สตง. สอบบัญชี “กองทุนอนุรักษ์” พบ สนพ.-พพ. ติดบ่วงการใช้จ่ายเงินด้วย

วันเสาร์ที่ 08 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

สตง. สอบบัญชี “กองทุนอนุรักษ์” พบ สนพ.-พพ. ติดบ่วงการใช้จ่ายเงินด้วย


การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด “ระลอก 3 ” ส่งผลกระทบต่อประชาชนคนไทยอย่างแสนสาหัส มีคนเสียชีวิตทุกวันเหมือนใบไม้ร่วง มีคนตกงาน โชคดีก็แบกรับภาระค่าที่เพิ่มขึ้นจนหนักอึ้งกันต่อไป

หลังตั้งหลักได้รัฐบาลเพิ่งจะออกมาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานช่วยเหลือประชาชนชน ไม่ว่าจะเป็นการลดค่าไฟฟ้า และค่าน้ำประปา ขยายผลจากเดิมที่ได้ดำเนินการในช่วงเดือน ก.พ. ถึง มี.ค. ได้ต่อเนื่องไปจนถึงเดือน เม.ย.ถึง พ.ค. 64

เม็ดเงินที่รัฐบาลนำมาโปะค่าไฟฟ้าช่วยเหลือประชาชนงวดนี้มีจำนวนถึง 8 พันล้านบาท เป็นงบประมาณจากรัฐบาลทั้งหมด เพราะเงินจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ดูแลอยู่หมดเกลี้ยงตั้งแต่คราวเอาไปลดค่าไฟฟ้าจากโควิด “ระลอก 2” แล้ว

ตอนนี้ถ้าส่องกล้องดูเม็ดเงินในกระทรวงพลังงานที่จะเอาไปทำ “ยาแดง” ช่วยเหลือจ้างงานประชาชน หรือกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงโควิดรอบใหม่นี้เหลือเพียงเม็ดเงินจาก “กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน” เท่านั้น ในปี 2564 ได้กำหนดวงเงินไว้ที่ 6,305 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 28 เดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ได้ปิดรับโครงการที่ยื่นของบจากกองทุนฯ แล้วสำหรับกลุ่มหลักปรากฏว่ามีผู้ยื่นเสนอจำนวน 476 โครงการ วงเงินสูงถึง 1.02 หมื่นล้านบาท จากวงเงินที่จัดสรรไว้ 3,905 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 6 กลุ่มย่อย ได้แก่ กลุ่มงานตามกฎหมาย วงเงินสนับสนุน 200 ล้านบาท กลุ่มงานสนับสนุนนโยบายอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน วงเงินสนับสนุน 500 ล้านบาท กลุ่มงานศึกษา ค้นคว้าวิจัย นวัตกรรม และสาธิตต้นแบบ วงเงินสนับสนุน 355 ล้านบาท กลุ่มงานสื่อสาร และข้อมูล ข่าวสาร วงเงินสนับสนุน 200 ล้านบาท กลุ่มงานพัฒนาบุคลากร วงเงินสนับสนุน 450 ล้านบาท และกลุ่มงานส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนในกลุ่มโรงงาน อุตสาหกรรม อาคาร บ้านอยู่อาศัย ภาคขนส่ง ธุรกิจฟาร์มเกษตรสมัยใหม่ และพื้นที่พิเศษ วงเงินสนับสนุน 2,200 ล้านบาท กลุ่มนี้คาดว่าจะเสนอคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พิจารณาช่วงเดือน พ.ค. นี้

ต่อมาเมื่อวันที่ 31 มี.ค. ที่ผ่านมา ได้ปิดรับโครงการกลุ่มสอง คือ กลุ่มงานส่งเสริมอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนเศรษฐกิจฐานราก หลังคณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.บ.จ.) จากทั่วประเทศส่งโครงการเข้ามามีจำนวนถึง 1,861 โครงการ วงเงิน 4.55 พันล้านบาท จากที่จัดสรรไว้จำนวน 2,400 ล้านบาท กลุ่มนี้คาดว่าจะเสนอคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พิจารณาช่วงกลางเดือน มิ.ย. นี้

อย่างไรก็ตาม หากย้อนดูการเบิกจ่ายเงินของกองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในอดีตยังมีปัญหาอย่างต่อเนื่อง โดยที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 1 เม.ย. ที่ผ่านมา ได้รับทราบรายงานของผู้สอบบัญชีและงบการเงิน กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานสิ้นสุดวันที่ 30 เดือน ก.ย. 2558 ถึงสิ้นสุดวันที่ 30 เดือน ก.ย. 2561 โดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้มีความเห็นในรายงานผลการสอบบัญชีงบการเงินดังกล่าวแสดงฐานะการเงินของกองทุนฯ ณ วันที่ 30 เดือน ก.ย. 2558 วันที่ 30 เดือน ก.ย. 2559 วันที่ 30 เดือน ก.ย. 2560 และวันที่ 30 เดือน ก.ย. 2561 โดยแสดงความเห็นมีเงื่อนไขและข้อสังเกตโดยสรุปว่า ค่าใช้จ่ายแผนงาน โครงการ แสดงข้อมูลไม่ตรงกับสถานะที่เป็นจริง ส่งผลให้ไม่สามารถตรวจสอบความมีอยู่จริงและการใช้จ่ายเงินที่แท้จริงของแต่ละโครงการที่มีการเบิกจ่ายเงินจากกองทุนฯ

การปิดโครงการและส่งคืนเงินเหลือจ่าย กองทุนฯ บันทึกบัญชีรับรู้เป็นรายได้อื่นประเภทเงินเหลือจ่ายส่งคืน ซึ่งเงินจำนวนนี้กองทุนได้บันทึกเป็นค่าใช้จ่ายแผนงาน โครงการแล้วทั้งจำนวน และกองทุนฯ มีข้อมูลไม่ครบถ้วนในการบันทึกบัญชีและการจัดทำรายงานการเงิน

นอกจากนี้ การบันทึกรายการบัญชีไม่ตรงตามระบบบัญชีกองทุนฯ ทั้งนี้ สตง. ไม่สามารถหาวิธีตรวจสอบหลักฐานการสอบบัญชีปี 2558 ถึงปี 2561 ที่เหมาะสมได้อย่างเพียงพอเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายแผนงาน โครงการที่ถูกต้อง เนื่องจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานผู้เบิกเงินกองทุนฯ รายงานสรุปผลการใช้จ่ายเงินโครงการและนำเงินคงเหลือส่งคืนเมื่อสิ้นปีงบประมาณไม่ครบถ้วน อีกทั้งกองทุนไม่ได้ติดตามการสรุปผลการใช้จ่ายเงินดังกล่าว ส่งผลให้กองทุนไม่ทราบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงของแต่ละโครงการ

เมื่อวันที่ 13 เดือน มี.ค. 2563 คณะกรรมการกองทุนฯ ได้มีมติมอบหมายให้คณะอนุกรรมการบริหารสำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จัดตั้งคณะทำงานเพื่อเร่งแก้ไขการปิดบัญชีโครงการคงค้าง และการปิดบัญชีในภาพรวมของปีงบประมาณ 2557 ถึง 2561 โดยคณะทำงานแก้ไขปัญหาบัญชีกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ได้มีข้อเสนอแนะให้สำนักงานกองทุนฯ ดังนี้

1.ศึกษากระบวนการทำงานของระบบงานบริหารกองทุนฯ โดยควรใช้ระบบสารสนเทศเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารกองทุนฯ 2.ปรับปรุงระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การเบิกจ่ายเงินและการปิดโครงการเป็นไปอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ 3.หารือกับกรมบัญชีกลางในการทบทวนระบบบัญชีของกองทุนฯ และคู่มือระบบบัญชีให้สอดคล้องกับหลักการและนโยบายบัญชีสำหรับหน่วยงานภาครัฐ ฉบับที่ 2 มาตรฐานและนโยบายบัญชีภาครัฐ และการเปิดเผยข้อมูลในหมายเหตุประกอบงบการเงิน โดยสำนักงานกองทุนฯ อยู่ระหว่างดำเนินการตามข้อเสนอแนะดังกล่าว

ต่อมาเมื่อวันที่ 30 เดือน ต.ค. 2563 คณะกรรมการกองทุนฯ ได้มีมติให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการการเงินและบัญชีกองทุนเพี่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะสำนักงานกองทุนฯ ในการจัดทำบัญชีกองทุนให้ถูกต้อง โดยเมื่อวันที่ 18 เดือน มี.ค. 2564 คณะอนุกรรมการฯ ได้มีมติมอบหมายให้สำนักงานกองทุนฯ และหน่วยงานผู้เบิก ได้แก่ สนพ. และ พพ. จัดทำข้อมูลรายงานสถานะโครงการที่อนุมัติจัดสรรตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557 ถึง 2561 และเบิกจ่ายเงินกองทุนตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557 จนถึงปีที่สิ้นสุดการเบิกจ่าย ซึ่งประกอบด้วยสถานะการเบิกจ่ายเงิน และสถานะการดำเนินโครงการถึงสิ้นสุดการปิดบัญชีโครงการ

และมอบหมายให้สำนักงานกองทุนฯ เร่งดำเนินการให้มีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการโครงการ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการดำเนินงานและการตัดสินใจ โดยให้มีการสำรวจความต้องการใช้ข้อมูลสถานะโครงการ หรือประเภทของรายงานที่ต้องการใช้จากคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ ของกองทุนฯ ซึ่งสำนักงานกองทุนฯ จะได้จัดทำแผนการดำเนินการเพื่อเร่งแก้ไขข้อสังเกตของ สตง. โดยกำหนดแล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ 2564

 



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ