การยึดอำนาจของกองทัพเมียนมาเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา พร้อมควบคุมตัวนางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐและผู้นำคนอื่นๆ พร้อมกับประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศเป็นเวลา 1 ปี ย่อมสร้างความขุ่นใจให้กับประเทศที่ยึดประชาธิปไตยเป็นที่ตั้งอย่างสหรัฐอเมริกา
กองทัพเมียนมาอ้างเหตุผลในการก่อรัฐประหารในครั้งนี้ว่า เกิดจากการทุจริตในการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้พรรคเอ็นแอลดีของนางออง ซาน ซูจี คว้าชัยชนะอย่างถล่มทลาย ขณะที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประสบความล้มเหลวในการจัดการเลือกตั้ง ท่ามกลางความผิดปกติในรายชื่อของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง
พร้อมๆกับการประกาศภาวะฉุกเฉินในเมียนมา โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ ได้ออกมาสังสัญญาณว่าจะใช้มาตรการคว่ำบาตรกับเมียนมาอีกครั้ง เพื่อตอบโต้การรัฐประหารครั้งนี้ พร้อมเรียกร้องให้ประชาคมโลกร่วมกดดันให้ทหารเมียนมายอมทิ้งอำนาจลง
ปธน.สหรัฐ ประณามการก่อรัฐประหารและควบคุมตัวนางออง ซาน ซูจี ว่าเป็นการกระทำที่เป็นการบ่อนทำลายประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม ดังระบุในแถลงการณ์ว่า "ประชาคมโลกควรประสานเสียงเป็นหนึ่งเดียว เพื่อกดดันให้กองทัพเมียนมายอมสละอำนาจที่ยึดมา พร้อมปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมตัวไว้"
ไบเดน กล่าวอีกว่า สหรัฐได้ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรเมียนมา เมื่อทศวรรษที่ผ่านมาหลังประเทศมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น การถอยหลังจากสิ่งนี้ทำให้เราจำเป็นต้องทบทวนกฎหมายและอำนาจในการคว่ำบาตรทันที
กระนั้นก็ตาม ในอีกมุมหนึ่งมองว่า การประกาศคว่ำบาตรเมียนมา อาจทำให้สถานการณ์บานปลายไปมากกว่าที่คิด
ดังที่ นายยาสึฮิเดะ นากายามะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมของญี่ปุ่น ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า ถ้าชาติประชาธิปไตยใช้มาตรการโต้ตอบการทำรัฐประหารในเมียนมาจนกระทบต่อความสัมพันธ์กับเหล่านายพลผู้ทรงอิทธิพล ก็เสี่ยงที่จะทำให้เมียนมาตกอยู่ในอิทธิพลของจีน
"ถ้าเราไม่จัดการเรื่องนี้ไม่ดี เมียนมาอาจจะยิ่งห่างเหินกับชาติประชาธิปไตยไปมากกว่าเดิม และเข้าร่วมกับจีนแทน" นากายามะ ให้เหตุผล
“ความเคลื่อนไหวใด ๆ ที่จะระงับโครงการความร่วมมือกับกองทัพเมียนมาอาจส่งผลให้จีนมีอิทธิพลมากขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพเมียนมากับกองทัพจีนจะยิ่งแน่นแฟ้นขึ้น และพวกเขาจะยิ่งออกห่างจากประเทศเสรี เช่น สหรัฐ ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร" นากายามะกล่าว
นั่นคือความสุ่มเสี่ยงต่อความมั่นคงในภูมิภาคที่สาหัสกว่าการรัฐประหารหลายเท่านัก