อุตสาหกรรมยากำลังกลายเป็นอุตสาหกรรมเนื้อหอมที่สุดในโลก จากการะบาดของไวรัสโควิด-19 และโรคร้ายต่างๆที่โหมกระหน่ำผู้คนบนโลก ส่งให้บริษัทยักษ์ใหญ่ต่างหันมาจับตลาดนี้กันอย่างคึกคัก
งานวิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ระบุว่า การลงทุนที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมยาในปี 2564-2565 มีแนวโน้มขยายตัว โดยมีปัจจัยหนุนมาจาก (1) ความต้องการยาที่เพิ่มขึ้น (2) นโยบายสนับสนุนด้านการลงทุนของภาครัฐ โดยผู้ผลิตจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 5 ปี ภายใต้มาตรการส่งเสริมการลงทุนของ BOI และ (3) อุตสาหกรรมการผลิตยาเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ของภาครัฐ (New S-curve) ที่มีแผนสนับสนุนการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่ภาครัฐสนับสนุนทั้งด้านงบประมาณการวิจัยและสิทธิประโยชน์ทางภาษี
ปัจจัยดังกล่าวจะช่วยขับเคลื่อนให้การลงทุนกระเตื้องขึ้นหลังซบเซาในปี 2563 โอกาสในการพัฒนาศักยภาพการผลิตของไทยเพื่อลดการพึ่งพายานำเข้า ภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนให้ผู้ผลิตยาภายในประเทศผลิตยาต้นตำรับที่มีมูลค่าสูงหรือยาที่หมดสิทธิบัตร (เช่น กลุ่มยาลดความดันโลหิตสูง ยาโรคเบาหวาน และยาปฏิชีวนะ เป็นต้น) รวมถึงยาจากชีววัตถุที่ความต้องการใช้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เช่น ยาต้านมะเร็ง
โดยกลุ่มทุนมีแผนรุกการผลิตวัตถุดิบตัวยาสำคัญ เช่น กลุ่มปตท.ร่วมกับองค์การเภสัชกรรมสร้างโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็ง ครอบคลุมตัวยาหลัก 3 กลุ่ม ได้แก่ (1) ยาเคมีบำบัดชนิดเม็ดและฉีด (Chemotherapy) ที่เป็นยาพื้นฐานในการรักษาโรคมะเร็ง (2) ยาเคมีชนิดเม็ดและยาฉีดชีววัตถุคล้ายคลึงประเภท Monoclonal antibodies (Biosimilar) (3) ยารักษาแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง (Targeted Therapy) กลุ่มเอสซีจี เคมิคอลล์ จะลงทุนผลิตยาชีววัตถุ และบริษัทสหแพทย์เภสัช (เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ) จะผลิตวัตถุดิบสารตั้งต้น เป็นต้น
นอกจากนี้ ไทยยังมีความได้เปรียบหลายด้าน อาทิ (1) แพทย์และวิศวกรการแพทย์ที่มีความรู้ความสามารถในการค้นคว้าวิจัยโดยเฉพาะวัคซีน (2) ความพร้อมด้านสมุนไพรที่หลากหลายสามารถนำมาสกัดเป็นสารตั้งต้นทางการแพทย์/ชีวเภสัชภัณฑ์ (Biomedical/Biopharma)และ (3) ความก้าวหน้าด้านชีวสารสนเทศ (Bioinformatics) ที่นำมาพัฒนางานวิจัยทางการแพทย์และยาเพิ่มขึ้น หลังจากมีการแพร่ระบาดของไวรัสหลายสายพันธุ์อย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ตั้งแต่โรคซาร์ เมอร์ส อีโบล่า และ ล่าสุดโควิด-19 ปัจจัยเหล่านี้จะช่วยสนับสนุนให้ไทยมีศักยภาพในการพัฒนายาและวัคซีนที่มีคุณภาพในราคาที่ถูกลง ซึ่งจะช่วยลดการนำเข้าวัตถุดิบยา/ยาต้นตำรับที่มีราคาแพงได้บางส่วน
อย่างไรก็ตาม ภาวะการแข่งขันในอุตสาหกรรมยามีแนวโน้มรุนแรงขึ้นจาก (1) ผลิตภัณฑ์ยานำเข้าราคาถูกจากอินเดียและจีน (2) การเพิ่มขึ้นของนักลงทุนรายใหม่ โดยเฉพาะการเข้ามาของนักลงทุนต่างชาติ (เช่น ญี่ปุ่น) โดยใช้ไทยเป็นฐานการผลิตยาชื่อสามัญ (Generic drugs) เพื่อส่งออกไปจำหน่ายในประเทศของตนและเพื่อเจาะตลาด CLMV และ (3) การเข้ามาลงทุนของกลุ่มทุนจากธุรกิจอื่นในประเทศ ขณะที่ต้นทุนของผู้ผลิตยาในประเทศมีแนวโน้มสูงขึ้นจากค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงโรงงานผลิตยาให้ได้ตามมาตรฐาน GMP-PIC/S และราคาวัตถุดิบยานำเข้าที่มีแนวโน้มสูงขึ้น