‘ไทยคม-ปตท.สผ.’ลุยเกษตร ยุคนี้ต้อง…โดรน!

วันจันทร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2563

‘ไทยคม-ปตท.สผ.’ลุยเกษตร  ยุคนี้ต้อง…โดรน!


การจับมือระหว่างบริษัท ไทย แอดวานซ์ อินโนเวชั่น จำกัด (ไทย เอไอ) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ บมจ.ไทยคม ผู้ให้บริการดาวเทียมไทย ร่วมทุนกับ บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (เออาร์วี) บริษัทในเครือของ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. จัดตั้งบริษัทร่วมทุนใหม่ภายใต้ชื่อ “บริษัท เอทีไอ เทคโนโลยีส์ จำกัด” ด้วยทุนจดทะเบียนจำนวน 20,000,000 บาท มีสัดส่วนการถือหุ้นระหว่าง ไทย เอไอ และ เออาร์วี 50:50 เพื่อร่วมกันพัฒนานวัตกรรมโดรน โดยในระยะแรกจะเริ่มจากการพัฒนาโดรนเพื่อการเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีการเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) เพื่อเสริมศักยภาพภาคเกษตรกรรมของไทย แสดงให้เห็นว่านับวันธุรกิจนี้จะมีความสำคัญและเป็นที่สนใจของภาคการเกษตรมากยิ่งขึ้น

สำหรับวัตถุประสงค์การจัดตั้งบริษัทครั้งนี้ เพื่อร่วมกันพัฒนา ผลิต จำหน่ายอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) รวมถึงการให้บริการแบบครบวงจรโดยในระยะเริ่มต้น มุ่งช่วยเกษตรกรไทยเพื่อยกระดับผลผลิตด้านการเกษตร ตลอดจนพัฒนาองค์รวม แก่ภาคการเกษตรของไทย นายอนันต์ แก้วร่วมวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ไทยคม กล่าวถึงความร่วมมือดังกล่าวว่า เนื่องจากทั้งสองบริษัทเล็งเห็นว่าเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา ไทย เอไอ และ เออาร์วี ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงในการพัฒนาโดรน เพื่อใช้ในงานเกษตรกรรม ด้วยความเป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่ดีเสมอมา ในวันนี้ทั้ง 2 บริษัทจึงได้ยกระดับความร่วมมือก้าวสู่การจัดตั้งบริษัทร่วมทุน โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาเทคโนโลยีโดรนแบบครบวงจร เพื่อยกระดับขีดความสามารถของประเทศไทยในด้านเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ โดยจะเริ่มจากภาคการเกษตรที่เป็นเศรษฐกิจรากฐานเป็นอันดับแรก

ด้าน ดร. ธนา สราญเวทย์พันธุ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (เออาร์วี) กล่าวว่า การจัดตั้งบริษัทร่วมทุนในครั้งนี้ นับเป็นยุทธศาสตร์ความร่วมมือ ในการดำเนินธุรกิจร่วมกับพันธมิตรโดย “เอทีไอ เทคโนโลยีส์” จะให้บริการด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี รวมถึงนวัตกรรมอากาศยานไร้คนขับ นอกจากนี้ ยังให้บริการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) เพื่อการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ รวมถึงความร่วมมือเพื่อพัฒนาธุรกิจใหม่ในรูปแบบอื่นๆที่จะเกิดจากนวัตกรรมอากาศยานไร้คนขับ ในอนาคต ช่วยเสริมศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ อย่างยั่งยืนด้วยนวัตกรรม

“ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ซึ่งผลผลิตทางการเกษตรมีการส่งออกมากที่สุดและช่วยสร้างรายได้ให้แก่ประเทศอย่างมหาศาล แต่เกษตรกรไทยกลับต้องเผชิญกับปัญหาทั้งด้านต้นทุนการผลิตที่สูงและการขาดแคลนแรงงาน”

ในการฉลองครบรอบ 4 ปี ก้าวสู่ปีที่ 5 “โครงการช่วยเหลือสังคม ทดแทนคุณแผ่นดิน” ของหนังสือพิมพ์สยามธุรกิจ และ บริษัทในเครือ โซนภาคตะวันออก ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมมณีจันท์รีสอร์ทแอนด์สปอร์ตคลับ จังหวัดจันทบุรี เพื่อนับสนุนนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจของภาครัฐ ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ ลดการใช้สารเคมีอันตราย ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต เพิ่มรายได้ให้เกษตรและชุมชนอย่างยั่งยืนก็ได้นำ DAMS DRONE ของบริษัทฯไปโชว์และได้รับเสียงชื่นชมว่าเป็นการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยสนับสนุนภาคการเกษตรกรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ว่า โดรน หรือ อากาศยานไร้คนขับ เป็นทางเลือกที่น่าสนใจในฐานะเครื่องมือทางการเกษตรที่มีความแม่นยำสูง ซึ่งกำลังมาแรงในยุคเกษตร 4.0 ที่เน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ลดต้นทุนการผลิต ประหยัดเวลา และประหยัดการใช้แรงงานคนท่ามกลางภาวะที่แรงงานภาคเกษตรมีแนวโน้มปรับตัวลดลง อีกทั้งโดรนเพื่อการเกษตรยังสามารถควบคุมคุณภาพการผลิตของสินค้าเกษตรได้อย่างแม่นยำ

หากไทยมีการนำเทคโนโลยีการเกษตรอย่างเช่นโดรนเพื่อการเกษตรเข้ามาประยุกต์ใช้ตามนโยบายนาแปลงใหญ่ของภาครัฐจะทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตได้รวมราว 1,100 ล้านบาท และคาดว่าจะสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ราว 6,000 ล้านบาทในอีก 4 ปีข้างหน้า ภายใต้เงื่อนไขพื้นที่นาแปลงใหญ่ที่เป็นไปตามเป้าหมายของภาครัฐ

นอกจากนี้ หากภาครัฐมีการสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีอย่างเช่นโดรนเพื่อการเกษตรมากขึ้น ตลอดจนกลุ่มทุนมีการถ่ายทอดความรู้ด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเทรนด์ของสินค้าจำพวกเทคโนโลยีที่มีแนวโน้มแพร่หลายมากขึ้นและมีราคาถูกลง ก็จะช่วยให้ภาคเกษตรไทยสามารถยกระดับการพัฒนาขึ้นไปได้อีกขั้น ขณะที่เกษตรกรต้องพิจารณาการรวมกลุ่มกันทำเกษตรแปลงใหญ่เพื่อเข้าถึงการใช้โดรนได้ง่ายขึ้น

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าภายในปี 2565 ราคาโดรนเพื่อการเกษตรอาจลดลงราวร้อยละ 20-25 ต่อปี อยู่ที่ 67,000-106,000 บาท จากราคาเปิดตัวในปี 2558 ที่ราว 300,000-500,000 บาท เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตโดรนมีการแข่งขันกันหลายบริษัท ผนวกกับความนิยมใช้โดรนของเกษตรกรและผู้ประกอบการที่มีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเทรนด์ของสินค้าจำพวกเทคโนโลยีที่มักจะมีราคาลดลงตามเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น

ข้อมูลบริษัท PwC Consulting (ประเทศไทย) ระบุว่า เทคโนโลยีโดรนได้ถูกพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ จนไม่ได้จำกัดเฉพาะแค่การใช้งานทางทหารเหมือนในอดีต โดยถูกนำมาใช้งานเชิงพาณิชย์ครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่นเมื่อต้นยุคทศวรรษ 1980 ทดแทนแรงงานมนุษย์ในการฉีดยาป้องกันแมลงในนาข้าว จากนั้นจึงถูกขยายขีดความสามารถเพื่อนำมาใช้งานในด้านอื่นๆ ทั้งการสำรวจ ตรวจสอบ วิเคราะห์ ประมวลผล แม้กระทั่งงานที่เสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สิน

โดย PwC คาดว่าอุตสาหกรรมการเกษตร (Agriculture) จะมีมูลค่าตลาดโดรนสูงถึง 32,400 ล้านดอลลาร์ หรือ 1.16 ล้านล้านบาท โดยโดรนถูกนำมาใช้ในการสำรวจพื้นที่การเกษตรในพื้นที่กว้างใหญ่ รวมทั้งวิเคราะห์ดิน การปลูกเมล็ดพันธุ์และการเก็บเกี่ยวได้อย่างแม่นยำ ด้วยการสร้างแผนที่ในรูปแบบสามมิติ ทำให้ผู้ประกอบการสามารถวิเคราะห์ข้อมูลพืชพันธุ์และวางแผนในการเพาะปลูกได้ง่ายขึ้น



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม โทร : 0893284192 , ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ