ไร่ผักหวานครูแดงพิชิต “หนี้” ด้วยการเกษตรยุคใหม่

วันอังคารที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2564

ไร่ผักหวานครูแดงพิชิต “หนี้” ด้วยการเกษตรยุคใหม่


“วัชรวิชย์ นาแสวง” หรือ “ครูแดง” อดีตแม่พิมพ์ของชาติ ถือเป็นครูที่ประสบความสำเร็จในอชีพสูงสุดคนหนึ่ง เคยได้รับรางวัลครูดีเด่น แต่ใครจะรู้ว่าในช่วงหนึ่งของชีวิตเขาได้ถูกมรสุม “หนี้” เล่นงานจนถึงขั้นต้องลาออกจากการเป็นครู แถมเป็นหนี้ที่เขามิได้ก่อขึ้นอีกต่างหาก

เนื่องจากในช่วงหนึ่งครูแดงได้ไปค้ำประกันลูกศิษย์เข้าทำงาน แล้วลูกศิษย์ได้ยักยอกทรัพย์เป็นเงินจำนวน 1.2 ล้านบาท หนีหายไป ทำให้ครูแดงต้องมาชดใช้หนี้แทน จนเกิดความเครียดและท้อแท้กับชีวิตอย่างมาก

“กฎหมายระบุว่าคนค้ำประกันถือเป็นผู้ร่วมกู้ด้วย เท่ากับว่าร่วมยักยอกด้วย ทำให้เราต้องรับใช้หนี้ให้เขาแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว ซึ่งเราไม่มีเงินใช้หนี้ จึงต้องลาออกจากราชการเพื่อที่จะเอาเงินก้อนหนึ่งไปใช้หนี้แทน คือเงินที่เขายักยอกไป 1.2 ล้านบาท” ครูแดงเล่าเหตุการณ์ในอดีต

นอกจากนำเงินไปใช้หนี้แล้ว ครูแดงยังต้องมองหาอาชีพใหม่แทนอาชีพเดิม ครูแดงมั่นใจว่าแม้ไม่ได้ทำอาชีพครู เขาก็ต้องทำงานอื่นได้แน่นอน เพราะที่ผ่านมาเขาเป็นคนทุ่มเทกับงานดังคติที่ว่า “ไม่มีอะไรทำไม่ได้” และครูแดงมักทำในสิ่งที่คนอื่นไม่คิดว่าจะทำได้ (จนบางคนมองว่าครูแดงบ้าหรือเปล่า) อย่างเช่นถึงแม้ว่าเขาจะจบการศึกษาปริญญาตรี วิชาเอกพลศึกษา ทว่า! เมื่อโรงเรียนมัธยมที่เข้าไปสอนขาดแคลนครูภาษาไทย เขาก็ขออาสาเป็นครูสอนภาษาไทย พาเด็กไปประกวดจนชนะระดับอำเภอ-ระดับจังหวัด แม้กระทั่งเมื่อมีหน่วยงานแสดงความประสงค์จะบริจาคชุดเครื่องดนตรีให้กับโรงเรียน แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องมีครูสอนดนตรี ซึ่งโรงเรียนไม่มี เขาก็รับอาสาสวมหมวกเป็นครูสอนดนตรี ฝึกฝนทั้งดนตรีไทยและดนตรีสากลจนชำนาญ นำวิชาความรู้มาถ่ายทอดให้กับเด็กได้อย่างไม่อายใคร จนได้รับรางวัลครูดีเด่นระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และรางวัลอื่นๆอีกมากมาย รวมถึงรางวัลครูคุรุสภาดีเด่น

“ท้อแต่แต่ห้ามถอย” ครูแดงเตือนตัวเอง พร้อมกับเริ่มต้นอาชีพใหม่เลี้ยงวัวนมกับน้องๆ เป็นอาชีพที่ไปได้สวยทีเดียว แต่ปัญหาคือไม่มีเวลาเป็นของตัวเอง ต้องอยู่ดูแลวัวตลอดวัน ตลอดเดือน ยิ่งช่วงไหนวัวจะคลอดลูกยิ่งต้องประคบประหงม คืนไหนวัวคลอดลูกก็ไม่ต้องหลับต้องนอนกันเลย ทำให้ไม่สะดวกในการไปไหนมาไหน แถมตัวเองก็อายุมากแล้ว เลยยุติการเลี้ยงวัวนมและมอบวัวทั้งหมด 30-40 ตัวให้น้องเลี้ยงแทน หันมาขายตรงผลิตภัณฑ์อาหารเสริมร่วมกับทำการเกษตรยุคใหม่ ซึ่งครูแดงรู้สึกว่าน่าจะตอบโจทย์อนาคตได้ดีกว่า

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่คิดจะเริ่มต้นทำการเกษตร ครูแดงก็ไม่ได้ทำแบบคนอื่น เขาวิเคราะห์ก่อนว่าจะปลูกพืชอะไรที่ให้ผลตอบแทนดี มองเห็นคนแถวนั้นส่วนใหญ่ปลูกอ้อย ปลูกมันสำปะหลัง คิดว่าถ้าทำเหมือนเขาไม่น่าจะเวิร์ค แต่ก็ยังคิดไม่ออกว่าจะปลูกพืชอะไรที่ไม่ใช่พืชประจำท้องถิ่นอย่างที่คนอื่นเขาปลูกกัน จนวันหนึ่งขับรถไปทางอำเภอพระพุทธบาท ไปถึงอำเภอหนองโดน ผ่านอำเภอบ้านหมอ เห็นป้ายริมทางเขียนว่า “ไร่ผักหวาน ผอ.ป๊อก” เกิดแรงบันดาลใจว่า ทำไมบ้านหมอเป็นแหล่งปลูกผักหวานขนาดใหญ่ระดับประเทศ ซึ่งบ้านหมอ จ.สระบุรีก็อยู่ใกล้กับลพบุรี เมื่อสระบุรีปลูกได้ ทำไมลพบุรีจะปลูกไม่ได้ ฉันนี่แหละจะทำเอง ลองดู แม้จะไม่เคยเรียนรู้เรื่องเกษตรมาเลย ไม่รู้เรื่องการปลูกผักหวาน ลองผิดลองถูกก็คงไม่เสียหลาย (คงเหมือนตอนเป็นครูไม่ได้จบภาษาไทย ไม่ได้จบดนตรี ยังสอนเด็กจนได้รับรางวัล) วันหนึ่งมีรถขายเมล็ดพันธุ์ผักหวานวิ่งผ่านมา จึงเรียกจอดหน้าบ้าน สอบถามจนทราบว่ามาจากนครสวรรค์ มาขายพันธุ์ผักหวาน มองดูในรถเห็นต้นพันธุ์ผักหวานตัวอย่างเขียวชะอุ่ม ตัดสินใจซื้อเมล็ดพันธุ์ผักหวาน และไม่ได้ซื้อแค่ถุงสองถุง

“ผมถามว่าทั้งรถราคาเท่าไหร่ ประมาณ 7 พันบาท ผมเหมาหมดรถเลย”

หลังจากซื้อเมล็ดพันธุ์ผักหวานมาแล้ว ก็ลงทุนซื้อปริงเกอร์ ท่อน้ำ เบ็ดเสร็จลงทุนไปทั้งหมด 3 หมื่นกว่าบาท ปลูกไป 400 กว่าต้น ใช้ปุ๋ยทั่วไป ใครแนะนำอะไรดีก็ใช้ หนึ่งอาทิตย์ผ่านไป ผักหวานงามเขียวดีจังเลย แต่พอหลังจากนั้นสัก 15 วัน ตายหมด เหลือ 12 ต้น..เจ๊งเลย

แต่ครูแดงไม่ย่อท้อ ไปหาซื้อเมล็ดพันธุ์มาอีก คิดว่าเมล็ดพันธุ์เจ้านั้นอาจไม่สมบูรณ์ เขาอาจใช้สารฉีดต้นผักหวานตัวอย่างให้มันดูงามเขียว น่าปลูก แถมอาจเป็นเมล็ดพันธุ์ค้างปี เนื่องจากสังเกตดินในถุงแข็งมาก รากหดงอ เมื่อนำมาปลูกลงดินทำให้ดินแอนตี้ เหมือนไม่ถูกกัน พอรากของผักหวานจากในถุงแทงลงไปถึงดินเลยตายหมด

“ผมวิเคราะห์อย่างนั้นนะ ไม่รู้ว่าถูกหรือเปล่า” ครูแดงบอก  

ด้วยประสบการณ์ที่พลาดมาแล้วครั้งหนึ่ง เมล็ดพันธุ์ผักหวานรอบใหม่จึงไม่ใช่การรอให้พ่อค้าแม่ค้าผ่านมาแล้วค่อยซื้อ แต่ครูแดงตระเวนหาตามพื้นที่แหล่งต่างๆ จนไปเจอเมล็ดพันธุ์ผักหวานบนภูเขา เป็นผักหวานป่าจริงๆ แถวบ้านหนองจาน ตำบลหน้าพระลาน สระบุรี

“ผมไปเจอต้นผักหวานต้นใหญ่ แบบในป่าเลย ซึ่งผักหวานเป็นผักป่า สมัยก่อนอยู่ในป่า ปีหนึ่งถึงจะได้กินสักครั้ง ต้องจุดไฟเผาให้ใบมันร่วงหมดแล้วถึงจะแตกยอดออกมาให้เราเก็บกิน เขาขายเป็นต้น ผมซื้อต้นเอามาเพาะเอง เพาะแบบไม่รู้วิธีการ ลองทั้งกระบะทราย ดินมะพร้าว แกลบ ลองทุกอย่าง มาได้ผลดีที่สุดคือการเพาะด้วยฟาง เอาเม็ดโรยลงไป เอาฟางทับเป็นชั้นๆ ทำเหมือนเห็ดฟาง เอากระสอบคลุมข้างบน รดน้ำ ใช้เวลาเพาะประมาณครึ่งเดือนจึงออกราก ที่แจ๋วกว่านั้นคือผมลองเอาเมล็ดพันธุ์อีกชุดแช่ในปุ๋ยน้ำอินทรีย์ ปรากฏว่า 8 วันออกรากเลย สุดยอดเลย ผมก็เลยลองทำเต็มที่ จากที่ต้องการขายแค่ผักหวาน กลายเป็นเพาะเมล็ดขายด้วย มีพ่อค้าแม่ค้ามารับถึงหน้าสวน มาจากชัยภูมิ เลย บุรีรัมย์ โคราช จากไหนก็รับหมดเลย”

ปัจจุบันไร่ผักหวานครูแดงมีเนื้อที่ 6 ไร่ ของน้องๆอีก 6 ไร่ รายได้ต่อไร่ เมื่อปี 2561 (ก่อนเกิดโควิด) ขายได้กิโลกรัมละ  100 บาท (ราคาหน้าสวน) ปรากฏว่าปีนั้นทั้งปี สองคนพี่น้องได้เงินทั้งหมด..กว่าล้านบาท!

“ผมทำบัญชีครัวเรือน เก็บได้กี่กิโล ขายได้กี่กิโล จ้างคนงานแล้วเหลือรายได้เท่าไหร่ ผมจดไว้หมด สรุปทั้งปีได้ผักหวาน 11 ตัน ขายได้ตันละ 1 แสนบาท รวมแล้วล้านกว่าบาท โดยลงทุนครั้งเดียวตอนปลูกครั้งแรก หลังจากนั้นเราไม่ต้องลงทุนอะไรอีกเลย เช่นระบบน้ำหยด ปุ๋ย ยา และเนื่องจากผักหวานเป็นผักป่า เราไม่ต้องใช้ยาฉีด ไม่ต้องพ่นยา เพราะไม่มีอะไรไปรบกวนเขาเลย”

ลองคิดดูแบบง่ายๆว่า ครูแดงทำผักหวาน 11 ตัน มีรายได้ 1 ล้านบาท เฉลี่ยตันละ 1 แสนบาท เท่ากับทำผักหวาน 1 ไร่ ได้เงิน 1 แสนบาท ว้าว..ไม่ธรรมดาเลย

แม้กระทั่งในปี 2563 เมื่อไวรัสโควิดระบาด ตลาดต่างๆขายไม่ได้ เพราะไม่มีคนเดิน พ่อค้าแม่ค้าจะรับไปขายก็ลำบาก ผักหวานก็เลยตายคาป่า คือมีแต่ยอดเต็มหมด แต่ไม่สามารถเก็บไปขายได้ กระนั้นก็ตาม เมื่อครูแดงเปิดโครงการลดราคาพิเศษช่วงโควิด ทำในรูปแบบ เขาช่วยเรา เราช่วยเขา  เอาแค่พออยู่ได้ ปรากฏว่ายังทำรายได้ 4-5 แสนบาท

“มีคนบอกว่าผักหวานเป็นผักตลอดชีวิต ผมเถียงเขาว่า ไม่ใช่ผักตลอดชีวิต เป็นผักตลอดชาติเลย เพราะถ้าเป็นผักตลอดชีวิต ผมตายก็ต้องตายตามผมด้วย แต่ว่าผักหวานถ้าผมตายไปลูกหลานยังเก็บต่อได้อีก ปลูกครั้งเดียวอยู่ได้เป็นร้อยปี แถมจุดเด่นของการปลูกผักหวานคือยิ่งร้อน ยิ่งแตกยอดมาก ไม่ต้องการน้ำมาก ผมให้น้ำแค่เดือนละ 3 ครั้ง” ครูแดงกล่าวอย่างภาคภูมิใจ

ความสำเร็จของไร่ผักหวานครูแดงเลื่องลือปากต่อปาก ส่งผลให้คณะเกษตรกรจากภูมิภาคต่างๆเดินทางมาศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง บ้านหนองอีอุ่น ต.น้ำสุด อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี จึงเป็นหนึ่งในพื้นที่เรียนรู้การเกษตรยุคใหม่ไปโดยปริยาย นำมาสู่การจัดตั้ง “วิสาหกิจชุมชนผักหวานป่าเขื่อนป่าสัก” โดยมีครูแดงเป็นประธาน ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 10 ราย จากที่มาขอ 30 ราย เนื่องจากมีเงื่อนไขคือถ้าใครต้องการเข้ามาเป็นสมาชิกต้องเป็นเกษตรอินทรีย์เท่านั้น เมื่อมีคนเดินทางมาดูงานในวิสาหกิจชุมชน สมาชิกก็จะมาช่วยกันต้อนรับ นำผลิตภัณฑ์ที่ได้จากผักหวานมาจำหน่าย เป็นแหล่งเรียนรู้ประจำตำบลน้ำสุดให้กับคณะต่างๆ โดยมีครูแดงเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้กันแบบไม่หวงวิชา

อีกหนึ่งความพิเศษของผักหวานไร่ครูแดงคือดการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เอาปุ๋ยไปใส่ตามร่องผักหวาน หลังจากนั้นไถกลบ ให้น้ำหยด ประมาณ 4-5 ชั่วโมงก็ซึมถึงราก ไม่ใช่แค่ผักหวานจะงอกงามอุดมสมบูรณ์เท่านั้น แต่ยังมีผลพลอยได้อย่างอื่นตามมาอย่างคาดไม่ถึง

“ตอนแรกผมใส่ปุ๋ยอินทรีย์ไป 5 กระสอบ ซึ่งในสวนผักหวานของผมมีมะขามเทศด้วย ผมปลูกไว้เป็นพี่เลี้ยง ให้ร่มเงาแซมแดด ไม่ได้หวังจะขายมะขามเทศ แต่ปรากฏว่ามะขามเทศออกฝักงดงาม ขายมะขามเทศได้อีกเป็นหมื่นบาท ก็เลยได้ทั้งมะขามเทศได้ทั้งผักหวาน แม้กระทั่งมะละกอ ละมุดที่ปลูกแซมๆไว้หวานเจี๊ยบเลย ละมุดมีต้นเดียวแต่เก็บได้เป็นสิบกิโล ส่วนผักหวานก็ออกยอดเหลืองเต็มไร่หมดเลย ผมลองเปรียบเทียบผลผลิตกับไร่อื่น เขาได้ 14 กิโลกรัม ผมได้ 26 กิโลกรัม นี่คือความแตกต่าง ในละแวกนี้มีไร่ผักหวานประมาณร้อยไร่ ของผมขายได้ราคาดีที่สุด”

ครูแดงยังกล่าวถึงความพิเศษของปุ๋ยอินทรีย์ที่ตัวเองใช้เป็นประจำคือทำให้ดินมีคุณภาพดี มีไส้เดือนเข้ามาอาศัย จากในอดีตก่อนหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ดินจะแข็ง ไม่มีไส้เดือน แต่ปัจจุบันเวลาคนมาเที่ยวสวน มาเดินจะรู้สึกถึงความยุบยับนุ่มนวลของดิน ทำให้ไร่ของครูแดงได้รับบัตรดินดีจากกรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์      

ครูแดงแนะนำการเกษตรยุค New Normal หรือการเกษตรยุคใหม่ว่า ทุกคนมีความสามารถทำงานได้มากกว่าหนึ่งอย่าง อาจจะทำสองอย่าง สามอย่าง ซึ่งงานเกษตรกรรมของเราปีหนึ่งได้ผลผลิตครั้งหนึ่ง หากในระหว่างวัน ระหว่างเดือน ระหว่างปี เรามีรายได้อย่างอื่นมาเสริมจะดีมากกว่าไหม

“อย่างผมทำหลายอย่าง บางอย่างไม่มีรายได้เป็นเงิน แต่ได้ความภาคภูมิใจ ในขณะที่บางอย่างมีรายได้และเป็นรายได้ที่ดีด้วย เราก็ไม่ควรละทิ้งโอกาสนั้น ดังคติประจำใจในการหันมาทำเกษตรของผมคือ ‘เราไม่จำเป็นต้องวิ่งไปจับผีเสื้อที่บินอยู่กลางอากาศเพียงตัวเดียว แต่ผมจะทำสวนดอกไม้ให้สวย เพื่อให้ผีเสื้อทั้งฝูงบินเข้ามาเอง’ คือถ้าสวนของเรามีผลผลิตที่ดีจะมีคนหลั่งไหลมาหาเราเอง”

ด้วยสไตล์การทำงานอย่างทุ่มเท เมื่ออาชีพเกษตรกรไปได้มั่นคง ครูแดงจึงใช้เวลาส่วนหนึ่งทำงานเพื่อสังคม  เป็นประธานเกษตรกรรายย่อยตำบลน้ำสุด ได้รับคัดเลือกให้เป็นประธานอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) อำเภอพัฒนานิคม ได้รับเลือกตั้งเป็นเลขานุการอาสาสมัครเกษตรจังหวัดลพบุรี ทำงานร่วมกับเกษตรจังหวัดและเกษตรอำเภอ เป็นรองประธานกรรมการหมู่บ้าน เป็นรองประธานกรรมการศึกษา และยังเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านอีกด้วย

ถือเป็นเกษตรกรตัวอย่างที่น่ายกย่องจริงๆ!!



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม โทร : 0893284192 , ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ