เผยผลสำรวจหลังวิกฤตโควิด-19 แรงงานไทยสูบบุหรี่น้อยลง

วันจันทร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2563

เผยผลสำรวจหลังวิกฤตโควิด-19 แรงงานไทยสูบบุหรี่น้อยลง


เผยสำรวจพบการทำงานที่มากกว่า 8   ชั่วโมง และพฤติกรรมเลียนแบบเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้คนวัยแรงงานสูบบุหรี่ หลังวิกฤตโควิด-19 รายได้ลด มีภาวะเครียดทำให้สูบบุหรี่น้อยลง ปลื้มคนทำงานร้อยละ 65 วางแผนเลิกสูบ

ที่โรงแรมเอเชีย ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานแถลงข่าว “ปฏิรูปวิถีแรงงาน เลิกสูบ เลิกจน”  ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า บุหรี่เป็นปัจจัยหนึ่งของต้นตอปัญหาทางเศรษฐกิจในกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่  ศจย.ให้ความสำคัญและสนับสนุนให้สวนดุสิตสำรวจพฤติกรรมการบริโภคยาสูบของกลุ่มผู้ใช้แรงงานทั้งในและนอกระบบ โดยจะร่วมกับสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่เชิญชวนชาวแรงงานปฏิรูปวิถีชีวิต “เลิกสูบ เลิกจน” โดยขับเคลื่อนผ่านกลไกของสมาพันธ์จังหวัดในการส่งต่อคนอยากเลิกบุหรี่ไปยังสายเลิกบุหรี่ 1600 เพื่อสนับสนุนให้ผู้สูบบุหรี่สามารถเลิกบุหรี่ได้สำเร็จ

 ดร.ณัฐพล แย้มฉิม ประธานสวนดุสิตโพล ว่า สวนดุสิตโพลสำรวจพฤติกรรมการบริโภคยาสูบของกลุ่มผู้ใช้แรงงานทั้งในและนอกระบบ จำนวน 1,098 คน ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เปรียบเทียบการสูบบุหรี่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระหว่างเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม 2563 กับช่วงหลังสถานการณ์โควิด-19 ทุเลาลงตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม 2563 พบว่า ในช่วงสถาการณ์โควิด-19 กลุ่มผู้ใช้แรงงานสูบบุหรี่น้อย (1-5 มวนต่อวัน) เป็นร้อยละ 17.76 มีการสูบบุหรี่น้อยลงหลังสถานการณ์โควิด-19 ทุเลา โดยมีสาเหตุจากรายได้ลดลง รองลงมาคือ ต้องการดูแลสุขภาพ และกังวลว่าการสูบบุหรี่จะทำให้ติดเชื้อโควิด-19 ได้ง่ายขึ้น และร้อยละ 64.10 ของกลุ่มดังกล่าวมีการวางแผนที่จะเลิกสูบบุหรี่

“ในขณะที่กลุ่มที่สูบบุหรี่มาก (11-15 มวนต่อวัน) ร้อยละ 5.01 มีการสูบบุหรี่มากขึ้นหลังสถานการณ์โควิด-19 ทุเลา เนื่องจากมีความเครียดในการทำงานและความเครียดจากสถานการณ์โควิด-19 และร้อยละ 29.09 มีการวางแผนที่จะเลิกสูบบุหรี่ โดยจะใช้วิธีการลดปริมาณการสูบ หักดิบ และการใช้ยา ตามลำดับ ในส่วนของผู้ใช้แรงงานที่ไม่เคยสูบบุหรี่ ส่วนใหญ่มีบุคคลใกล้ชิดสูบบุหรี่ และมีความกังวลเรื่องผลกระทบด้านสุขภาพจากคนใกล้ชิดที่สูบบุหรี่” ดร.ณัฐพล กล่าว

รศ.ดร.แล ดิลกวิทยรัตน์ กรรมการบริหารแผนคณะ 1 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และกรรมการกำกับทิศทางของ ศจย. กล่าวว่า ปัญหาการความยากจนกับการสูบบุหรี่เป็นเรื่องที่ควบคู่กันไปตั้งแต่ในระดับโลกถึงระดับครัวเรือนหรือแม้แต่ตัวบุคคล ในระดับโลกพบว่า ผู้สูบบุหรี่ร้อยละ 84 อยู่ในประเทศยากจนที่เรียกว่าประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะกับประชากรวัยทำงานซึ่งเป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศ สาเหตุที่สำคัญของการติดบุหรี่ในประชากรวัยแรงงาน มีทั้งปัญหาในเชิงโครงสร้างของระบบการทำงานที่มีการทำงานนานถึงระหว่าง 8-12 ชั่วโมงต่อวัน ที่สร้างความเครียดให้กับคนงานและหาทางคลายเครียดด้วยการสูบบุหรี่ และปัญหาส่วนตัวนั้นอาจมาจากการเลียนแบบบริโภคตามเพื่อนร่วมงานโดยไม่ได้รับรู้ผลร้ายอย่างแท้จริงของการสูบบุหรี่ ทั้งนี้การแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพคือจะต้องทำทั้งการปรับเปลี่ยนสภาพการจ้างการทำงานให้มีความผ่อนคลายมากขึ้น และการให้ความรู้ในเรื่องผลร้ายของการสูบบุหรี่ทั้งต่อส่วนตัวและส่วนรวมอย่างจริงจัง



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ