‘โควิดภิวัฒน์’ พลิกธุรกิจไทยประกัน..ลงทุนแห่จับตลาด ‘เฮลท์แคร์’

วันจันทร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2563

‘โควิดภิวัฒน์’ พลิกธุรกิจไทยประกัน..ลงทุนแห่จับตลาด ‘เฮลท์แคร์’


ไวรัสโควิด-19 พลิกสถานการณ์ธุรกิจไทย ส่งผลตลาดเฮลท์แคร์มาแรง ประกันสุขภาพโตสวนกระแสภาพรวมธุรกิจประกันภัยด้วยแรงกระตุ้นจากโรคภัยไข้เจ็บ โปรแกรมตรวจสุขภาพกลายเป็นของขวัญวันแม่ที่เติบโตสูงถึง 30% คปภ.วางกรอบยุทธศาสตร์ 3 ปีฝ่ากระแส “ยุคโควิดภิวัฒน์” รับพฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนแปลงไป ด้านม.หอการค้าไทยเผยผลการศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการลงทุนของต่างชาติในไทยพบว่าผู้ประกอบการให้ความสำคัญด้านสุขอนามัยเพิ่มมากขึ้น ทำให้ไทยได้รับอานิสงส์ในการพิจารณาตั้งฐานการผลิตในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์และอาหารเสริม ขณะที่ยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนครึ่งปีแรกอุตฯการแพทย์โต 1.3 หมื่นล้าน

ประกันสุขภาพโตสวนกระแส

นายสาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ MTL กล่าวภายหลังการเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญและเกิดชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ที่ทุกคนหันมาใส่ใจเรื่องของสุขภาพมากขึ้น ซึ่ง MTL ได้มีการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ให้ความคุ้มครองด้านสุขภาพเพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่เหมาะกับลูกค้าในแต่ละกลุ่มอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด MTL ได้ออกผลิตภัณฑ์ “สัญญาเพิ่มเติมการประกันภัยสุขภาพแบบ D Health” เป็นประกันเหมาจ่ายให้ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลกรณีผู้ป่วยในแบบเหมาจ่ายตั้งแต่ 1-5 ล้านบาท เหมาจ่ายตามจริง ไม่มีการกำหนดค่าห้องหรือค่ารักษาพยาบาล เพื่อให้ง่ายต่อการใช้บริการของลูกค้า

“ประกันสุขภาพ (Health) เป็นเทรนด์ที่มาแรงมาก แม้ว่าในอุตสาหกรรมประกันชีวิตเบี้ยรับรวมจะติดลบแต่หากไปดูตัวเลขของ Health เป็นบวกอยู่ตลอดเวลาและมีแรงกระตุ้นให้เติบโตมากขึ้น” นายสาระ กล่าว ทั้งนี้ MTL ได้มีการพัฒนามีการลงทุนและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมมุ่งสู่การเป็นดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ผ่านแอปพลิเคชัน “MTL Click” ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทั้งการดูข้อมูลกรมธรรม์ การชำระเบี้ยประกัน การเคลม การค้นหาโรงพยาบาล การปรึกษาปัญหาสุขภาพออนไลน์ผ่านบริการ Telemedicine กับโรงพยาบาลสมิติเวช หรือการรับสิทธิพิเศษเมืองไทยสไมล์คลับ

ขณะที่นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจทัศนคติและพฤติกรรมของประชาชนเกี่ยวกับวันแม่ประจำปี 63 ที่ผ่านมาด้านการใช้จ่ายในการซื้อของขวัญให้แม่ประกอบด้วย การให้เงินสดหรือซื้อทองเฉลี่ย 2,724 บาทลดลงจากปีก่อน 17.1%, ซื้อพวงมาลัยหรือดอกไม้ 192 บาทลดลง 1%, ซื้อเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า 1,889 บาท ลดลง 20.3%, ซื้อเครื่องดื่มบำรุงร่างกาย 1,034 บาท ลดลง 6.2%, ซื้อกระเช้าผลไม้ 501 บาท ลดลง 12.9% อย่างไรก็ตามของขวัญวันแม่ที่มีอัตราการเติบโตสวนกระแสของขวัญชนิดอื่นคือการซื้อโปรแกรมตรวจสุขภาพ 6,333 บาท เพิ่มขึ้น 30% และ การซื้อประกันชีวิตและประกันสุขภาพ 15,407 บาท เพิ่มขึ้น 7%

คปภ.วางยุทธศาสตร์ฝ่า‘โควิดภิวัฒน์’

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด–19 กลายเป็นตัวเร่งให้สังคมไทยเข้าสู่สังคมรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “ยุคโควิดภิวัฒน์” ที่พฤติกรรมของคนเปลี่ยนแปลงไป มีการใช้เทคโนโลยีและทำ

ธุรกรรมออนไลน์มากขึ้น มีการดำเนินธุรกิจรูปแบบใหม่ภายใต้ New Normal หรืออาจปรับไปสู่ New Business Model มีการนำ Application AI Platform และ API (Application Programming Interface) มาสนับสนุนในการทำธุรกิจประกันภัยตั้งแต่ต้นน้ำไปยังปลายน้ำมากขึ้น เช่น การเปรียบเทียบเงื่อนไขความคุ้มครองของผลิตภัณฑ์ประกันภัย อัตราเบี้ยประกันภัย การเสนอขาย การ Underwrite การออกกรมธรรม์ประกันภัย รวมถึงการจ่ายค่าสินไหมทดแทน หรือการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเรื่องของจำนวนวันในการเรียกร้องค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถในกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ เป็นต้น ซึ่งในอนาคตอุตสาหกรรมประกันภัยจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างก้าวกระโดด ทำให้มุมมองเรื่องการประกันภัย ผลิตภัณฑ์ประกันภัย และความเสี่ยงด้านต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไป ก่อให้เกิดการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นธุรกิจประกันภัยจึงต้องเร่งปรับตัวพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้สอดคล้องและเหมาะสมต่อความต้องการของประชาชนผู้บริโภคและความต้องการทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ

‘จีน-ญี่ปุ่น’ สนลงทุนเครื่องมือแพทย์

รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลการศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจย้ายฐานการผลิตของผู้ประกอบการไทยและต่างชาติ ในงานแถลงข่าวเรื่อง “บุญหล่นทับหรือกรรมซ้ำเติม?...ฐานการผลิตไทยกับ CLMV หลัง COVID-19” เกี่ยวกับผลการศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจย้ายฐานการผลิตของผู้ประกอบการจำนวน 200 ตัวอย่าง แบ่งเป็นผู้ประกอบการไทยที่มีฐานการผลิตในประเทศไทยร้อยละ 70 และผู้ประกอบการต่างชาติที่มีฐานการผลิตในประเทศไทยร้อยละ 30 พบว่าหลังสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ผู้ประกอบการต่างชาติให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านสุขอนามัยเพิ่มมากขึ้นในอันดับต้น ๆ ในการขยายฐานการผลิต (ให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 4 จากเดิมก่อนสถานการณ์โควิด-19 อยู่ในอันดับที่ 11) ขณะที่ผู้ประกอบการไทยยังคงคำนึงถึงปัจจัยด้านต้นทุนต่ำเป็นปัจจัยหลักในการย้ายฐานการผลิต

อุตสาหกรรมไทยที่บุญหล่นทับหลังโควิด-19 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์ด้าน IT เครื่องใช้สำนักงาน เครื่องปรับอากาศ ฮาร์ดดิสก์ ถุงมือยาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพและเครื่องมือทางการแพทย์ เนื่องจากไทยสามารถจัดการกับโควิดได้ดีและแรงงานมีคุณภาพ มีความรู้ มีฝีมือมีทักษะในการผลิต ซึ่งผู้ประกอบการต่างชาติมีแผนขยายฐานการผลิตเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มขึ้น โดยมีผู้ประกอบการต่างชาติที่มีแผนย้ายฐานการผลิตเข้ามาในประเทศไทยหลังโควิด-19 ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ อาทิ ผู้ประกอบการจีน (ผลิตภัณฑ์ถุงมือยาง) และผู้ประกอบการญี่ปุ่น (ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ และเครื่องมือทางการแพทย์)

“ไทยควรใช้โอกาสจากโรคระบาดผลักดันส่งเสริมสนับสนุนและเน้นอุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพ เช่น ถุงมือยาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตเพื่อสุขภาพ เครื่องสำอางเพื่อสุขภาพ เครื่องมือทางการแพทย์ โดยภาครัฐควรประชาสัมพันธ์ประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมสุขภาพและอาหารเพื่อสุขภาพของโลก รวมถึงพัฒนาเทคโนโลยี AI วิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค” รศ.ดร.อัทธ์ กล่าว

ครึ่งปีลงทุนอุตฯการแพทย์ 1.3 หมื่นล้าน

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ภาวะการส่งเสริมการลงทุนช่วง 6 เดือนของปี 2563 (มกราคม-มิถุนายน) มียอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวมทั้งสิ้น 754 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 703 โครงการ ขณะที่มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 158,890 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 17 ซึ่งมีมูลค่ารวม 190,330 ล้านบาท ทั้งนี้เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และ

ในช่วงเดียวกันของปี 2562 มีโครงการขนาดใหญ่ด้านพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลยื่นขอรับการส่งเสริม แต่มีแนวโน้มดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสแรกของปีนี้

สำหรับยอดขอรับการส่งเสริมส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย จำนวน 371 โครงการ มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 83,140 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 52 ของมูลค่าคำขอรับการส่งเสริมทั้งหมด โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการแพทย์ ที่มีการยื่นขอรับการส่งเสริมเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดทั้งจำนวนโครงการและเงินลงทุน โดยมีการยื่นขอรับการส่งเสริมรวม 52 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 174 มูลค่าเงินลงทุนรวม 13,070 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 123 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

“ยอดคำขอรับการส่งเสริมในอุตสาหกรรมการแพทย์ที่เพิ่มขึ้น เป็นผลจากมาตรการเร่งรัดการลงทุนในอุตสาหกรรมการแพทย์ ที่บอร์ดบีโอไอเห็นชอบเมื่อเดือนเมษายน เพื่อสนับสนุนให้เกิดการลงทุนอย่างรวดเร็ว รองรับความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่เพิ่มสูงขึ้นภายใต้สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19” เลขาฯบีโอไอ กล่าว

สำหรับยอดขอรับการส่งเสริมในช่วง 6 เดือนของปี 2563 จำแนกตามอุตสาหกรรมเป้าหมาย อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มูลค่า 28,250 ล้านบาท ตามด้วยอุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหาร มูลค่า 15,300 ล้านบาท อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน มูลค่า 13,510 ล้านบาท อุตสาหกรรมการแพทย์ 13,070 ล้านบาท อุตสาหกรรมปิโตรและเคมีภัณฑ์ 4,380 ล้านบาท



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ