เลือกตั้งท้องถิ่น… โจทย์ยากที่รอการเปลี่ยนแปลง

วันอังคารที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2563

เลือกตั้งท้องถิ่น…  โจทย์ยากที่รอการเปลี่ยนแปลง


 

โคโรนาไวรัส หรือ “โควิด-19  กลับมาระบาดในวงกว้างในประเทศไทย “รอบสอง” ครั้งนี้ เป็นจังหวะที่ไม่ดีนัก ทั้งกับการเมืองที่มีการเลือกตั้งท้องถิ่น ทั่วประเทศ 76 จังหวัดพอดี และทั้งกับเศรษฐกิจที่เข้าสู่ช่วงเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่

ความตึงเครียดของสถานการณ์ยังมาจากปัจจัยทางภูมิศาสตร์ซึ่งพื้นที่การระบาดอยู่ใกล้กรุงเทพฯ ศูนย์รวมของกิจกรรมทุกด้านในประเทศจังหวัดสมุทรสาครที่พบคลัสเตอร์ใหม่ของการระบาดจึงต้องล็อกดาวน์แทนที่จะเคาต์ดาวน์ ตั้งแต่วันที่ 19 ธ.ค. 2563 ถึงวันที่ 3 ม.ค. 2564

สถานการณ์ดังกล่าวนี้น่าจะทำให้รัฐบาลต้องปรับเปลี่ยนแผนงานและนโยบายต่างๆ ช่วงส่งท้ายปีอย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันการระบาดเพิ่มเติมและเพื่อพยุงเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ให้ทรุดลงไปอีก

เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน แผนรับมือของรัฐต้องเปลี่ยนให้เหมาะสม และทันการณ์ ก่อนหน้าเกิดการระบาดที่จ.สมุทรสาคร รัฐบาลสนับสนุนให้ประชาชนเดินทางไปท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดยาวปีใหม่ และให้บริษัทเอกชนร้านค้าต่างๆ จัดงานเคาต์ดาวน์ได้ตามปกติ แต่สถานการณ์ขณะนี้เปลี่ยนไป รัฐบาลควรต้องแจ้งผลการประเมินและแนวทางการรับมืออย่างชัดเจนในแต่ละพื้นที่ของประเทศ จะทำอย่างไรเพื่อหยุดเชื้อระบาด และจะทำอย่างไรกับเศรษฐกิจที่เข้าสู่ปีใหม่

ในอีกด้านหนึ่ง “การเมืองสนามเล็ก” คือ เลือกตั้งสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และนายก อบจ.เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ที่ผ่านมา ซึ่งถูกจับตามองจากทุกฝ่าย แม้ผลการเลือกตั้งออกมาอย่างไม่เป็นทางการ โดยอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลจาก 76 จ.ขณะที่แกนนำพรรคการเมือง/กลุ่มการเมืองที่ส่งผู้สมัคร ทยอยออกมาแถลงขอบคุณประชาชนที่ลงคะแนนเสียงให้ โดยเฉพาะ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานคณะก้าวหน้า ที่เอ่ยคำ “ขอโทษที่ไม่สามารถเข้าไปดำรงตำแหน่งนายก อบจ. แม้แต่ 1 จ.” แต่ขอบคุณคะแนนเสียงกว่า 2.6 ล้านคะแนนที่กาให้ผู้สมัครของกลุ่ม

ผลการนับคะแนนเลือกตั้ง อบจ. อย่างไม่เป็นทางการ ชี้ให้เห็นว่า 1 พรรคการเมืองใหญ่ และ 1 กลุ่มการเมืองที่โหมหาเสียงอย่างหนักด้วยการจัดทำแคมเปญระดับชาติ ไม่ประสบความสำเร็จนักในศึกเลือกตั้งท้องถิ่นที่เกิดขึ้นในรอบ 6 ปีหลังรัฐประหารเมื่อปี 2557 เนื่องจากไม่สามารถเบียดเข้าไปทำหน้าที่ “รัฐบาลท้องถิ่น” ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ หากเทียบกับโครงข่ายการเมืองระดับจังหวัดและท้องถิ่นซึ่งถูกเรียกขานว่า “บ้านใหญ่” ที่ยังยึดกุมเก้าอี้ “นายกเล็ก” ไว้ได้ในหลายพื้นที่

ข้อจำกัดทางกฎหมายตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 ห้ามไม่ให้ข้าราชการการเมือง ส.ส. ส.ว. เป็นผู้ช่วยหาเสียง ทำให้มีเพียง 2 พรรคการเมือง และ 1 กลุ่มการเมือง ส่งผู้สมัครชิงเก้าอี้ในนามพรรค/กลุ่ม ประกอบด้วย คณะก้าวหน้า 42 จ. พรรคเพื่อไทย (พท.) 25 จ. และพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) 2 จ. ส่วนผู้สมัครที่เหลือลงสนามในนามอิสระ แม้มีนามสกุลเดียวกับ รมต. และ ส.ส. ก็ตาม

ผลการนับคะแนนเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการใน 76 จังหวัด พบว่า “คณะก้าวหน้า” ภายใต้การนำของ “นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ไม่สามารถปักธงในสนามเลือกตั้งนายก อบจ. ได้แม้แต่จังหวัดเดียว ซึ่งเขายอมรับว่า "ทำงานไม่มากพอ" แต่ถึงกระนั้น คณะก้าวหน้าให้ข้อมูลว่าได้ ส.อบจ. 57 คน ใน 20 จังหวัด

สำหรับว่าที่นายก อบจ. ที่ถูกเข้าใจว่าอยู่ใต้ "เงา" ของ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) มีอย่างน้อย 9 คน แม้ทั้ง 2 พรรคมีมติไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคก็ตาม

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”นายกรัฐมนตรี และ รมว.กระทรวงกลาโหม ได้ออกมาสดงความยินดีกับผู้ชนะการเลือกตั้ง อบจ. พร้อมชี้ว่า “นี่คือการใช้อำนาจตามระบอบประชาธิปไตย” เมื่อการเลือกตั้งผลออกมาแล้ว ก็ขอให้ทุกคนเตรียมการบริหารท้องถิ่นให้ดี ทั้งเรื่องของการพัฒนาวิธีการบริหาร การใช้จ่ายงบประมาณ การจัดทำแผนให้สอดคล้องกับส่วนกลางและส่วนภูมิภาค

ขณะที่ “ประเสริฐ จันทรรวงทอง” เลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) แสดงความพึงพอใจเป็นอย่างยิ่งกับผลการเลือกตั้งที่ พท. ชนะใน 9 จ. โดยถือว่า “เราประสบชัยชนะ” โดยเฉพาะในภาคเหนือและอีสานที่ผู้สมัครนายก อบจ. ของพรรคชนะเป็นส่วนมาก แต่ในภาคกลาง แม้ผู้สมัครได้พยายามทำงานเต็มที่ แต่เนื่องจากเป็นคนหน้าใหม่ จึงไม่ได้รับการเลือกตั้ง แต่ก็ถือว่าได้รับการตอบรับที่มีนัยที่ดี

ฟาก พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ชัยชนะของ ร.ต.ไพเจน มากสุวรรณ์ ผู้สมัครนายก อบจ.สงขลา ของพรรค ที่มีเหนือ พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล เพื่อนร่วมรุ่น ตท.12 ของนายกฯ ทำให้ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้า ปชป. นำทีมแถลงขอบคุณชาวสงขลาที่ลงคะแนนเสียงให้ผู้สมัครของพรรค พร้อมระบุว่า "มีภารกิจสำคัญในการปฏิบัติตามสัญญาที่ให้ไว้กับพี่น้องประชาชนชาวสงขลาทุกคน ไม่ว่าจะเลือกหรือไม่เลือกผู้สมัครของพรรคก็ตาม" และบอกว่า พรรคได้รับการตอบรับอย่างมีนัยสำคัญ และเป็นกำลังใจให้กับพรรคเดินหน้าทำงานทางการเมืองต่อไป

หากจะวิเคราะห์ เบื้องลึก 5​ สาเหตุที่ “คณะก้าวหน้า” โค่นล้มระบอบอิทธิพลในสนาม อบจ.ไม่สำเร็จ เป็นเพราะ

ประชาชน​ กลุ่มคนวัยทำงาน​ นักศึกษา​ ออกมาใช้สิทธิ์น้อย​ สถานศึกษาระดับอาชีวะบางแห่งให้นักศึกษามาเรียนหนังสือในวันเลือกตั้ง (20ธ.ค.) มีการเกณฑ์คนสูงอายุ​ กลุ่มอนุรักษนิยมออกมาใช้สิทธิ์มาก

นอกจากนี้ ในทุกอำเภอ​ ทุกตำบล​ กลายเป็น “เขตกระสุนตก”​ หลังจาก “นายใหญ่” สั่งให้หัวคะแนนใหญ่ลงพื้นที่แจกจ่ายเสบียงกรังให้นายก-กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน​ ให้ยิงกระสุนแบบไม่ต้องเกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม ขณะเดียวกันนักการเมืองระดับบิ๊กเนมลงกระชับพื้นที่​เอง สั่งการให้ “นายกฯ” ในสังกัด​ ใช้วิธีเดิมๆ​ ยิงกระสุนให้​ “ขาประจำ” แบบ​ “ลงก่อนจ่ายทีหลัง” ในช่วง​ 3​-4 วัน​สุดท้ายก่อนเลือกตั้ง​ ส่งผลให้คะแนน "คณะก้าวหน้า" ลดลงทุกอำเภอ

ที่สำคัญ “กลุ่มบ้านใหญ่” อยู่ในสภาวะ​ “หลังพิงฝา” แพ้ไม่ได้​ จึงต้องระดมสรรพวุธออกมาใช้จ่ายเต็ม​ ว่ากันว่ารวมเบ็ดเสร็จใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า​ 200​ โล​ จังหวัดใหญ่ๆ ใช้ถึง​ 500-600​ โล

นี่จึงเป็นเครื่องที่ชี้ให้เห็นว่า “คณะก้าวหน้า” คงต้องสรุปบทเรียนอย่างจริงจังในครั้งนี้ “การเมืองท้องถิ่น” นั้นแตกต่างจากการเมืองระดับชาติ ในท้องถิ่นระบบอุปถัมภ์-ผลประโยชน์ ต่างตอบแทนฝังรากลึกในชีวิตประจำวันของผู้คน ปัจจุบัน คนรุ่นเก่ายังคงครอบงำในระดับท้องถิ่น อุดมการณ์การเมืองมีความสำคัญน้อย

เป็นการยืนยันข้อสังเกตของนักวิชาการที่ว่า แต่ไหนแต่ไรมา การเปลี่ยนแปลงในประเทศไทยนั้นเริ่มต้นจากข้างบนระดับชาติลงสู่ท้องถิ่นเสมอ ไม่ใช่จากฐานรากไปสู่ข้างบน…!!

 



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ