กองทัพเมียนมากับอนาคต..ทวาย

วันอังคารที่ 02 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

กองทัพเมียนมากับอนาคต..ทวาย


ท่ามกลางสถานการณ์ที่ร้อนระอุในเมียนมา ภายหลังกองทัพสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาเข้ายึดอำนาจ พร้อมประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศเป็นเวลา 1 ปี สร้างตะลึงพรึงเพริดไปทั่วโลก

              หลายโครงการที่เป็นความร่วมมือระหว่างประเทศของเมียนมาถูกจับตามองว่าจะขับเคลื่อนต่อไปอย่างไร

              หนึ่งในนั้นคือโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย

              ซึ่งเป็นความร่วมมือของรัฐบาลเมียนมา กับ รัฐบาลไทย

โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย เป็นโครงการขนาดใหญ่ เพียบพร้อมด้วยเขตอุตสาหกรรม ที่อยู่อาศัย และ ท่าเรือน้ำลึกเป็น 1 ใน 3 ท่าเรือน้ำลึกสำคัญของเมียนมา

              หนึ่งคือ ท่าเรือน้ำลึก ติละวา ซึ่งเป็นความร่วมมือของรัฐบาลเมียนมากับรัฐบาลญี่ปุ่น

              สองคือท่าเรือน้ำลึก เจ้าผิ่ว เป็นความร่วมมือของรัฐบาลเมียนมากับรัฐบาลจีน

              และ สามคือ ท่าเรือน้ำลึกทวาย เป็นความร่วมมือของรัฐบาลเมียนมากับรัฐบาลไทย

พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ตั้งอยู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมียนมา ห่างจากเมืองทวาย ประมาณ 30 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ถึง 400,000 ไร่ หรือ 250 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย ท่าเรือน้ำลึก 2 ท่า นิคมอุตสาหกรรม ที่พักอาศัย ศูนย์ราชการ และระบบสาธารณูปโภคอำนวยความสะดวกต่างๆ

บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ได้รับสัมปทานในการพัฒนาโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย นิคมอุตสาหกรรม รวมถึงเส้นทางคมนาคมเชื่อมระหว่างประเทศไทยกับเมียนมา โดยได้ร่วมลงนามใน Framework Agreement กับ Myanma Port Authority, Ministry of Transport ของเมียนมาเมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2553

แต่ด้วยความที่เป็นอภิมหาโปรเจ็กต์ขนาดใหญ่ การดำเนินงานจึงมีปัญหาอุปสรรคและรายละเอียดด้านพื้นที่ที่ต้องบริหารจัดการมากมาย ทำให้เงื่อนเวลาไม่เป็นไปตามเป้าหมาย นำมาสู่การบอกเลิกสัญญาจากคณะกรรมการบริหารงานพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา หรือ Dawai Special Economic Zone Management Committee :DSEZMC กับ บริษัทอิตาเลียนไทย บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ หรือ ITD จึงส่งหนังสือขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลไทยให้เจรจากับรัฐบาลเมียนมา พิจารณาการบอกยกเลิกสัมปทานโครงการทวายดังกล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงเรื่องนี้ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2563 ว่า รัฐบาลจะเดินหน้าเจรจากับรัฐบาลเมียนมาถึงโครงการดังกล่าวโดยได้มอบหมายนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน เป็นประธานคณะกรรมการร่วมระดับสูงระหว่างไทย-เมียนมา เพื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง (JHC) ไปดูกติกาต่างๆเกี่ยวกับการคุ้มครองการลงทุนตามสัญญาประชาคมอาเซียน และมอบหมายให้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เป็นคณะกรรมการประสานงานร่วมระหว่างไทย-เมียนมา หารือกับทางเมียนมาโดยเร็ว

นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พรรค กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า การยกเลิกสัญญาบริษัทอิตาเลียนไทยไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลเมียนมายกเลิกโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย เพียงแต่เป็นการรีเซ็ตโครงการเท่านั้น จึงเห็นด้วยที่สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้เจรจากับรัฐบาลเมียนมา เพื่อเดินหน้าโครงการทวายต่อไป

เนื่องจากโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึกทวาย เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยและอาเซียนเพราะเป็นเส้นทางโลจิสติกส์ฝั่งตะวันตกของไทย ซึ่งวาง “กาญจนบุรี” เป็นประตูตะวันตกและโลจิสติกส์ฮับเชื่อมโยงแนวระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ (SEC) ระหว่างเมียนมา–ไทย–กัมพูชา–เวียดนาม สู่ตลาด 3 ทวีป คือเอเซียใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกาและยุโรป โดยไม่ต้องผ่านช่องแคบมะละกาช่วยลดระยะเวลาและต้นทุนการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งการท่องเที่ยวก็ได้ประโยชน์อย่างมาก

รัฐบาลต้องเร่งเจรจาเพื่อเดินหน้าโครงการนี้ต่อ เราต้องเริ่มวันนี้เพื่ออนาคตยุคหลังโควิด (Post COVID 19)นายอลงกรณ์ กล่าว

พร้อมกันนี้ ยังเสนอแนะแนวทางการเจรจา 3 ประการเป็นกรอบและเป้าหมายระยะเร่งด่วนในช่วงรีเซ็ตโครงการกับรัฐบาลเมียนมาดังนี้

1. เร่งพัฒนาเส้นทางโลจิสติกส์ทั้งถนน รางรถไฟ เครื่องบินและการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวาย เชื่อมโยงจีน เวียดนาม ลาว กัมพูชา ไทยและเมียนมา สู่ตลาดเอเซียใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกาและยุโรป เนื่องจากได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมามากแล้ว

2. เปิดกว้างการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมของไทยลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมกาญจนบุรีและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ภายใต้การพัฒนาร่วมระเบียงเศรษฐกิจตะวันตก (Western Economic Corridor) กับระเบียงเศรษฐกิจใต้ของเมียนมา

3.ดึงความร่วมมือจากจีน ญี่ปุ่น อินเดีย ตะวันออกกลาง เวียดนาม ลาว และกัมพูชามาสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากโครงการนี้ โดยเฉพาะด้านการขนส่งโลจิสติกส์

“ข้อเสนอนี้สอดคล้องกับแผนแม่บทการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมขนส่งของอาเซียน (ASEAN Connectivity) ซึ่งได้รับการผลักดันจากกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงและญี่ปุ่นมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเปิดเส้นทางการค้าและประตูเชื่อมเศรษฐกิจฝั่งตะวันตกแห่งใหม่ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง(Greater Mekong Sub-region:GMS) โดยท่าเรือน้ำลึกทวายจะเป็นประตูการค้าฝั่งตะวันตกของภูมิภาค สร้างทางลัดโลจิสติกส์เชื่อมโยงภูมิภาคอาเซียนกับโลกตะวันออกและโลกตะวันตก” นายอลงกรณ์ กล่าว

ปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ที่มีท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การขนส่งทางน้ำสามารถขนส่งสินค้าจากเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ผ่านเข้ามาทางจังหวัดกาญจนบุรี เชื่อมเข้าท่าเรือกรุงเทพฯ สู่ แหลมฉบัง ข้ามไปกัมพูชา เวียดนาม และจีนตอนใต้ รวมถึงการขนส่งสินค้าจากอีอีซีไปยังท่าเรือทวาย เพื่อส่งต่อไปยังตลาดอินเดีย-ตะวันออกกลาง และกลุ่มประเทศตะวันตก โดยไม่ต้องผ่านช่องแคบมะละกาแม้ว่าขณะนี้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเมียนมาแต่ไม่ว่าขั้วการเมืองในเมียนมาจะเปลี่ยนแปลงในทิศทางใด

ย่อมไม่มีใครอยากเห็นโครงการเขตพัฒนาพิเศษทวาย สะดุดหรือ ปิดฉากอย่างแน่นอนเพราะแรงสั่นสะเทือนไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะ ไทยกับ เมียนมาเท่านั้น แต่มีเอฟเฟกต์ถึงระบบโลจิสติกส์ทั่วโลก!!!



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม โทร : 0893284192 , ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ