จากเหตุการณ์กองทัพเข้ายึดอำนาจรัฐบาล อองซาน ซูจี เมื่อวันที่ 1 ก.พ. ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเมียนมาและมหาอำนาจชาติตะวันตกกลับเข้าสู่สภาวะชะชักงัน และอาจนำไปสู่การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับประเทศเมียนมาอีกครั้ง
เป็นที่ทราบกันดีว่า ความสัมพันธ์ระหว่างเมียนมากับมหาอำนาจชาติตะวันตกมีพลวัตรในทางที่ดีขึ้นในช่วงที่ผ่านมา สืบเนื่องมาจากการปฏิรูปการเมืองเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2554 และประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อนางอองซาน ซูจี ชนะการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกในช่วงปลายปี 2558 ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันนี้เอง สหภาพยุโรปประกาศให้สิทธิพิเศษทางการค้า Everything But Arms (EBA) แก่เมียนมาในปี 2556 พร้อมทั้งสหรัฐ ฯ ก็ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับเมียนมาในปี 2559
ความสัมพันธ์ระหว่างเมียนมากับประเทศกับมหาอำนาจชาติตะวันตกที่มีพลวัตรที่ดีขึ้นเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจเมียนมาให้เติบโตได้ในระดับสูงตลอดช่วงที่ผ่านมา โดยการลงทุนจากต่างประเทศเป็นปัจจัยผลักดันให้เกิดการส่งออก และเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจเมียนมาจากสังคมเกษตร เข้าสู่สังคมอุตสาหกรรม พร้อมทั้งก่อให้เกิดการจ้างงานและยกระดับกำลังซื้อของภาคประชาชนอย่างมหาศาล
ดังนั้น การเข้ายึดอำนาจรัฐบาลของกองทัพเมียนมาในครั้งนี้ ย่อมก่อให้เกิดความชะงักงันในความสัมพันธ์กับมหาอำนาจชาติตะวันตก และอาจนำไปสู่การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ เช่น การเพิกถอนสิทธิพิเศษทางการค้าของสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อสภาวะการค้า การลงทุน และเศรษฐกิจโดยรวมของเมียนมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในด้านการค้า นับตั้งแต่เมียนมาได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าจากสหภาพยุโรป การส่งออกของเมียนมาไปสหภาพยุโรปก็เติบโตมากกว่า 10 เท่าในช่วงเวลาเพียง 6 ปี โดยมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นจาก 208 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2556 มาเป็น 3,300 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ ในปี 2562 ส่วนการส่งออกของเมียนมาไปสหรัฐ ฯ ก็เติบโตขึ้น 5 เท่าภายใน 3 ปี โดยมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นจาก 150 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ ในปี 2559 มาเป็น 829 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ ในปี 2562
สิทธิพิเศษทางการค้าทำให้สัดส่วนการส่งออกของเมียนมาไปยังสหภาพยุโรป (EU) และสหรัฐ ฯ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาที่ผ่านมา ปัจจุบัน มูลค่าการส่งออกในตลาด EU และสหรัฐ ฯ คิดเป็นสัดส่วน 23% ของมูลค่าการส่งออกรวมของเมียนมา ดังนั้น หาก EU และสหรัฐ ฯ พิจารณาเพิกถอนสิทธิพิเศษทางการค้า ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงกับการส่งออก โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าสิ่งทอและเครื่องแต่งกาย ที่จะถูก EU เรียกเก็บภาษีประมาณ 12% รวมทั้งผลิตภัณฑ์การเดินทางที่จะถูกสหรัฐ ฯ เรียกเก็บภาษีประมาณ 20% ซึ่งสินค้าเหล่านี้มีสัดส่วนการส่งออกสูงถึง 1 ใน 3 ของมูลค่าการส่งออกโดยรวมของเมียนมา และที่สำคัญเมียนมาพึ่งพาการส่งออกไปยังตลาด EU และสหรัฐ ฯ สูงถึง 60% ในสินค้ากลุ่มนี้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า หากเมียนมาสูญเสียสิทธิพิเศษทางการค้าจากสหภาพยุโรป และสหรัฐ ฯ มูลค่าการส่งออกของเมียนมาจะหดตัวลงประมาณ 10% ในปี 2564
ในด้านการลงทุน การเข้ายึดอำนาจของกองทัพเมียนมาส่งผลกระทบต่อการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ โดยในช่วงก่อนจะมีการปฏิรูปการเมืองในปี 2554 เมียนมาไม่สามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศได้มากนัก มีเพียงนักลงทุนจากจีนและไทย ซึ่งเป็นนักลงทุนหลักที่มุ่งหวังทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ของเมียนมา เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ แร่ทองแดง แร่เหล็ก และแร่รัตนชาติ นับตั้งแต่มีการปฏิรูปการเมือง ทำให้ประเทศมหาอำนาจชาติตะวันตกยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ประเทศต่าง ๆ หลายประเทศก็เข้ามาลงทุนในเมียนมามากขึ้น โดยนักลงทุนหน้าใหม่หลักๆ ที่เข้ามาลงทุนในเมียมา ได้แก่ สิงคโปร์ เวียดนาม ญี่ปุ่น และเนเธอร์แลนด์ ในขณะเดียวกัน การลงทุนจากจีนและไทยก็ชะลอตัวลงอย่างชัดเจน สิ่งเหล่านี้ ล้วนชี้ให้เห็นถึงความสำเร็จของเมียนมาในการเปลี่ยนโครงสร้างการลงทุนให้มีผู้ลงทุนหลากหลายประเทศมากขึ้น พร้อมทั้งเปลี่ยนโครงสร้างการลงทุนจากที่เคยพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ มาเป็นการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องแต่งกาย เนื่องจากเมียนมามีข้อได้เปรียบจากค่าจ้างแรงงานที่ถูกที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเมื่อรวมกับสิทธิพิเศษทางการค้าแล้ว ย่อมสร้างความได้เปรียบให้กับนักธุรกิจในอุตสาหกรรมสิ่งทอที่เลือกมาลงทุนในเมียนมาอย่างชัดเจน นอกจากนี้ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน นิคมอุตสาหกรรม และโรงงานไฟฟ้า เพื่องรองรับการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมก็เฟื่องฟูขึ้น ซึ่งการลงทุนเหล่านี้จะสามารถต่อยอดเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของเมียนมาได้ในระยะยาว
แต่หลังจากกองทัพของเมียนมาเข้ายึดอำนาจรัฐบาล เหตุการณ์นี้ได้ทำให้เกิดความไม่แน่นอนทางการเมือง และความเสี่ยงที่จะถูกถอดถอนสิทธิประโยชน์ทางการค้าจากทั้งสหภาพยุโรป และสหรัฐฯ ปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเลือกที่จะชะลอหรือยุติการลงทุนในเมียนมา และทำให้เม็ดเงินลงทุนในภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มหดตัวลงในระยะยาว
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมคิดเป็นสัดส่วน 22% จากการลงทุนของต่างชาติทั้งหมด ซึ่งการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมสิ่งทอและตัดเย็บเสื้อผ้า หากการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ต้องถูกเรียกภาษีนำเข้าจาก EU อีกประมาณ 12% ความได้เปรียบด้านค่าจ้างแรงงานที่ถูกที่สุดในอาเซียน อาจไม่เพียงพอกับต้นทุนภาษีที่เพิ่มสูงขึ้น และทำให้ความสามารถในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนในอุตสาหกรรมสิ่งทอและตัดเย็บเสื้อผ้าได้รับผลกระทบเชิงลบอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลายลง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า การเข้ายึดอำนาจของกองทัพเมียนมาจะส่งผลให้การลงทุนจากต่างประเทศในเมียนมาลดลง 30%-40% ในปี 2564 สำหรับในระยะยาว หากมีการเพิกถอนสิทธิพิเศษทางการค้าจากทั้ง EU และสหรัฐฯ แนวโน้มการลงทุนของนักลงทุนจากประเทศต่าง ๆ ที่ต้องการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมของเมียนมาเพื่อส่งออกไปยังสองตลาดนี้จะลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การลงทุนของจีนในเมียนมาจะมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงมณฑลยูนนานกับมหาสมุทรอินเดียที่ชายทะเลทางตะวันตกของเมียนมา แต่การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้เป็นการลงทุนที่ไม่เน้นภาคอุตสาหกรรม จึงอาจไม่ช่วยเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมของเมียนมาได้มากนัก
การเข้ายึดอำนาจของกองทัพเมียนมาจะทำให้เกิดความไม่แน่นอนทางการเมือง และเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ตลอดจนฐานะทางการเงินของภาครัฐ รวมทั้งยังส่งผลกระทบต่อการควบคุมการระบาดของโควิด เช่น ทำให้เกิดความล่าช้าในการแจกจ่ายวัคซีน ประกอบกับความเสี่ยงในการสูญเสียสิทธิพิเศษทางการค้าระหว่างเมียนมา กับ EU และสหรัฐ ฯ ที่อาจจะเกิดขึ้นและส่งผลเป็นวงกว้าง ครอบคลุมถึงการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม ที่มีการจ้างงานกว่า 1 ล้านตำแหน่งในอุตสาหกรรมสิ่งทอและตัดเย็บเสื้อผ้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของเมียนมาจะอยู่ในกรอบ (-)0.5% ถึง (-)2.5% ในปี 2564
ข้อมูล : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย