รวยด้วยเกษตรวิถีใหม่ ลุย...เศรษฐกิจชีวภาพ ตลาดโต 2.4 ล้านล้านยูโร

วันจันทร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2563

รวยด้วยเกษตรวิถีใหม่ ลุย...เศรษฐกิจชีวภาพ ตลาดโต 2.4 ล้านล้านยูโร


ฝ่าธุรกิจส่งออกสู้วิกฤตโควิดเผย“กลุ่มเกษตรอาหาร”สดใสเจาะตลาดโลกช่วงโลกประสบภาวะขาดแคลนอาหาร “อลงกรณ์” ชี้สินค้าอาหารไทยผงาดแซง ”อินเดีย” พรวดรั้งเบอร์สองรองจากจีนเท่านั้น แนะเคล็ดลับสู่ความสำเร็จปรับตัวสู่วิถีใหม่ติดอาวุธเทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่ความมั่งคั่ง พร้อมมุ่งสู่เศรษฐกิจชีวภาพที่กำลังมาแรง เฉพาะตลาดยุโรปมีมูลค่าตลาดกว่า 2.4 ล้านล้านยูโร

หนังสือพิมพ์ “สยามธุรกิจ” จัดสัมมนาหัวข้อ “ “ New Normal รวยด้วย...”เกษตรวิถีใหม่” เพื่อให้ความรู้แนะนำกับเกษตรกรในการทำธุรกิจรูปแบบใหม่อย่างสร้างสรรค์ เพิ่มมูลค่าการผลิต เพิ่มช่องทางการค้า เพิ่มทางเลือกให้กับผู้ประกอบการท้องถิ่น หลังเกิดวิกฤติไวรัสโควิด 19 เพื่อติดอาวุธทางปัญญาให้กับเกษตรกรได้ปรับตัวก้าวสู่การสร้างผลผลิตแบบ “ได้น้อยได้มาก” สะท้อนกลยุทธ์การทำเกษตรยุคใหม่ จากวิทยากรที่มีองค์ความรู้และประสบการณ์ รวมถึงผู้ประกอบการ SMEs รุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จด้านการตลาดเพิ่มช่องทางการขาย และเพิ่มมูลค่าสินค้าให้เติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งมีเกษตรกรและผู้สนใจเข้าร่วมงานจำนวนมาก ที่ห้องประชุม ชั้น 3 อาคารหนังสือพิมพ์ “สยามธุรกิจ” สำนักงานใหญ่เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา

โอกาสนี้นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “New Normal เคล็ดลับความสำเร็จด้วยเกษตรวิถีใหม่” ว่า ช่วงเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 และการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด19 ครั้งนี้มีประชากรทั่วโลกติดเชื้อไปแล้วกว่า 28 ล้านคน และเสียชีวิตกว่า 1 ล้านคน ขณะที่การผลิตวัคซีนเพื่อป้องกันเชื้อไวรัสโควิดยังไม่คืบหน้า ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ การผลิตสินค้า การส่งออก การขนส่ง และการดำเนินชีวิตของทุกคน ซึ่งทางองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO และองค์การอนามัยโลก หรือ WHO โครงการอาหารโลก คาดการณ์ว่าโลกกำลังเข้าสู่ภาวะขาดแคลนอาหาร และเสี่ยงต่อความอดอยากถึงเสียชีวิตได้เพิ่มขึ้น 2 เท่า ทำให้ประเทศไทยที่เป็นแหล่งผลิตอาหารส่งออกไปทั่วโลกมีโอกาสขายสินค้าไปทั่วโลกได้มากขึ้น

ล่าสุดท่ามกลางสถานการณ์การส่งออกของประเทศไทยมีตัวเลขติดลบ ปรากฏว่า สินค้ากลุ่มเกษตรอาหารเมื่อเดือน พ.ค. เพิ่มขึ้นกว่า 22% ไม่ว่าจะเป็น ทุเรียน เติบโต 63% ข้าวหอมมะลิ ที่มีการผลิตอยู่ที่ทุ่งกุลาร้องไห้ทางภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคกลางบางส่วน มีการเติบโต 25% ไก่สดแข็งแข็งเติบโต เติบโต 27% อาหารสัตว์เลี้ยงเติบโต 16% ซึ่งสินค้าเกษตรที่เติบโตเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ตลาดทั่วโลกต้องการสินค้าอาหารจากประเทศไทย ซึ่งมีความปลอดภัยสูงด้วย

“ถ้าดูตัวเลขการส่งออกสินค้ากลุ่มอาหารของประเทศไทย เมื่อปี 2560 เราส่งออกอาหารไปตลาดโลกอยู่อันดับ 14 ของโลก พอมาปี 2561 ได้ขยับขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 12 ซึ่งการก้าวกระโดดขึ้นมาแบบนี้มีเพียง 2 ประเทศไทยเท่านั้นที่ทำได้คือ ไทยกับ เม็กซิโก ที่สำคัญเป็นปีแรกที่ประเทศไทยสามารถแซงประเทศอินเดียขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกอาหารอันดับ 2 เป็นรองเพียงประเทศจีนเท่านั้น และในปี 2562 ที่ผ่านมา ได้ขยับขึ้นมาอยู่อันดับ 11 ของโลก แสดงให้เห็นว่าเรามีความ

เข้มแข็งและขีดความสามารถของโรงงานอุตสาหกรรม และบริษัทส่งออก ที่สำคัญมีเกษตรกร และมีอาหารที่เพียงพอและปลอดภัยสำหรับการส่งออก”

ทั้งนี้ การพัฒนาสินค้าเกษตรอย่างยั่งยืนจะต้องมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคและผู้ผลิตเอง ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้ยกร่างพระราชกฤษฏีกาให้มีจัดตั้งสถาบันเกษตรอินทรีย์แห่งชาติเสร็จเรียบร้อยแล้ว เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่แหล่งอาหารที่ปลอดภัยของโลก

นายอลงกรณ์ กล่าวว่า เคล็ดลับความสำเร็จในการพัฒนาเกษตรอาหารคือ นโยบายเทคโนโลยีเกษตร คือ เกษตร 4.0 ซึ่งทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ผลักดันมาอย่างต่อเนื่อง เพราะโลกทุกวันนี้มีการติดต่อค้าขายกันบนโลกออนไลน์เช่นเดียวกับภาคการเกษตรก็ต้องปรับให้สะดวกสบายตั้งแต่การผลิตมีเครื่องมือที่ทันสมัยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ และใช้ช่องทางออนไลน์ในการกระจายสู่ตลาดโลก ที่สำคัญมีการฐานข้อมูลเกษตรแบบรวมศูนย์ทั้งพืช ปศุสัตว์ และประมง ซึ่งได้ตั้งเป็นศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติเรียบร้อยแล้ว

สำหรับการสนับสนุนนโยบายเกษตร 4.0 ได้มีการตั้งศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center : AIC) ขึ้นทั้ง 77 จังหวัด เพื่อเป็นศูนย์กลางในการให้บริการแลกเปลี่ยนความรู้และเชื่อมโยงความร่วมมือด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมระหว่างภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร โดยมีการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ สนับสนุนภาคการเกษตร เช่น ศูนย์ AIC จังหวัดนนทบุรีที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มีจุดเด่นสามารถผลิตหุ่นยนต์เกษตรได้แล้ว 2 คือ หุ่นยนต์เกษตรสำหรับเก็บมะเขือเทศ และหุ่นยนค์สำหรับกรีดยาง ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีมาผสมผสานกับภูมิปัญญาไทยให้ลงตัว

ศูนย์ AIC จังหวัดปทุมธานีที่มหาวิทยาลัยราชมงคลธัญบุรี ได้นำเทคโนโลยีมาพัฒนากัญชงผลิตเป็นผนังบ้าน ซึ่งมีจุดเด่นสามารถป้องกันเชื้อรา กันความร้อน ความหนาวได้ ซึ่งเกิดจากการวิจัยและพัฒนา และขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ กำลังคิดค้นพัฒนาลิฟท์สำหรับเก็บมะพร้าว ลูกตาล แทนลิงสำเร็จ มีความสูงประมาณ 12-15 เมตร เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังจุดเด่นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาพัฒนาภาคการเกษตรของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสุรนารี พัฒนาปลาทูน่าน้ำจืดสายพันธุ์ “ปลาบึกสยาม” เป็นการนำปลาบึกแม่น้ำโขงมาผสมพันธุ์กับปลาสวาย เพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบปลาทูน่าผลิตปลากระป๋องส่งออกไปยังตลาดโลก

นายอลงกรณ์ กล่าวด้วยว่า จากนโยบายรัฐบาลสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ หรือ New S-Curve ได้แก่ หุ่นยนต์, การบินและโลจิสติกส์, เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ,ดิจิทีล และการแพทย์ครบวงจร ซึ่งศักยภาพของประเทศไทยสามารต่อยอดความสำเร็จจากภาคเกษตรไปอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพได้ ยกตัวอย่าง ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกยางพาราอันดับ 1 ของโลก มีศักยภาพผลิตยางรถยนต์จากยางธรรมชาติได้ปีละ 200 ล้านเส้น ผลิตถุงมือยางอันดับ 2 ของโลก และเตรียมผลิตหน้ากากยางพารารองรับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ด้วย หรือแม้แต่เกษตรพลังงานที่นำพืชพลังงานไปผลิตน้ำมันเป็น น้ำมันไบโอดีเซล หรือแก๊สโซฮอล์ ได้

สำหรับเศรษฐกิจชีวภาพถือว่าเป็นโมเดลเศรษฐกิจใหม่มีทิศทางที่สดใสมาก เฉพาะในตลาดยุโปรมีมูลค่าถึง 2.4 ล้านล้านยูโร ส่วนด้านเทคนิคชีวภาพในตลาดโลกมีมูลค่ามากถึง 7 แสนล้านเหรียญสหรรัฐ ดังนั้น ถือว่าตลาดโลกอยู่ในมือคนไทยที่เป็นโอกาสจะพัฒนาสินค้าเกษตรออกไปเจาะตลาดได้



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ