ปลุก ‘บ้านสร้างเอง’ 3 แสนหลัง ชู ‘จ้างงานรายชั่วโมง’ ดัน ‘อสังหา-ค้าปลีก’ฝ่าวิกฤติ

วันจันทร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2563

ปลุก ‘บ้านสร้างเอง’ 3 แสนหลัง  ชู ‘จ้างงานรายชั่วโมง’  ดัน ‘อสังหา-ค้าปลีก’ฝ่าวิกฤติ


“สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน” ชง 3 ประเด็นให้รัฐบาลหนุนผู้ต้องการปลูกสร้างบ้านเองและเป็น Real Demand ผ่านมาตรการลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดา 2% ของค่าปลูกสร้างบ้านแต่ไม่เกิน 100,000 บาทในเวลา 5 ปี ยกเว้นภาษีที่ดินไม่เกินคนละ 200 ตารางวา ชี้ปี 62 ตลาดโตกว่า 2 แสนล้าน ขณะที่มีบ้านเก่าอายุ 30 ปีรอรื้อถอนปลูกสร้างใหม่อีกไม่น้อยกว่า 3 แสนหลัง แนะลงทะเบียนผู้ประกอบการรับสร้างบ้านให้อยู่ในระบบช่วยดึงภาษีเข้ารัฐอีกกว่า 2 หมื่นล้าน ด้าน ส.ผู้ค้าปลีกไทย เสนอแก้นโยบายค่าแรงขั้นต่ำให้สามารถจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็นรายชั่วโมงได้ช่วยเพิ่มการจ้างงาน 1.2 ล้านอัตรา ปัดฝุ่น “ช้อปช่วยชาติ” กระตุ้นกำลังซื้อ ปรับกฎหมายลงทุนศูนย์การค้าเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมในอีอีซี ยกระดับเทียบชั้น ‘ญี่ปุ่น-เกาหลี’

จากนโยบาย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จัดประชุม workshop กับภาคธุรกิจต่างๆตามแนวทาง “รวมไทยสร้างชาติ” ที่เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนและจากทุกระดับของสังคมรวมถึง “สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน” (Home Builders Association : HBA) เป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ภาคบริการที่ได้รับเชิญร่วมระดมความคิดและวิธีขับเคลื่อนภาคธุรกิจสู่อนาคต พร้อมกับสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย และตัวแทนจากผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ มากกว่า 25 ราย

นายวรวุฒิ กาญจนกูล นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน (Home Builders Association : HBA) เปิดเผยว่า ในที่ประชุมสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านได้เสนอต่อนายกรัฐมนตรีในประเด็นต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งก็รวมถึงภาพรวมตลาดบ้านสร้างบ้านเองนั้นมีโอกาสที่จะเติบโตได้อีกมาก จากข้อมูลของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์เห็นได้จากบ้านเดี่ยวที่ขออนุญาตก่อสร้างเองทั่วประเทศ (บ้านที่อยู่นอกโครงการจัดสรร) ในปี 2562 มีถึง 100,657 หลังคิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 208,675 ล้านบาท ในจำนวนนี้หากแยกเป็นบ้านเดี่ยวที่จดทะเบียนใหม่ในกรุงเทพฯและปริมณฑลในปี 2562 ซึ่งเป็นบ้านที่ประชาชนสร้างเองมีจำนวน 18,029 หลัง เพิ่มขึ้น 3% ( จากปี 2561)

นอกจากนี้ยังมีที่ดินว่างเปล่าไม่น้อยกว่า 120 ล้านตารางเมตร และในจำนวนนี้กว่า 50% อยู่ใน 10 เขตหลักที่เป็นพื้นที่สำหรับสร้างบ้านเอง และในขณะเดียวกันมีบ้านที่สร้างเองที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไปจำนวน 300,000 หลังที่พร้อมจะรื้อถอนและปลูกสร้างใหม่ ซึ่งผู้บริโภคที่ปลูกสร้างบ้านเองนั้นจะเป็นกลุ่มคนที่เก็บและออมเงินสำหรับปลูกสร้างบ้านของตนเองและเป็น Real Demand ซึ่งเป็นผู้ที่ต้องการสร้างบ้านเพื่ออยู่จริงไม่ใช่เพื่อเก็งกำไร ซึ่งผู้บริโภคกลุ่มนี้จะขอกู้ธนาคารเพียง 50% ด้วยเหตนี้ทางสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านจึงต้องการให้รัฐบาลช่วยสนับสนุนในประเด็นหลักๆดังนี้

ประเด็นที่ 1. มาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในส่วนของผู้ที่ต้องการปลูกสร้างบ้าน ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลรัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แต่กลุ่มธุรกิจบ้านสร้างเองไม่เคยอยู่ในข่ายที่ได้รับความช่วยเหลือ จึงขอให้รัฐบาลสนับสนุนผ่านมาตรการลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดา 2% ของค่าปลูกสร้างบ้านแต่ไม่เกิน 100,000 บาทในเวลา 5 ปี สามารถนำไปลดหย่อนเฉลี่ยเท่าๆกัน) ของรอบบัญชีภาษี และ มาตรการยกเว้นภาษีที่ดินให้ผู้มีที่ดินเปล่าไว้สำหรับปลูกสร้างบ้าน (บ้านหลังแรกหรือคนที่ไม่เคยมีบ้านเลย) ไม่เกินคนละ 200 ตารางวา ซึ่งมาตรการดังกล่าวถ้าได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลก็จะทำให้บุคคลทั่วไปสามารถมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้ ทั้งที่มีที่ดินอยู่แล้วจะไม่ต้องขายออกไปเพื่อลดภาระภาษีหรือผู้ที่จะซื้อที่ดินเก็บไว้เพื่อสร้างที่อยู่อาศัยก็จะตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้รัฐก็ไม่ต้องเสียหายในเรื่องของภาษีส่วนนี้มาก และยังแสดงถึงความเห็นใจประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือให้ประชาชนมีโอกาสที่จะมีบ้านได้ง่ายขึ้น

ประเด็นที่ 2. การลงทะเบียนผู้ประกอบการรับสร้างบ้านให้อยู่ในระบบ ทั้งนี้เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานและลดเรื่องการทิ้งงาน สร้างบ้านแล้วไม่ได้บ้าน ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นปัญหาใหญ่ อีกทั้งจะเป็นการที่ภาครัฐยังสามารถจัดเก็บภาษีเพื่อที่จะเข้ามาอยู่ในระบบอีกไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาทต่อปี

ประเด็นที่ 3. ส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรด้านอาชีวศึกษา กล่าวคือปัจจุบันในภาคธุรกิจรับสร้างบ้านยังขาดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในด้านอาชีวะเพื่อมาพัฒนางานด้านนี้อีกจำนวนมาก จึงอยากให้รัฐช่วยส่งเสริมเพื่อให้เด็กรุ่นใหม่รวมถึงผู้ปกครองเห็นคุณค่าของงานด้านอาชีวะศึกษา และมีการพัฒนาต่อยอดงานด้านคุณวุฒิวิชาชีพให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น

พร้อมกันนี้นายวรวุฒิ ยังกล่าวด้วยว่ายังมีกติกาของรัฐที่ยังเป็นอุปสรรคที่ต้องการให้มีการแก้ไข โดยเฉพาะในเรื่องการขออนุญาตปลูกสร้างตามเขตต่างๆมีควาล่าช้าและไม่ได้รับความสะดวก จึงต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการขอใบอนุญาตก่อสร้างของภาครัฐมีการปฎิรูปให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

พร้อมกันนี้ยังนำเสนอให้มีการออกมาตรการกระตุ้นการบริโภคของผู้บริโภคภายในประเทศ ทั้งในส่วนการซื้อที่อยู่อาศัยเพื่ออยู่อาศัย การซื้อเพื่อการลงทุนและลงทุนบ้านให้เช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย ทั้งมาตรการของภาครัฐในเรื่องของภาษี และมาตรการของภาคการเงินในเรื่องการเข้าถึงสินเชื่อและอัตราดอกเบี้ย โดยมองว่านอกเหนือจากการออกมาตรการทางการเงินที่ช่วยผู้บริโภคแล้วสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือควรหาวิธีการจูงใจธนาคารต่างๆให้มีความต้องการ “อยากปล่อยสินเชื่อ” เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยมีช่องทางในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ และสามารถเข้าถึงเงินกู้ได้

ชู ‘บ้านหลังที่ 2 ของโลก’

กลุ่มผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ยังชี้ให้เห็นความสำคัญอีกหนึ่งมิติ ในฐานะที่ประเทศไทยมีศักยภาพอย่างมากในการเป็นบ้านหลังที่สองของคนทั่วโลก และมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคด้วยปัจจัยบวกหลายๆ ด้าน ซึ่งหากผลักดันได้สำเร็จจะส่งผลประโยชน์หลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มจำนวนของแรงงานต่างชาติระดับผู้บริหารหรือผู้มีทักษะสูง เพิ่มการจ้างงาน เพิ่มรายได้ กำลังซื้อภายในประเทศ และเป็นผลต่อเนื่องต่อภาคธุรกิจต่างๆมากมายไม่ว่าจะเป็นค้าปลีก การค้า โรงแรม ท่องเที่ยว โลจิสติกส์ อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ

สำหรับภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ถือเป็นภาคธุรกิจที่อิงกับความเชื่อมั่นของประชาชนเป็นอย่างมาก ดังนั้นหากภาครัฐต้องการสร้างความเชื่อมั่นเกี่ยวกับความรู้สึกของประชาชนที่มีต่อความมั่นคงในการดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพของตัวเอง สิ่งหนึ่งที่ช่วยได้คือการสื่อสารข้อมูลเรื่องเศรษฐกิจหรือโครงการสำคัญๆ ที่จะมีผลต่อการทำมาหากินและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนออกไปสู่ประชาชนให้รับทราบ และมองเห็นอนาคตของตัวเอง เพื่อสามารถวางแผนการดำเนินชีวิตได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งมิติในการกระตุ้นเศรษฐกิจฝ่าวิกฤติที่เกิดขึ้น

ชงจ้างงานรายชั่วโมง

อีกหนึ่งธุรกิจที่เข้าเสนอความคิดเห็นคือสมาคมผู้ค้าปลีกไทย นำโดย ญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมฯ / ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), ดร.ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมฯ / ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดูโฮม จำกัด, อัญชนา วิทยาธรรมธัช รองประธานสมาคมฯ / ที่ปรึกษา บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน), สมพงษ์ รุ่งนิรัตติศัย กรรมการสมาคมฯ / ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด, ลักษณ์ ถิฐาพันธ์ กรรมการสมาคมฯ / รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) และ จักกฤษณ์ กีรติโชคชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ได้เสนอว่าภาครัฐควรมีนโยบายส่งเสริมประเทศไทยให้เป็น “สุดยอดการใช้ชีวิตแห่งเอเชีย” (Lifestyle hub of Asia) โดยเสนอมาตรการระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว คือในส่วนระยะสั้นเพื่อพยุงการจ้างงานและขับเคลื่อนเอสเอ็มอีให้อยู่รอด เสนอแก้นโยบายค่าแรงขั้นต่ำให้สามารถจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็นรายชั่วโมงได้ ซึ่งจะนำไปสู่การจ้างงานเพิ่มขึ้น 1.2 ล้านอัตรา รวมทั้งออกนโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายด้วยการนำโครงการ “ช้อปช่วยชาติ” ออกมาอีกครั้ง และการกระตุ้นกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อสูง โดยลดภาษีนำเข้าชั่วคราวเป็นเวลา 4 เดือนเช่นจาก 30 % เหลือ 10%

นอกจากนั้นยังมีข้อเสนอแนะสำหรับระยะสั้น เพื่อไม่ให้ร้านค้าปิดกิจการ มีการจ้างงานต่อไปและมีเงินหมุนเวียนในระบบ รัฐควรปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) โดยอนุญาติให้ผู้ประกอบการสามารถนำหลักฐานใบสัญญาเช่ามาใช้พิจารณาปล่อยกู้

ได้ ออกโครงการช้อปและเที่ยวช่วยชาติ เยียวยาลดค่าใช้จ่ายศูนย์การค้า เช่น ลดค่าไฟ ภาษีนิติบุคคล ภาษีป้าย ยืดเวลาการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 90% ไปถึงปี 2566

สำหรับแผนระยะกลาง ควรส่งเสริมยกระดับให้ธุรกิจศูนย์การค้าอยู่ในแผนแม่บทของประเทศ เปิดพื้นที่เพิ่มโซนการลงทุนให้ศูนย์การค้าเช่นเดียวกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ส่งเสริม seamless connectivity โดยปรับกฏหมายทางเชื่อมอาคาร ลดค่าธรรมเนียมเงื่อนไขเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชน ปรับกฎหมายให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตใหม่ เพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจศูนย์การค้า และแผนระยะยาวควรผลักดันให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางระดับโลก เป็นแหล่งช้อปปิ้งของนักท่องเที่ยวชั้นนำเทียบชั้นญี่ปุ่น เกาหลี ยกระดับสินค้าไทยให้แข่งขันได้ พร้อมทยอยลดภาษีนำเข้าให้ราคาสินค้าแข่งขันกับต่างประเทศได้



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ