย่างเหมาะสม เพื่อเตรียมกำลังคนสู่ศตวรรษที่ 21 

ทั้งนี้ สสวท. ได้นำร่องโครงการตั้งแต่ปี 2562 เริ่มจากการพัฒนาข้อสอบที่เน้นการประเมินความ  ฉลาดรู้ทางวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ 7 ฉบับ สำหรับใช้คัดเลือกนักเรียนที่มีความประสงค์รับทุนการศึกษาโครงการพัฒนา และส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ระดับอุดมศึกษา ในปีการศึกษา 2563 และ สสวท. ได้พัฒนากรอบ และข้อสอบวัดความฉลาดรู้ด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โครงการ พสวท. ที่มีความประสงค์จะเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา 4 ฉบับ รวมทั้งกรอบ และข้อสอบวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์สำหรับคัดเลือกนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา ร่วมกับที่ประชุมอธิการบดีแห่ง ทปอ. 4  ฉบับ ส่วนในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564  สสวท. จะดำเนินงานต่อเนื่องอย่างเข้มข้น เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ที่เน้นความฉลาดรู้และส่งเสริมให้มีการประเมินผลการเรียนรู้ในโรงเรียนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ในขณะเดียวกัน สสวท. ยังได้ดำเนินโครงการ “เพิ่มศักยภาพครูให้มีสมรรถนะของครูยุคใหม่สำหรับการเรียนรู้ศตวรรษที่ 21” โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่งทั่วประเทศพัฒนาครูในโรงเรียนทุกสังกัด 2,200 แห่ง เพื่อการเพิ่มศักยภาพครูให้มีสมรรถนะของครูยุคใหม่สำหรับการเรียนรู้ศตวรรษที่ 21 เป็นการสนับสนุนให้มีการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะที่ส่งเสริมความฉลาดรู้ในโรงเรียนอย่างแพร่หลายยิ่งขึ้น

“การดำเนินงานดังกล่าวจะส่งผลให้ครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี มีความพร้อมต่อการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ผ่านเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏ และหน่วยงานการศึกษาอื่นๆ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา และการเรียนรู้ของโรงเรียนทั่วประเทศ  นอกจากนั้นยังเป็นการเตรียมความพร้อมนักเรียนให้มีประสบการณ์ และทักษะสำคัญที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต พร้อมเข้าร่วมโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ (PISA) รวมทั้งสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของ การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีต่อการดำเนินชีวิตในศตวรรษที่ 21”  ผู้อำนวยการ สสวท. กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ การสร้าง “เด็กฉลาดรู้ ครูคุณภาพสูง ยกระดับการศึกษาชาติไทย แข่งขันได้ด้วย ฐานสมรรถนะ” ยังคงเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญที่ สสวท. ยังคงมุ่งมั่นดำเนินงานภายใต้การเรียนรู้ในยุคความ   ปกติใหม่ หรือ นิวนอร์มัล (New Normal)  อันสอดคล้องกับแผนปฏิรูปการศึกษา และนโยบายรัฐ

 



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ