ผุดสินเชื่อฟื้นฟูหลังโควิด "ธ.ก.ส." อัด 1.7 แสนล. อุ้ม ‘นิวเจน’ ฮักบ้านเกิด

วันจันทร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2563

ผุดสินเชื่อฟื้นฟูหลังโควิด


เกษตรกรรุ่นเก่า รุ่นใหม่ เฮรับแพกเกจใหญ่ ธ.ก.ส. ปล่อยสินเชื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฟื้นฟูหลังโควิด-19 คลี่คลาย อัด 1.7 แสนล้านผ่าน 3 โครงการ 1) สินเชื่อพอเพียงเพื่อเลี้ยงชีพ สำหรับเกษตรกรหรือผู้ที่สนใจซึ่งไม่เคยเป็นลูกค้า ธ.ก.ส.มาก่อน 2) สินเชื่อระยะสั้นฤดูการผลิตใหม่ ปีการผลิต 2563/64 สำหรับเกษตกรที่ได้รับการพักชำระหนี้ และ 3) สินเชื่อนิวเจนฮักบ้านเกิด สำหรับเกษตรกร ทายาทเกษตรกร หรือคนรุ่นใหม่ที่กลับคืนสู่ภูมิลำเนาและสนใจในการทำเกษตรกรรม หวังสร้างรายได้ให้คนรุ่นใหม่กว่า 7 แสนราย

เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เริ่มคลี่คลายและอยู่ในสถานการณ์ที่ควบคุมได้ การปล่อยสินเชื่อเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจคือโจทย์สำคัญของรัฐบาลต่อจากนี้ ผ่านการออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 หรือ พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วนคือส่วนแรกวงเงิน 6 แสนล้านบาทใช้เยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งประชาชนประกอบอาชีพอิสระ เกษตรกร และอาชีพอื่นๆ

และอีกส่วนหนึ่งซึ่งน่าจับตามองอย่างยิ่งคือวงเงิน 4 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในการส่งเสริมเศรษฐกิจภายในประเทศให้มีความยั่งยืนมั่นคง จากเดิมที่พึ่งการส่งออกเป็นหลัก แต่จากการระบาดของโควิด-19 รัฐบาลได้มีการถอดบทเรียน และ ครม. ได้อนุมัติการใช้เงินกู้เพื่อสร้างความเข็มแข็งในประเทศ สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชน ทั้งนี้เงินกู้ส่วนหนึ่งจะนำไปสร้างความเข้มแข็งด้านเกษตรเรื่องอาหาร สร้างความเข้มแข็งให้กับท้องถิ่นต่างๆ ผ่าน 4 โครงการสำคัญคือ 1.โครงการที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรอินทรีย์ 2.โครงการพัฒนาแหล่งน้ำในชนบท 3.โครงการฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวในชุมชนและพื้นที่ต่างๆ หลังจากโควิด-19 คลี่คลายลงแล้ว 4.โครงการเกี่ยวกับการฝึกและการพัฒนาอาชีพให้กับคนในท้องถิ่น

‘คลัง’ ลุยฟื้นฟูหลังโควิดคลี่คลาย

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังมีข้อมูลผู้มีรายได้น้อย โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับการเยียวยา ทำให้สามารถนำข้อมูลมาประมวลผล เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นโดยจะส่ง “ทีมเราไม่ทิ้งกัน” ลงพื้นที่เยี่ยมเยียน สำรวจ ประเมินสภาพความเป็นอยู่ เพื่อทราบความเดือดร้อนและความต้องการพื้นฐานของผู้ได้รับการเยียวยาทั่วประเทศอย่างทั่วถึง

ทั้งนี้ หลังสถานการณ์โควิด-19 สิ้นสุดลง ธนาคารเฉพาะกิจ (Specialized Financial Institutions : SFIs) ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง ได้ออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อต่างๆดูแลลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมทั้งกลุ่มลูกค้าบุคคลและภาคธุรกิจ รวมถึงยังได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ร่วมกับสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ จัดทำเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน-ด้านการเงิน.com เพื่อเผยแพร่มาตรการเยียวยาประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบการจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อน สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างรวดเร็วตรงตามความต้องการ

ธ.ก.ส.อัด 1.7 แสนล้าน

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. เตรียมออกสินเชื่อช่วยเหลือสนับสนุนเกษตรกรหลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มคลี่คลายแล้ว เพื่อให้มีเงินทุนในการ

ประกอบอาชีพหรือสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ จำนวน 3 โครงการ ประกอบด้วย 1) สินเชื่อพอเพียงเพื่อเลี้ยงชีพ สำหรับเกษตรกรหรือผู้ที่สนใจซึ่งไม่เคยเป็นลูกค้า ธ.ก.ส.มาก่อน ได้มีเงินทุนประกอบอาชีพตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท วงเงินกู้รายละไม่เกิน 50,000 บาท 2) สินเชื่อนิวเจนฮักบ้านเกิด สำหรับเกษตรกร ทายาทเกษตรกร หรือคนรุ่นใหม่ที่กลับคืนสู่ภูมิลำเนาและสนใจในการทำเกษตรกรรม วงเงินรวม 60,000 ล้านบาท และ 3) สินเชื่อระยะสั้นฤดูการผลิตใหม่ สำหรับเกษตกรที่ได้รับการพักชำระหนี้ เพื่อเป็นเงินทุนในการทำการเกษตรระยะสั้น ปีการผลิต 2563/64 วงเงินรวม 100,000 ล้านบาท วงเงินกู้รายละไม่เกิน 50,000 บาท ทั้งนี้ สินเชื่อทั้ง 3 โครงการ อัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน โดย ธ.ก.ส. จะเร่งนำเสนอโครงการเพื่อให้คณะกรรมการธนาคารพิจารณาเห็นชอบโดยเร็ว

นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังได้เตรียมมาตรการในการฟื้นฟู เพื่อช่วยเหลือให้เกษตรกรลูกค้า กลับมาพัฒนาอาชีพที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและชุมชน มีรายได้ ควบคู่กับการร่วมดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมของชุมชนอย่างยั่งยืน โดยน้อมนำความรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต ซึ่ง ธ.ก.ส. มุ่งหวังว่าจะสามารถช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ จำนวนกว่า 1,000,000 ราย

ก่อนหน้านี้ เอ็มดี ธ.ก.ส. ระบุว่า มีผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาโควิด-19 ขอกู้ฉุกเฉินจาก ธ.ก.ส. 1.87 ล้านราย จากการสอบถามผ่านโครงการสินเชื่อฉุกเฉินฯพบว่าส่วนใหญ่ของผู้เดินทางกลับไปอยู่บ้านต่างจังหวัด มีความเชี่ยวชาญและต้องการประกอบอาชีพร้านอาหารมากถึง 850,000 ราย นวดแผนโบราณ 100,000 ราย ที่น่าสนใจคือมีคนรุ่นใหม่อยากทำเกษตรอุตสาหกรรมและเกษตรเทคโนโลยี โดยครึ่งหนึ่งต้องการกลับมาทำงานที่บ้านเกิด ธ.ก.ส.จึงต้องทำให้เกิดการจ้างงาน โดยเริ่มดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ 1 พ.ค. 2563 – 31 มี.ค. 2565 รวม 75,000 หมู่บ้านทั่วประเทศ ซึ่งเป็นเงินจากเงินกู้ 4 แสนล้านบาท โดยจัดตั้งเป็นกองทุนดูแลเศรษฐกิจฐานรากใช้ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแกนหลักยึดการทำงาน บวกกับความต้องการของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการทำงาน

บสย.ค้ำสินเชื่อ ‘นิวเจนฯ’

สำหรับสินเชื่อ New Gen ฮักบ้านเกิด ช่วยเหลือเกษตรกร ทายาทเกษตรกร หรือคนรุ่นใหม่ที่กลับคืนสู่ภูมิลำเนาและสนใจในการทำเกษตรกรรม วงเงินรวม 60,000 ล้านบาทนั้น คิดดอกเบี้ยร้อยละ 4 ช่วง 3 ปีแรก โดยขอให้บสย.ค้ำประกัน เพื่อดึงคนรุ่นใหม่ทำอาชีพสร้างรายได้ เบื้องต้นจะช่วยเหลือคนรุ่นใหม่ได้กว่า 700,000 ราย



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม โทร : 0893284192 , ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ