9 ค่ายเปิดศึกเดือด ! ประกันภัยไซเบอร์ 2 แสนล้าน เปิด 4 กลุ่มธุรกิจเสี่ยงถูกแฮก

วันพฤหัสบดีที่ 01 เมษายน พ.ศ. 2564

9 ค่ายเปิดศึกเดือด ! ประกันภัยไซเบอร์ 2 แสนล้าน เปิด 4 กลุ่มธุรกิจเสี่ยงถูกแฮก


ประเทศไทยสูญเสียเงินจากภัยคุกคามแฮกข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตปีละ 2 แสนล้านบาท เตือน 4 กลุ่มธุรกิจมีความเสี่ยงถูกโจมตีมากที่สุด 9 บริษัทประกันวินาศภัยยักษ์ใหญ่สบช่องออกกรมธรรม์ประกันภัยไซเบอร์คุ้มครองทั้งส่วนบุคคลและภาคธุรกิจ ให้ความคุ้มครองธุรกรรมทางอินเทอร์เน็ต-นักช้อปออนไลน์-บูลลี่-คุกคาม-กรรโชกทรัพย์ ตอบโจทย์ยุคดิจิทัล

หลายคนคงจำได้เมื่อหลายปีก่อนผลสำรวจนักท่องเที่ยวจาก 28 ประเทศทั่วโลก พบว่า นักท่องเที่ยวชาวไทยติดโทรศัพท์มือถือเป็นอันดับ 1 โดยยืนยันที่จะใช้งานโทรศัพท์มือถือขณะเดินทางท่องเที่ยวพักผ่อนมากถึง 85% และ We are social ซึ่งเป็นเอเจนซีทางด้านโซเชียลมีเดียยังได้ตอกย้ำสถิติการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลทั่วโลก พบว่าไทยใช้อินเทอร์เน็ตต่อวันสูงเป็นอันดับ 5 ของโลก แต่ถ้าเทียบเฉพาะการเล่นอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือ ไทยมีอัตราการใช้ต่อวันสูงเป็นอันดับ 2 ของโลกเลยทีเดียว

บวกกับรัฐบาลมีนโยบายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งระบบการชำระเงินแบบอีเพย์เมนต์ (E-Payment) และระบบพร้อมเพย์ (PromptPay) ทำให้ประชาชนใช้บริการทางการเงินและทำธุรกรรมต่าง ๆ ทางอินเทอร์เน็ตมากขึ้น และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ประชาชนมีพฤติกรรมการซื้อขายสินค้าออนไลน์มากขึ้น รวมถึงวิถีชีวิตแบบใหม่ในยุคดิจิทัล เพื่อปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 และความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้เกิดความสูญเสียหรือความเสียหายจากการใช้บริการทางอินเทอร์เน็ต และการซื้อขายสินค้าออนไลน์ตามมาด้วยเช่นกัน

ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในการใช้ชีวิตประจำวันและการประกอบอาชีพ หากเกิดความสูญเสียหรือความเสียหายจากการใช้บริการทางอินเทอร์เน็ตและการซื้อขายสินค้าออนไลน์ สำนักงาน คปภ. ขอแนะนำประชาชนให้นำระบบประกันภัยเข้าไปช่วยบริหารความเสี่ยงกรณีเกิดความสูญเสียหรือความเสียหายดังกล่าว โดยนายทะเบียนประกันภัย ได้เห็นชอบแบบ ข้อความและอัตราเบี้ยประกันภัยกรมธรรม์ประกันภัยไซเบอร์ส่วนบุคคล ของบริษัทประกันวินาศภัยไปแล้ว จำนวน 5 บริษัท ซึ่งค่าเบี้ยประกันภัยขึ้นอยู่กับจำนวนเงินเอาประกันภัยและความคุ้มครองที่เลือกซื้อ โดยมีเบี้ยประกันภัยตั้งแต่ 200 บาท จนถึง 1,000 กว่าบาทต่อปี และหลายบริษัทอยู่ระหว่างจัดแผนประกันภัยให้สามารถเลือกซื้อได้

*** 8 ความคุ้มครองไซเบอร์ส่วนบุคคล ***

สำหรับความคุ้มครองของการประกันภัยไซเบอร์ส่วนบุคคล สามารถแบ่งออกเป็น 8 แบบความคุ้มครองหลักๆ ดังนี้ ความคุ้มครองแบบที่ 1 การถูกโจรกรรมเงินทางอินเทอร์เน็ต ที่เกิดจากการถูกโจรกรรมข้อมูลส่วนบุคคล หรือการถูกโจมตีแบบฟิชชิ่ง โดยกระทำจากบุคคลภายนอก บริษัทประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับความสูญเสียหรือความเสียหายต่อเงิน หรือค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดี ตามหลักฐานที่เกิดขึ้นจริงแต่ไม่เกินวงเงินความคุ้มครองที่ซื้อไว้

ความคุ้มครองแบบที่ 2 การถูกกรรโชกทรัพย์ทางอินเทอร์เน็ต โดยกระทำจากบุคคลภายนอก บริษัทประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับความสูญเสียหรือความเสียหายต่อเงินเรียกค่าไถ่ที่สูญเสียไป หรือค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการแก้ไขเหตุการณ์ดังกล่าว ตามหลักฐานที่เกิดขึ้นจริงแต่ไม่เกินวงเงินความคุ้มครองที่ซื้อไว้

ความคุ้มครองแบบที่ 3 การถูกกลั่นแกล้งทางอินเทอร์เน็ต โดยการกระทำจากบุคคลภายนอก หรือ Bully ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียง บริษัทประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดี หรือค่าใช้จ่ายในการรักษาทางจิตวิทยา ตามหลักฐานที่เกิดขึ้นแต่ไม่เกินวงเงินความคุ้มครองที่ซื้อไว้

ภัยไซเบอร์บูลลี่จากข้อมูลเด็กไทยเป็นท็อป 5 ของโลก โดยถูกกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์มากถึง 48% เมื่อเทียบกับทั่วโลกมีแค่ 33% และเด็กไทยเคยถูกกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ถึง 41% เทียบกับทั่วโลก 39% ส่วนการรู้เห็นหรือเกี่ยวข้องกับการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์เป็นเด็กผู้ชายมากถึง 56% เด็กผู้หญิง 41%”

ความคุ้มครองแบบที่ 4 การถูกละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลทางอินเทอร์เน็ต โดยกระทำจากบุคคลภายนอก บริษัทประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีตามหลักฐานที่เกิดขึ้นและไม่สามารถเรียกร้องได้จากผู้รับผิดชอบจากแหล่งอื่น แต่ไม่เกินวงเงินความคุ้มครองที่ซื้อไว้

ความคุ้มครองแบบที่ 5 การคุกคามทางอินเทอร์เน็ต โดยกระทำจากบุคคลภายนอก บริษัทประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับค่าใช้จ่ายที่ไม่สามารถเรียกร้องได้จากผู้รับผิดชอบจากแหล่งอื่น ดังนี้ 1) ค่าใช้จ่ายในการกู้ข้อมูลหรือการล้างข้อมูลบนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล 2) ค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนฮาร์ดแวร์บนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล 3) ค่าใช้จ่ายในการกู้ข้อมูล หรือการล้างข้อมูลที่เป็นอันตรายต่อบ้านหรือที่อยู่อาศัยที่มีการติดตั้งระบบการควบคุมและเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล ตามหลักฐานที่เกิดขึ้นจริงแต่ไม่เกินวงเงินความคุ้มครองที่ซื้อไว้

ความคุ้มครองแบบที่ 6 การซื้อสินค้าทางอินเทอร์เน็ต กรณีถูกหลอกลวงให้สั่งซื้อสินค้าทางอินเทอร์เน็ตและชำระเงินค่าสินค้าให้กับผู้ขายแล้ว แต่ผู้ขายไม่จัดส่งสินค้าให้ภายในเวลาที่กำหนด บริษัทประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับจำนวนเงินที่ได้ชำระให้กับผู้ขายเพื่อซื้อสินค้าดังกล่าวตามใบเสร็จและไม่สามารถเรียกร้องได้จากผู้รับผิดชอบจากแหล่งอื่น แต่ไม่เกินวงเงินความคุ้มครองที่ซื้อไว้

ความคุ้มครองแบบที่ 7 การขายสินค้าทางอินเทอร์เน็ต กรณีถูกหลอกลวงให้ขายและได้มีการจัดส่งสินค้าให้กับผู้ซื้อสินค้าออนไลน์แล้ว แต่ไม่ได้รับเงินค่าสินค้าภายในเวลาที่กำหนด บริษัทประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับจำนวนเงินที่ไม่ได้รับการชำระเงินค่าสินค้าดังกล่าวตามใบเสร็จและไม่สามารถเรียกร้องได้จากผู้รับผิดชอบจากแหล่งอื่น แต่ไม่เกินวงเงินความคุ้มครองที่ซื้อไว้

ความคุ้มครองแบบที่ 8 ความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก อันเกิดจากการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลทางอินเทอร์เน็ต บริษัทประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามผู้เอาประกันภัยสำหรับจำนวนเงินที่ต้องรับผิดตามกฎหมายตามหลักฐานที่เกิดขึ้นจริงแต่ไม่เกินวงเงินความคุ้มครองที่ซื้อไว้

แม้ความเสี่ยงด้านไซเบอร์ส่วนบุคคล จะสามารถบริหารจัดการเพื่อควบคุมและลดความเสี่ยงได้ อย่างไรก็ตาม เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับประชาชน หากเกิดความสูญเสียหรือความเสียหายแล้วอาจจะมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตามมา การทำประกันภัยไซเบอร์ส่วนบุคคล จึงเป็นมาตรการที่จำเป็นเพื่อโอนความเสี่ยงไปให้บริษัทประกันภัยรับผิดชอบ หากเกิดเหตุการณ์ตามที่ระบุไว้ในสัญญาประกันภัย โดยเฉพาะการบริหารความเสี่ยงในการใช้ชีวิตประจำวันและการประกอบอาชีพของประชาชนยุคเศรษฐกิจดิจิทัล

*** คปภ. ไฟเขียวไลเซ่น 9 บริษัทวินาศภัย ***

ด้านนายอาภากร ปานเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการสายกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ สำนักงาน คปภ. ได้เห็นชอบแบบ ข้อความและอัตราเบี้ยประกันภัยกรมธรรม์ประกันภัยไซเบอร์รวมจำนวน 9 ราย แบ่งเป็นประกันภัยไซเบอร์ส่วนบุคคล จำนวน 5 บริษัท ได้แก่ 1.บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) 2.บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) 3.บริษัท กรุงไทยพานิชประกันภัย จำกัด (มหาชน) 4.บริษัท ไทยศรีประกันภัย จำกัด (มหาชน) 5. บริษัท ไทยไพบูลย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และอยู่ระหว่างการพิจารณาอีก 2-3 บริษัท ซึ่งประกันภัยไซเบอร์ส่วนบุคคลเป็นการคุ้มครองการใช้ชีวิตของผู้คนที่มีการใช้อินเทอร์เน็ท เช่น การซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์ การทำธุรกรรมต่างๆ การแชทพูดคุยกัน เป็นต้น ซึ่งมีความเสี่ยงจากการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของแต่ละคน เมื่อเสี่ยงต่อความเสียหายบริษัทประกันภัยจึงได้จัดความเสียหายด้านต่างๆ มาขายกรมธรรม์ให้ความคุ้มครอง

ส่วนประกันภัยไซเบอร์ภาคธุรกิจเป็นการให้บริการบริษัท องค์กรต่างๆ ที่มีฐานข้อมูลส่วนบุคคลจำนวนมากซึ่งจะอิงกับความปลอดภัยทางข้อมูล ไม่ถูกแฮกออกไปใช้จนทำให้เกิดความเสียหายต่อเจ้าของข้อมูล ไม่ถูกปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และคนบริหารระบบต้องพร้อมที่จะใช้งาน ซึ่งตอนนี้บริษัทให้บริการประกันภัยไซเบอร์ภาคธุรกิจแล้ว จำนวน 6 ราย ได้แก่ 1.บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) 2.บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) 3. บริษัท มิตซุย สุมิโตโม อินชัวรันซ์ จำกัด 4.บริษัท ชับบ์สามัคคีประกันภัย จำกัด (มหาชน) 5.บริษัท เอฟพีจี ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) 6.บริษัท เอไอจี ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และอยู่ระหว่างการพิจารณาอีก 2-3 ราย ซึ่งความคุ้มครองจ่ายตามจริงต่อปี ขึ้นต่ำ 6,000 บาท สูงสุดอยู่ที่วงเงินตกลงกันไว้ ซึ่งขึ้นอยู่กับเบี้ยที่มีการจ่ายกันไว้

“กรมธรรม์ประกันภัยไซเบอร์เริ่มมีการขายกันเดือน มี.ค.นี้ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการประชาชนที่มีการใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้น ซึ่งจะช่วยคุ้มครองจากการถูกแฮกข้อมูล กรรโชกทรัพย์ ซื้อสินค้าทางออนไลน์แล้วไม่ได้ เป็นต้น”

*** ธุรกิจไทยถูกโจมตีสูญปีละ 2 แสนล้าน ***

ดร.นรัตถ์ สาระมาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอลเทคโนโลยี อินทิเกรเทด จำกัด ในฐานะผู้พัฒนาและให้บริการด้านความปลอดภัยเครือข่ายสารสนเทศ หรือ Cyber Security ครบวงจร ภายใต้ชื่อ SRAN เปิดเผยว่า การที่องค์กรให้ความสำคัญกับการทำประกันภัยไซเบอร์จะส่งผลดีต่อประเทศด้วย เพราะทุกวันนี้ภัยคุกคามไซเบอร์มีจำนวนลดลง แต่มูลค่าความเสียหายเพิ่มขึ้นมาก เมื่อปลายปี 2563 มีมูลค่าเสียหายประมาณ 30 กว่าล้านล้านบาท มากกว่า 1% ของจีดีพี เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ถึง 50% เมื่อเทียบกับประเทศไทยมีจีดีพีอยู่ประมาณ 20 ล้านล้านบาท ความเสียหายจากภัยคุกคามไซเบอร์ 1% หมายความว่าธุรกิจได้รับความเสียหายตกปีละ 2 แสนล้านบาท

ผมมองว่าธุรกิจที่มีความเสี่ยงกับ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเป็นธุรกิจเหมาะสมที่จะทำประกันภัยไซเบอร์มาก ยกตัวอย่าง โรงพยาบาล คลินิก และโรงงานอุตสาหกรรม

*** 4 กลุ่มเสี่ยงถูกแฮกข้อมูลไซเบอร์ ***

ด้าน ดร.อภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน กรรมการและประธานคณะผู้บริหาร บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน)หรือ BKI เปิดเผยว่า ในระบบอินเทอร์เน็ทของกรุงเทพประกันภัยถูกบุกรุกเฉลี่ย 2 หมื่นครั้งต่อวัน แต่มีระบบป้องกันความปลอดภัยได้หมด เพราะฉะนั้นหน่วยงานภาครัฐ โรงพยาบาล องค์กรต่างๆ มีผู้จ้องบุกรุกส่วนใหญ่มาจากอิสราเอล บังคลาเทศ อินเดีย รัสเซีย ฯลฯ แต่ระบบที่เราใช้บริการ SRAN ป้องกันได้หมด

กลุ่มธุรกิจที่มีความเสี่ยงถูกคุกคามจากภัยไซเบอร์มากที่สุด อันดับ 1 ได้แก่ โรงพยาบาล อันดับ 2 บริษัทประกัน โดยเฉพาะบริษัทประกันชีวิตที่มีข้อมูลประกันสุขภาพของลูกค้าจำนวนมาก เพราะถือเป็นข้อมูลที่มีความลับสุดยอด และมักจะมีการเรียกค่าไถ่ได้ค่อนข้างสูงมาก อย่างเช่นกรณีเรียกค่าไถ่จากโรงพยาบาลสระบุรี 6 พันล้านบาท อันดับ 3 สถาบันการเงิน และอันดับ 4 น่าจะเป็นกลุ่มข้อมูลจากแอพลิเคชั่น ไทยชนะ เราชนะ เป็นต้น

ทั้งนี้ BKI มีผลิตภัณฑ์ให้บริการประกันภัยไซเบอร์ครอบคลุมทั้งส่วนบุคคลและภาคธุรกิจ ในส่วนความคุ้มครองธุรกิจจะไปดูข้อมูลที่เสียหายจากการบุกรุกสามารถกู้คืน ซ่อมแซม หรือสร้างขึ้นมาใหม่ได้หรือไม่ ถ้าสามารถทำได้จะให้ลูกค้าดำเนินการ โดยบริษัทเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดสูงสุดไม่เกินวงเงินคุ้มครองตามกรมธรรม์ระบุไว้สูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาท รวมถึงค่าใช้จ่ายจากการเรียกค่าไถ่ ข้อมูลรั่วไหล มีค่าใช้จ่ายกู้คืนภาพลักษณ์องค์กรก็จะให้ความคุ้มครองด้วย

*** ค่ายประกันยักษ์ใหญ่ตั้งแท่นลุย ***

นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เครือไทย โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ Thai Group เปิดเผย “สยามธุรกิจ” ว่า ทางอาคเนย์ประกันภัยกำลังพัฒนากรมธรรม์ประกันภัยไซเบอร์ทั้งส่วนบุคคลและภาคธุรกิจองค์กร โดยประกันภัยไซเบอร์ส่วนบุคคลจะออกสู่ตลาดก่อนประมาณไตรมาส 2 ปีนี้ อัตราเบี้ยไม่แพงจับกลุ่มข้อมูลการใช้โทรศัพท์มือถือ และช้อปปิ้งออนไลน์ จากนั้นถึงจะเป็นประกันภัยไซเบอร์ภาคธุรกิจ เนื่องจากมีข้อกฎหมายค่อนข้างซับซ้อน

ด้าน ดร. พงษ์ภาณุ ดำรงศิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กรุงไทยพานิชประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ KPI กล่าวว่า ขณะนี้ทาง KPI ก็ให้ความสนใจที่จะออกกรมธรรม์ประกันภัยไซเบอร์เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าที่อยู่ในกลุ่มดังกล่าว คาดว่าภายในปีนี้น่าจะออกสู่ตลาดได้ สาเหตุที่ล่าช้าเพราะมีขั้นตอนยื่นขออนุญาตกับสำนักงาน คปภ. อีกทั้งข้อมูลสถิติทางด้านนี้มีไม่ค่อยมาก อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นคาดว่าจะเป็นการให้บริการประกันภัยไซเบอร์ส่วนบุคคลจะเป็นรูปแบบประกันภัยให้กับเน็ทไอดอล แต่ยังไปไม่ถึงการบริการช้อปปิ้งทางออนไลน์



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ