สรท.-หอการค้ามองส่งออกปีนี้ติดลบ10% SME ชี้6เดือนยังวิกฤติเสี่ยงปิดกิจการถาวร

วันจันทร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2563

สรท.-หอการค้ามองส่งออกปีนี้ติดลบ10% SME ชี้6เดือนยังวิกฤติเสี่ยงปิดกิจการถาวร


สรท.คาดส่งออกทั้งปีติดลบสูงถึง 10% จากการแพร่ระบาดของไวรัสและวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลกหอการค้าปรับลดจีดีพีปีนี้เหลือ-9.4% หวั่นตกงาน 7 ล้านคนแนะรัฐขยายมาตรการการพักชำระหนี้ออกไปอีก 6 เดือน ผลสำรวจธุรกิจ SME ชี้ 6 เดือนถ้ารายได้ไม่เข้าอาจต้องปิดกิจการถาวรขณะที่ชิ้นส่วนยานยนต์ประคองได้เพียง 3 เดือนเท่านั้น

นางสาวกัณญภัค ตัณติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สภาผู้ส่งออก) หรือ สรท. กล่าวว่า ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกมีความผันผวนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19นั้น สรท.มีความเป็นกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจทั่วโลกส่งผลให้การส่งออกของโลกมีการหดตัวเป็นอย่างมากรวมทั้งภาคการส่งออกของไทย ซึ่ง สรท.คาดว่าในปี 2563 นี้จะมีอัตราการหดตัวอยูที่ประมาณ-10% ภายใต้เงื่อนไขที่ต้องมีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 17,879 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน

สำหรับการส่งออกเดือนมิถุนายนมีมูลค่า 16,444 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว-23.17% การส่งออกในรูปเงินบาทเท่ากับ 520,608 ล้านบาท หดตัว-23.06% ในขณะที่การนำเข้าในเดือนมิถุนายน 2563 มีมูลค่า 14,833 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว-18.05% และการนำเข้าในรูปของเงินบาทมีมูลค่า 475,986 ล้านบาท หดตัว-17.94% ส่งผลให้ประเทศไทยเกินดุลการค้า 1,610 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ 44,621 ล้านบาท

ขณะที่ภาพรวมการส่งออกในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา (มกราคม- มิถุนายน) ไทยส่งออกรวมมูลค่า 114,342 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว-7.09% คิดเป็นมูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทที่ 3,562,327 ล้านบาท หดตัว-8.29% ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 103,642 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว-12.62% หรือคิดเป็นมูลค่า 3,269,175 ล้านบาท หดตัว-13.94% ส่งผลให้ช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาประเทศไทยเกินดุลการค้า 10,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ 293,152 ล้านบาท

“สถานการณ์ที่ต้องเฝ้าระวังหลังจากนี้ ได้แก่ ความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐที่มีแนวโน้มตึงเครียดจากการตอบโต้นโยบายระหว่าง 2 ชาติ ขณะเดียวกันในส่วนของความรุนแรงของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ยิ่งมีความน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะในสหรัฐที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นถึง 1 หมื่นรายต่อวัน ขณะที่จีนกลับมามีผู้ติดเชื้อใหม่ถึงวันละ 100 คนต่อวัน ส่วนออสเตรเลียได้เพิ่มมาตรการล็อกดาวน์บางพื้นที่ภายหลังจากมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทำลายสถิติรายวัน” นางสาวกัณญภัค กล่าว

นางสาวกัณญภัค กล่าวเพิ่มเติมว่า ถึงปัจจัยเสี่ยงที่ยังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อภาคการส่งออกไทยในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ คือค่าเงินบาทที่ถึงแม้ว่าจะมีแนวโน้มอ่อนค่าลงแต่ยังต่ำกว่าความคาดหวังของผู้ประกอบการส่งออกที่ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ประกอบกับค่าเงินบาทอ่อนค่าลงจากผลของสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ทั่วโลกที่ยังไม่คลี่คลาย ซึ่งประเด็นนี้อยากฝากผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่ ช่วยรักษาเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทให้อยู่ระดับ 34 บาท/เหรียญสหรัฐฯด้วย

ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ศูนย์ฯได้ทำการปรับลดเป้าส่งออกเป็นติดลบ 10.2% การลงทุนรวมติดลบ 8% จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ติดลบ 82.3% และเงินเฟ้อติดลบ 5% ขณะเดียวกันยังได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจหรือจีดีพีปี 2563 ใหม่เป็นติดลบ 9.4% จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะติดลบ 3.4%-4.9% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดไวรัสโควิด-19คิดเป็นการสร้างความเสียหายประมาณ 2.1 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะการปิดเมืองและการเลิกจ้างงาน การส่งออกลดลง ค่าบาทผันผวน และความไม่แน่นอนจากความตึงเครียดระหว่างสหรัฐ-จีน เป็นต้น

“ความเสียหายทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นดังกล่าวเป็นเม็ดเงินที่หายไปจากมาตรการล็อกดาวน์ 1.5 ล้านล้านบาท การจับจ่ายใช้สอยที่ลดลงไป 4.8 แสนล้านบาท และผลกระทบจากภัยแล้งอีกราว 8 หมื่นล้านบาท จึงเป็นเหตุผลที่ต้องปรับลดจีดีพีปีนี้เหลือเพียง -9.4% และมีโอกาสมากที่อาจจะติดลบถึงเลข 2 หลัก” นายธนวรรธน์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม หอการค้ายังหวังให้ทีมเศรษฐกิจใหม่ของรัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารงานเร่งออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเร็ว เนื่องจากหากล่าช้าอาจทำให้เศรษฐกิจไม่ฟื้นตัวและซบเซาเป็นเวลานาน พร้อมกันนี้อยากให้รัฐบาลพิจารณาการขยายมาตรการการพักชำระหนี้ออกไปอีก 6 เดือนให้ไปสิ้นสุดในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีหน้า โดยมองว่าในไตรมาสที่ 2 ของปีหน้าเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัว สำหรับปีนี้ภาพธุรกิจโดยรวมจะมีคนตกงานประมาณ 7 ล้านคน จากปัจจุบันที่มีคนตกงานอยู่ประมาณ 4 แสนคน

โดยผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบมากจะอยู่ในธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร ที่ผ่านมาธุรกิจปรับลดคนงานแค่ประมาณ 10% แต่ถ้าในระยะต่อไปนี้รัฐบาลไม่เร่งผลักดันเม็ดเงินตามแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจในวงเงิน 4 แสนล้านบาทและเร่งปล่อยกู้ซอฟท์โลน 5 แสนล้านบาทเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ประมาณเดือนตุลาคมปีนี้หากไม่เห็นการผลักดันอะไรออกมาน่าจะเห็นการปลดคนงานเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องถึงกำลังซื้อที่ลดลง การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) รัฐบาลจัดเก็บภาษีได้ยากขึ้น ท้ายที่สุดปัญหาการว่างงานก็จะเริ่มหนักขึ้น

นางสาวอุมากมล สุนทรสุรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลง Chamber Business Poll ธุรกิจ SME หลังวิกฤติโควิด-19 ซึ่งทำการสำรวจระหว่างวันที่ 20-24 กรกฎาคม 2563 จำนวน 800 ตัวอย่างทั่วประเทศพบว่า 61.7% ได้รับผลกระทบมากถึงมากที่สุด รองลงมา 26.9% ได้รับผลกระทบปานกลาง และ 11.2% ได้รับผลกระทบน้อย ส่วน 0.2% ไม่ได้รับผลกระทบ กลุ่มตัวอย่างที่ได้รับผลกระทบมากถึงมากที่สุด ได้แก่ ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร สุขภาพ ความงาม อัญมณีและหัตถกรรม โดยเฉลี่ยระบุว่าหากยังไม่มีรายได้เข้ามาหรือเข้ามาน้อยมากจะสามารถประคองกิจการไปได้อีกเฉลี่ยประมาณ 6 เดือน สูงสุดไม่เกิน 9 เดือน ขณะที่ธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ระบุว่าจะประคองกิจการไปได้เพียง 3 เดือนเท่านั้น



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม โทร : 0893284192 , ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ