กฤษฏิ์ จิระเกียรติวัฒนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ของก้อง 24 จำกัด ผู้ก่อตั้ง มิลเลนเนียล ช้อยส์ (Millennials Choice) และเจ้าของธุรกิจร้านตัดผม ภายใต้แบรนด์ ไฮฟ์ ซาลอน กล่าวว่า ในฐานะที่ตัวเองเป็นเจ้าของธุรกิจร้านตัดผมแบรนด์ ไฮฟ์ ซาลอน ปัจจุบันมีอยู่ด้วยกัน 3 สาขา (ได้แก่ เซ็นทรัลเอ็มบาสซี เซ็นทรัลเวิลด์ และโครงการเวลา สินธร) และในปีหน้ามีแผนว่าจะเปิดเพิ่มอีก 1 สาขา และส่วนธุรกิจมิลเลนเนียล ช้อยส์ ซึ่งหลายคนอาจคุ้นหู เพราะเป็นชื่อแฟชั่นอีเว้นต์ประจำปีที่รวมพลทีนไอดอลและนักแสดงชั้นนำของไทยมาร่วมเดินพรมแดง ซึ่งเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นมาเพื่อดำเนินธุรกิจด้านคอนเทนต์บันเทิง ให้บริการครบวงจรทั้งออร์แกไนเซอร์ อีเว้นต์ โปรดักชั่น และบริการจัดหาอินฟลูเอ็นเซอร์/KOL สายแฟชั่นและไลฟ์สไตล์
“เรื่องธุรกิจร้านทำผมก็ยังคงดำเนินต่อไป ประกับที่ผ่านมาได้เกิดไอเดียใหม่ๆ มาต่อยอดธุรกิจหรือคอนเนคชั่นที่ตนเองมี เพราะเราไม่ได้มองว่าเราเป็นเอเจนซี่ แต่เราเป็นมากกว่านั้น เราคือ One-Stop Service ที่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าในการนำเสนอคอนเทนต์ผ่านช่องทางและรูปแบบต่างๆ ที่เข้าถึงกลุ่มมิลเลนเนียล ซึ่งเป็นกลุ่มที่เราถนัด มีคอนเนคชั่น และมองว่าจะเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลมากในอนาคต โดยจุดเด่นของเจนนี้ คือ มีแพชชั่น และพร้อมที่จะจ่ายหรือทุ่มเทเพื่อสิ่งที่ชอบ ล่าสุดจึงได้ตัดสินใจเปิดนิตยสารแฟชั่นแนวใหม่ ชื่อว่า Mint เพื่อเจาะกลุ่มผู้อ่านเจนมิลเลนเนียลโดยเฉพาะเป็นครั้งแรกของไทย ถึงแม้หลายคนจะมองว่าเสี่ยงที่กระโจนมาทำธุรกิจสื่อในช่วงนี้ แต่เรามั่นใจว่ามาถูกทางด้วยคอนเซ็ปต์ที่ไม่เหมือนใคร มีโมเดลธุรกิจที่ชัดเจน และยังได้ ป้อม - สรญา วัฒนเจียมวงษ์ อดีตบรรณาธิการนิตยสารหัวนอกชื่อดัง มาเสริมทัพช่วยดูแลในภาพรวมอีกด้วย”
กฤษฏิ์ กล่าวต่อว่า ในช่วงที่ร้านต้องปิดร้านตัดผมเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เกิดโอกาส มีเวลามาลุยโปรเจกต์ Mint Magazine ซึ่งตอนแรกวางแผนว่าจะเปิดตัวปลายปี แต่พอเจอโควิด-19 เลยเป็นตัวเร่งให้ทำงานไวขึ้น สามารถเปิดตัวได้ตั้งแต่กลางปี โดยเรามั่นใจกับธุรกิจนี้ ไม่ได้มองว่าเสี่ยง เพราะด้วยคอนเซ็ปต์ที่ชัดเจน คิดมาแล้วว่าจะบริหารพื้นที่ทั้งในเล่ม และแพลตฟอร์มต่างๆ อย่างไรให้ตอบโจทย์ลูกค้าแบรนด์ กลยุทธ์ของเราไม่ได้หวังเม็ดเงินจากการซื้อพื้นที่โฆษณา แต่มองไปถึงการต่อยอดในการทำคอนเทนต์ร่วมกับแบรนด์ในรูปแบบต่างๆ โดยมีเหล่าอินฟลูเอ็นเซอร์ที่เรามีคอนเนกชั่นมาเป็นสื่อกลางในการสื่อสารในรูปแบบที่แปลกใหม่ ตอบโจทย์ว่ากลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นเจนมิลเลนเนียม พวกเขาเหล่านั้นต้องการอะไร
ด้าน สรญา วัฒนเจียมวงษ์ Publisher Co-Founder นิตยสาร Mint กล่าวเสริมว่า จุดแข็งของ Mint Magazine คือเราเป็นนิตยสารแฟชั่นไทยหัวแรกที่จับกลุ่มมิลเลนเนียล ชูกลยุทธ์ “Fanbase Economy” หรือ ใช้อินฟลูเอ็นเซอร์หรือ KOL ที่มีฐานแฟนเป็นสื่อกลางในการพูดแทนแบรนด์ต่างๆ ด้วยคอนเทนต์ที่หลากหลายแต่โดนใจผู้อ่าน ซึ่วเราวางแผนที่จะออกนิตยสารเหมือนคอลเลกชั่นแฟชั่น คือปีละ 4 ฉบับ แต่หากในอนาคตมีเสียงเรียกร้องมากขึ้น เราอาจจะออกถี่ขึ้น โดยศิลปินที่ขึ้นปกจะเน้นที่มีฐานแฟน เช่น ปกแรก เป็น 4 หนุ่ม F4 เวอร์ชั่นไทย ซึ่งขึ้นปกของเราเป็นที่แรกหลังจากเปิดตัว ส่วนปกที่ 2 เป็นการกลับมารวมตัวสุดเอ็กซ์คลูฟซีฟของ 9 หนุ่ม 9x9 (ไนน์บายนาย) เป็นต้น นอกจากคอนเทนต์ที่เราเสิร์ฟครบทุกแพลตฟอร์ม เรายังมีสื่อออฟไลน์ ซึ่งทำหน้าที่เหมือนโฟโต้บุ๊ค ควรค่าแก่การเก็บสะสมให้กลุ่มผู้อ่าน โดยกิมมิคของเรา คือศิลปินบนปกจะมาแจกนิตยสารให้กับผู้อ่านถึงมือด้วยเพื่อเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่อย่างแท้จริง