รถไฟฟ้าไทยแพงที่สุดในโลก สวนทางรายได้ประชาชน

วันศุกร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

รถไฟฟ้าไทยแพงที่สุดในโลก สวนทางรายได้ประชาชน


เคยเป็นประเด็นใหญ่มาแล้วว่า ประเทศไทยมีค่าโดยสารรถไฟฟ้าแพงที่สุดในโลก เมื่อเทียบกับรายได้ของประชาชน และไม่เอื้อต่อการใช้บริการ ถึงแม้จะมีการขยายเส้นทางไปถึงชานเมืองแล้วก็ตาม แน่นอนว่า ถ้าหากราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้ายังพุ่งไม่หยุดคนใช้บริการก็ยังคงน้อย

ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เคยกล่าวไว้ว่า จากผลการศึกษาของทีดีอาร์ไอ เรื่องการเปรียบเทียบต้นทุนค่าใช้จ่ายระบบขนส่งสาธารณะรอบกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีข้อมูลว่า ค่ารถไฟฟ้าในเมืองหลวงเมื่อวัดตามอำนาจดัชนีการซื้อ(Purchasing Power Parity : PPP) พบว่า ประเทศไทยอย่างกรุงเทพมหานครนั้นมีราคาค่อนข้างสูงหรือเฉลี่ยราว 28.30 บาท/เที่ยว สูงกว่าค่ารถไฟฟ้าของสิงคโปร์มากกว่า 50% โดยค่ารถไฟฟ้าเฉลี่ยของสิงคโปร์อยู่ที่ 13.3 บาท/คน/เที่ยว ส่วนฮ่องกงอยู่ที่ 16.78 บาท/คน/เที่ยว

ขณะที่ข้อสรุปค่าโดยสารต่อเที่ยวการเดินทางของผู้โดยสาร พบว่าไทยมีค่าโดยสารระบบรางสูงกว่าประเทศในภูมิภาคเอเซียด้วยกันเอง รวมถึงพบว่าไทยมีส่วนต่างค่าโดยสารระหว่างรถไฟฟ้ากับรถโดยสาร (รถเมล์) สูงที่สุด ซึ่งค่าโดยสารรถไฟฟ้าต่อเที่ยวของคนไทยอยู่ที่ 67.4 บาท คิดเป็น 2.14 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ประเทศสิงคโปร์อยู่ที่ราว 25.73 บาท คิดเป็น 0.83 ดอลลาร์สหรัฐ และฮ่องกงอยู่ที่ 46.5 บาท คิดเป็น 1.5 ดอลลาร์สหรัฐ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจุบันนี้รถไฟฟ้ายังไม่ครอบคลุมทั่วพื้นที่ ประชาชนยังต้องนั่งรถเมล์ รถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง มายังสถานี เมื่อรวมๆ แล้ว ค่าใช้จ่ายต่อวันมากเกิน 100 บาท ดังนั้น การแก้ปัญหาการจราจรติดขัดจึงไม่อาจจะเกิดเป็นรูปธรรมได้

เรื่องค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่สุดในโลกได้หายไปจากหน้าข่าวพักใหญ่ ล่าสุด กลับมาเป็นประเด็นร้อนอีกครั้ง เมื่อกรุงเทพมหานคร และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส ประกาศว่าจะปรับอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว (หมอชิต-อ่อนนุช และสนามกีฬาฯ-สะพานตากสิน) เป็นสูงสุดไม่เกิน 104 บาท (ชั่วคราว) ตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป

เรื่องดังกล่าว สภาองค์กรผู้บริโภค ไม่ขอทน! พร้อมควงแขนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร และเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต บุกทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือต่อ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ องค์กรผู้บริโภค เห็นว่า การออกประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง การกำหนดค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น เป็นการออกประกาศโดยไม่รับฟังเสียงคัดค้านจากกระทรวงคมนาคม กรมการขนส่งทางราง นักวิชาการ และองค์กรผู้บริโภค ถึงประเด็นความไม่โปร่งใส ขัดต่อกฎหมาย ไม่เปิดเผยรายละเอียดสัญญาสัมปทาน ค่าโดยสารแพงเกินไปเป็นภาระของผู้บริโภค เร่งรีบขยายสัญญาสัมปทานให้เอกชนทั้งที่ระยะเวลายังเหลืออีก 9 ปี ซึ่งจะเป็นสร้างภาระผูกพันต่อประโยชน์ของรัฐและประชาชนส่วนรวมต่อเนื่องนานถึง 39 ปี

อีกทั้งการประกาศเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวของกรุงเทพมหานครโดยไม่รอผลการอนุมัติจากมติคณะรัฐมนตรี ยังเข้าข่ายเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 ที่ให้กรุงเทพมหานครต้องคำนึงถึงราคาที่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคและกำหนดค่าแรกเข้ารถไฟฟ้าสายสีเขียวที่เหมาะสมเป็นธรรมไม่ให้เป็นภาระต่อผู้บริโภค และขัดต่อพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 มาตรา 96 ที่กำหนดให้การอนุมัติขึ้นราคาต้องผ่านความเห็นชอบของสภากรุงเทพมหานครและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

จากปัญหาที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงปัญหาการบริหารงานของกรุงเทพมหานครที่ขาดประสิทธิภาพและหลักธรรมาภิบาลต่อรัฐและประชาชน ตลอดจนความเหลื่อมล้ำทางสังคมด้านการเข้าถึงบริการขนส่งมวลชนที่เป็นความเดือดร้อนเร่งด่วนของผู้บริโภคในปัจจุบัน ขณะที่รัฐบาลมีหน้าที่สำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน ส่งเสริมประชาชนเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนได้เพิ่มขึ้นอย่างปลอดภัย ทุกคนสามารถจ่ายค่าโดยสารได้อย่างเท่าเทียมเหมาะสมเป็นธรรม

ดังนั้น เพื่อให้ปัญหาที่เกิดขึ้นมีข้อยุติที่สามารถคลายสถานการณ์ได้อย่างเป็นรูปธรรมและไม่เป็นภาระของผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมีข้อเสนอเร่งด่วนที่สำคัญต่อการแก้ปัญหาดังต่อไปนี้ 1.ขอให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีมีคำสั่งชะลอแผนการขยายสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวโดยทันที และให้กรุงเทพมหานครหยุดการเรียกเก็บค่าโดยสารในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 ออกไปก่อน เพื่อดำเนินการให้บริการรถไฟฟ้าซึ่งเป็นบริการขนส่งมวลชนได้รับการพัฒนาและประชาชนสามารถใช้บริการได้เพิ่มขึ้นจากราคาที่ถูกลงในวิกฤตมลภาวะทางอากาศ หรือปัญหา PM 2.5 ในปัจจุบัน

2.ขอให้เปิดเผยข้อมูลรายละเอียดสัญญาสัมปทานต่อสาธารณะ เพื่อรับฟังความเห็นจากองค์กรผู้บริโภค นักวิชาการ และภาคประชาชนที่ได้ผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต สุขภาพ อนามัย จากการดำเนินการของรัฐ ตามมาตรา 58 และมาตรา 61 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะมีมติให้ความเห็นชอบ

3.ขอให้ทบทวนสัญญาสัมปทานการเดินรถไฟฟ้าทุกเส้นทางในปัจจุบัน และสัญญาที่จะทำในอนาคต เพื่อศึกษาผลกระทบและกำหนดแนวทางให้เกิดความเป็นธรรมเรื่องราคากับผู้บริโภคที่จะทำให้เกิดการใช้บริการรถไฟฟ้ามากขึ้นและเป็นบริการขนส่งมวลชนสำหรับคนทุกคน รวมถึงยกเว้นค่าแรกเข้ากรณีโดยสารรถไฟฟ้าข้ามสาย พัฒนาระบบตั๋วร่วมและระบบการเชื่อมโยงบริการขนส่งมวลชนทุกประเภท เพื่อความสะดวกปลอดภัยของผู้บริโภคที่ใช้บริการ

4.ขอให้กำหนดสัดส่วนของค่าบริการขนส่งมวลชนต่อรายได้ขั้นต่ำของประชาชนต่อวันต้องไม่เกิน ร้อยละ 10 ของค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคทุกกลุ่มเข้าถึงและใช้บริการได้ และ 5.ขอให้รัฐบาลประกาศนโยบายให้รถไฟฟ้าเป็นบริการขนส่งมวลชนที่ทุกคนต้องขึ้นได้ไม่ใช่บริการทางเลือกของผู้บริโภค

สุดท้าย พล.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ก็ทนถือเผือกร้อนไม่ไหว ได้ลงนามในประกาศ เลื่อนการจัดเก็บค่าโดยสายสาร รถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ในราคา 104 บาท ตลอดสาย ซึ่งจะปรับขึ้นในวันที่ 16 ก.พ. 64 นี้  ออกไปก่อน เพื่อลดกระทบของประชาชนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าในช่วงสถานการณ์ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่

ต่อกรณีดังกล่าว “ลุงตู่” โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก “ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha” ระบุว่า “ตามที่ทางกรุงเทพมหานครได้ออกประกาศ เลื่อนการเก็บค่าตั๋วรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีเขียว 104 บาทตลอดสายออกไปก่อน หลังจากที่ได้รับนโยบายจากรัฐบาลให้พิจารณาทบทวนโดยให้คำนึงถึงภาระค่าใช้จ่ายของพี่น้องประชาชนท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้น ผมขอขอบคุณกรุงเทพมหานคร ท่านผู้ว่าฯ รวมถึงกระทรวงมหาดไทย ที่ได้ช่วยกันใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ ที่จะช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่กำลังเดือดร้อนจากสถานการณ์โควิดอยู่ ณ ตอนนี้ ขอบคุณครับ #รวมไทยสร้างชาติ”

แน่นอนว่า เรื่องค่าโดยสารรถไฟฟ้าไทยแพงที่สุดในโลก ไม่จบเพียงแค่นี้แน่ เมื่อเรื่องเงียบก็จะถูกนำกลับมาพิจารณาใหม่เรื่อยๆ ตามคำร้องขอของผู้ได้รับสัมปทาน สุดท้ายแล้ว แผนการแก้ปัญหาการจราจรก็จะไม่จบไม่สิ้น ที่สำคัญอาจจะแจ้งเกิดกลุ่มมาเฟียรถสาธารณะรูปแบบอื่นขึ้นมา ดังที่เคยเกิดขึ้นเมื่ออดีตที่ผ่านมา



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ