ศศก. - สสส.พบช่วงโควิด-19 ระบาด ปัญหายาเสพติดพุ่ง

วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ศศก. - สสส.พบช่วงโควิด-19 ระบาด ปัญหายาเสพติดพุ่ง


ที่โรงแรมแมนดาริน  ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนาวิชาการ เรื่อง “การระบาดสารเสพติดและตลาดการค้า” เพื่อร่วมกันหาแนวทางกำหนดนโยบายสารเสพติด โดย น.ส.รุ่งอรุณ  ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า พรบ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที 7) พ.ศ. 2562 ได้ปรับปรุงโดยการอนุญาตให้ใช้กัญชา และพืชกระท่อม ซึ่งเป็นยาเสพติดประเภทที่5 ตาม พรบ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ให้มาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ การศึกษาวิจัย และการผลิตผลิตภัณฑ์สุขภาพได้  และต่อมามีการประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เพื่อปลดล็อกส่วนของกัญชาและกัญชงให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้โดยไม่จัดเป็นยาเสพติด ยกเว้นส่วน ช่อดอก และเมล็ดกัญชา  และล่าสุด คณะกรรมการอาหารและยา มีมติเห็นชอบ ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 2 ฉบับ  ให้สามารถใช้ส่วนของกัญชาและกัญชงในผลิตภัณฑ์อาหารได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดผลกระทบทางสังคมด้านอื่นตามมา ทั้งทางด้านบวก เช่น ประโยชน์ของกัญชาต่อการรักษาโรค การลดการตีตราหรือลดการมองว่าผู้ที่ใช้สารเป็นคนไม่ดี ในขณะเดียวกันทางด้านลบ จำเป็นต้องเฝ้าระวัง ซึ่งอาจทำให้เด็ก เยาวชน รวมถึงประชาชนมองไม่เห็นโทษที่ยังมีอยู่ของสาร โดยเฉพาะช่อดอกและเมล็ดกัญชา และอาจนำไปเสพเพื่อความรื่นเริงมากขึ้นเนื่องจากมองเห็นแต่ประโยชน์ 

น.ส.รุ่งอรุณ กล่าวต่อว่า สสส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เห็นความจำเป็นและให้ความสำคัญในการเฝ้าระวัง และการศึกษาวิจัยเพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงวิชาการที่จำเป็นต่อการเสนอแนวทางการป้องกันปัญหาที่เกิดจากการใช้สารเกินกฎหมายกำหนด หรือปริมาณเกินมาตรฐานที่อนุญาต ส่งผลก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา รวมถึงยังมีสารเสพติดผิดกฎหมายที่แพร่ระบาดต่อเนื่อง เช่น ยาบ้า ยาไอซ์  ซึ่งปัญหาของสารเสพติดยังคงเป็นปัญหาระดับประเทศ ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากบุคคลในทุกระดับเพื่อร่วมกันดำเนินงานทั้งด้านการปราบปราม การป้องกัน การบำบัดรักษา การฟื้นฟูสมรรถภาพ และการป้องกันการเสพติดซ้ำ

 รศ.พญ.รัศมน  กัลยาศิริ  ผู้จัดการศูนย์ศึกษาปัญหายาเสพติด (ศศก.) กล่าวว่า สถานการณ์ยาเสพติด หากติดตามอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นว่ามีสารแบบแปลกๆ ที่เกิดอันตรายในหมู่เยาวชนและเป็นข่าวใหญ่โต อาทิ ยาเคนมผง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ายาเสพติดมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องอื่นๆ  โดยเฉพาะสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการพนันและการดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งนี้จากการสำรวจสถานการณ์ด้านยาเสพติดในประเทศไทย ในรอบ12 เดือนที่ผ่านมา สารเสพติดที่พบมาก คือ กัญชา กระท่อม ยาบ้า และไอซ์ ร้อยละ 4.6 ส่วนการใช้สารเสพติดแบบถูกกฎหมาย พบว่าร้อยละ 30 เป็นแอลกอฮอล์ ส่วนยาสูบพบมากกว่าร้อยละ20 เป็นผู้สูบในปัจจุบัน ถ้าเป็นกัญชาที่ไม่ใช้ทางการแพทย์ หรือใช้เพื่อสันทนาการ พบมากกว่าร้อยละ 2 และพบยาเสพติดที่ผิดกฎหมาย เป็นกระท่อมมากกว่าร้อยละ 2 ยาบ้าและไอซ์ ร้อยละ 0.4

  รศ.พญ.รัศมน กล่าวว่า ช่วงการระบาดโควิด-19 ระลอกแรกของปีที่แล้ว ได้สำรวจการใช้สารเสพติดว่าเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไรบ้าง พบว่าโดยรวมทั้งถูกและผิดกฎหมาย มีการใช้ลดลง เพราะมาตรการ ล็อกดาวน์ ทำให้ไม่ได้ติดต่อสังสรรค์ หาสารเสพติดได้ยากกว่าปกติ จึงมีข้อน่าห่วง เพราะในช่วงเกิดโควิด-19 เกิดผลกระทบทั้งในด้านจิตใจ เศรษฐกิจและสังคม ปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้หลังผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์อาจกลับมาใช้มากขึ้น และที่สำคัญยังพบว่าสารเสพติดที่ตรวจพบถูกดัดแปลงสูตร เพื่อลดต้นทุน ทำให้ความบริสุทธิ์ของสารไม่เหมือนเดิม โอกาสที่จะกระทบต่อร่างกายสูงขึ้น

  “เมื่อเศรษฐกิจไม่ค่อยดี ผู้ค้าลดต้นทุนด้วยการเอาสารอื่นมาผสม ทำให้ขายได้ในราคาถูกลง แต่คนใช้ไม่รู้ เกิดความไม่ปลอดภัย รวมถึงการขนส่งที่ผ่านมาทำได้ยากของจึงล้นสต๊อก เมื่อเริ่มเอาออกมาขาย ทำให้ราคาถูกลงคนเข้าถึงได้ง่ายกว่าปกติ อาจทำให้มีการใช้สารเสพติดมากขึ้น จึงต้องระมัดระวังในเรื่องนี้” รศ.พญ.รัศมน กล่าว

  รศ.พญ.รัศมน กล่าวว่า การใช้สารเสพติดเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพ ต้องมองผลที่จะเกิดขึ้นอย่างรอบด้าน ทั้งทางกฎหมายและผลกระทบทางสังคม เพราะหากเสพติดแล้วหยุดไม่ได้จะเกิดปัญหา หากใช้วิธีการลงโทษเช่นปัจจุบันคือ การจำคุกเกิดปัญหาล้นคุก ปล่อยตัวออกมาแล้วยังมีพฤติกรรมแบบเดิม กลับเข้าไปอีก วนเวียนอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ไม่ได้เกิดการแก้ปัญหาโดยตรง ดังนั้นควรให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไปว่าสารต่าง ๆ มีผลกระทบอย่างไร เพื่อป้องกันในระดับบุคคลก่อน

  ด้าน น.ส.ชวนพิศ ชุ่มวัฒนะ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ทั้งนี้ยาเสพติดส่วนหนึ่งมีประโยชน์ทางยา แต่หากใช้นอกเหนือจากการรักษาจะกลายเป็นติดเกิดผลเสียต่อสุขภาพและสังคมทันที นโยบายปลูกกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ในประเทศไทย ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมตั้งแต่เริ่มต้นการปลูกจนถึงการผลิต เพราะกัญชาใช้เพื่อทางการแพทย์ใช้ได้เฉพาะบางสายพันธุ์ จึงไม่มีอันตราย แต่ที่ผ่านมามีลักลอบปลูกเป็นจำนวนมาก ดังนั้นต้องควบคุมให้ได้และสร้างความมั่นใจว่า เมื่อนำไปรักษาแล้วจะไม่เป็นอันตราย 



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ