กรมทางหลวงชนบท เล็งผุดถนนแนวใหม่ แก้ปัญหาจราจร เชื่อมโยงโครงข่ายอย่างคล่องตัว

วันอังคารที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2564

กรมทางหลวงชนบท เล็งผุดถนนแนวใหม่ แก้ปัญหาจราจร เชื่อมโยงโครงข่ายอย่างคล่องตัว


ปัจจุบันอัตราการเจริญเติบโตในพื้นที่ต่างๆ เริ่มมีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเมืองหลัก หรือเมืองรอง รวมถึงพื้นที่ชนบท ดังนั้น จึงสังเกตุเห็นถนนสายต่างๆ เกิดขึ้นตามมาอย่างมากมาย แน่นอนว่า ถนนสายชนบท ผู้ที่มีบทบาทสำคัญนั้นก็คือ กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ที่ได้จัดการเชิงรุกในการผุดถนนต่างๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถสัญจรไปได้อย่างสะดวก ไม่ใช่เพียงแค่ถนนชนบทเท่านั้น ทช.ยังมีบทบาทสำคัญในการร่วมแก้ไขปัญหาการจราจรและคอขวด รวมถึงการผุดถนนแนวใหม่ เพื่อร่วมสนับสนุนการขนส่งเข้าสู่สนามบินด้วย

เล็งแก้รถติด-คอขวด ถนนราชพฤกษ์

นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท ให้รายละเอียดว่า ปัจจุบันอัตราการเจริญเติบโต ของการใช้ที่ดินในพื้นที่จังหวัดนนทบุรีฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีการพัฒนาและเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะริมเขตทางของถนนราชพฤกษ์ ทำให้ถนนราชพฤกษ์ไม่สามารถรองรับการจราจรที่มีปริมาณหนาแน่น ในปัจจุบันได้โดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน ส่งผลให้ประสิทธิภาพของถนนราชพฤกษ์ลดลง เกิดปัญหาด้านความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนน และมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นเป็นประจำ โดยเฉพาะบริเวณสะพานข้ามคลองมหาสวัสดิ์ที่ยังมีสภาพเป็นคอขวดมีการจราจรติดขัด เนื่องจากเขตทางไม่เพียงพอที่จะก่อสร้างทางขนานในรูปแบบทั่วไปได้ ทช.จึงต้องดำเนินการกำหนดรูปแบบสะพานข้ามคลองมหาสวัสดิ์ให้อยู่ในเขตทางเดิม ซึ่งจะสามารถลดปัญหาสภาพคอขวดและการจราจรในพื้นที่ได้

ใช้งบ 1.2 พันล้าน ผุดสะพานข้ามคลองมหาสวัสดิ์

ทั้งนี้ ทช.ได้เตรียมแผนดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานข้ามคลองมหาสวัสดิ์ ถนนราชพฤกษ์โดยจะก่อสร้างเป็นสะพานข้ามคลองมหาสวัสดิ์ขนาด 2 ช่องจราจร ต่อทิศทาง บนทางขนานถนนราชพฤกษ์ ซึ่งโครงสร้างเสาและโครงสร้างส่วนบนจะเป็นโครงสร้างเหล็ก เพื่อให้งานก่อสร้างรวดเร็วและมีผลกระทบกับการจราจรบนถนนราชพฤกษ์ให้น้อยที่สุด มีจุดเริ่มต้นงานก่อสร้างประมาณ กม.ที่ 12+850 และสิ้นสุดงานก่อสร้างประมาณ กม.ที่ 14+950 สะพานฝั่งทิศตะวันออกยาวประมาณ 1,637 เมตร และสะพานฝั่งทิศตะวันตกยาวประมาณ 1,370 เมตร (ไม่รวมโครงสร้างปรับการทรุดตัว)

ปัจจุบันโครงการดังกล่าวได้ดำเนินการสำรวจออกแบบและประมาณการแล้วเสร็จ ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำแผนในการของบประมาณ คาดว่าจะได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างในช่วงต้นปี 2565 และจะดำเนินการก่อสร้างในปี 2565 ถึง 2567 ต่อไป โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณในการก่อสร้างรวม 1,200 ล้านบาท

ตัดถนนแนวใหม่-ทางต่างระดับ รับขนส่งสุวรรณภูมิ

นายปฐม กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา ทช.ได้ดำเนินการก่อสร้างถนนทางหลวงชนบทสาย สป.2003 จังหวัดสมุทรปราการ โดยมีจุดเริ่มต้นที่ถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 34 (กม.ที่ 26) ไปสิ้นสุดที่ กม.ที่ 8+900 ใกล้กับทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 จังหวัดสมุทรปราการ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเชื่อมโยงโครงข่ายในพื้นที่ให้สมบูรณ์ เสริมประสิทธิภาพระบบการขนส่ง รองรับปริมาณการจราจรบริเวณโดยรอบท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและการเติบโตด้านเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ ตลอดจนเพิ่มความสะดวกรวดเร็วปลอดภัยให้กับประชาชนมากยิ่งขึ้น

ดังนั้น ทช.จึงได้ดำเนินโครงการถนนสายแยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 34 (กม.ที่ 26) เชื่อมกับถนนทางหลวงชนบทสาย ฉช.3001 พร้อมทางต่างระดับ จังหวัดสมุทรปราการ เป็นโครงการตัดถนนแนวใหม่ ขนาด 4 ช่องจราจร พร้อมไหล่ทางและเกาะกลาง มีจุดเริ่มต้นโครงการบริเวณ กม.ที่ 8+900 แนวถนนมุ่งหน้าไปทางทิศเหนือ บริเวณ กม.ที่ 9+833 ก่อสร้างสะพานต่างระดับข้ามทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 (ชลบุรีสายใหม่) ความยาว 381 เมตร บริเวณ กม.ที่ 10+626 ก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กข้ามคลองกาหลง ความยาว 330 เมตร บริเวณ กม.ที่ 11+798 ก่อสร้างสะพานข้ามคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต ความยาว 493 เมตร มีจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณ กม.ที่ 13+764 แนวถนนบรรจบกับถนนทางหลวงชนบทสาย ฉช.3001 (ถนนหลวงแพ่ง หรือ ถนนเทพราช – ลาดกระบัง) รวมระยะทาง 4.864 กิโลเมตร

คาดใช้งบเวนคืนที่ดิน 230 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันโครงการดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนการเสนอออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืน โดยคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไปแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างรอคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบ จากนั้นจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อประกาศใช้ลงราชกิจจานุเบกษาต่อไป ทั้งนี้ คาดว่าโครงการดังกล่าวจะใช้พื้นที่เวนคืนประมาณ 122 ไร่ อาคารสิ่งปลูกสร้าง 65 หลัง และคาดว่าจะใช้งบประมาณในการเวนคืนที่ดิน/อสังหาริมทรัพย์ จำนวน 230 ล้านบาท

อบต.ของบช่วยสร้างสะพานข้ามลำมาศ 14 กม.

อธิบดีกรมทางหลวงชนบท กล่าวด้วยว่า องค์การบริหารส่วนตำบลตลาดไทร ได้ขอรับการสนับสนุนโครงการก่อสร้างสะพานข้ามลำมาศ (สะพานดอนทะยูง-สำโรง) อำเภอชุมพวง จังหวัดนครราชสีมา เพื่อเชื่อมระหว่างบ้านดอนทะยูง ตำบลตลาดไทร อำเภอชุมพวง กับบ้านสำโรง ตำบลงิ้ว อำเภอห้วยแถลง เป็นการทดแทนสะพานเดิมที่กว้างเพียง 1.50 เมตร รถยนต์ไม่สามารถข้ามสะพานได้ ประชาชนในพื้นที่ต้องใช้สะพานข้างเคียงที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 14 กิโลเมตร ทำให้ไม่สะดวกและเสียเวลาในการเดินทาง

ร่นระยะทาง-ขนส่งพืชผลทางการเกษตรได้สะดวก

โดยในปี 2562 ทช.จึงได้ดำเนินการก่อสร้างสะพานดังกล่าว เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ประชาชนในพื้นที่ ส่งเสริมการคมนาคมขนส่งให้ขยายตัวอย่างมีระบบ เชื่อมโยงระหว่าง อำเภอ ตำบล และหมู่บ้านได้ทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ ให้ประชาชนสามารถเดินทาง ขนส่งพืชผลทางการเกษตรได้สะดวกปลอดภัย ลดระยะเวลา ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เนื่องจากสะพานดังกล่าวสามารถร่นระยะทางได้ประมาณ 14 กิโลเมตร นอกจากนี้ ทช.ยังได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนก่อสร้างเปิดโอกาสให้ภาคประชาชน ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในโครงการก่อสร้างดังกล่าวเพื่อให้ตรงกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ให้มากที่สุด

สะพานฯ ก่อสร้างเป็นแบบคอนกรีตเสริมเหล็ก ยาว 170 เมตร ผิวจราจรกว้าง 9 เมตร ก่อสร้าง ถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ยาว 719 เมตร ผิวจราจรพร้อมไหล่ทาง กว้าง 6-7 เมตร ติดตั้งป้ายจราจร ตีเส้นผิวจราจร วางท่อ และปลูกหญ้า ใช้งบประมาณในการก่อสร้างรวม 38.674 ล้านบาท ปัจจุบันสะพานดังกล่าวได้ดำเนินการก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ เร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้ และได้เปิดให้ประชาชนได้ใช้สัญจรเรียบร้อยแล้ว



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ