2 นักเรียนรู้ปรับใช้เทคโนโลยี GAP-อินทรีย์ดีเด่นแห่งชาติ

วันพุธที่ 09 มิถุนายน พ.ศ. 2564

2 นักเรียนรู้ปรับใช้เทคโนโลยี GAP-อินทรีย์ดีเด่นแห่งชาติ


ในทุกปีกรมวิชาการเกษตรจะพิจารณาคัดเลือกเกษตรกรดีเด่นที่ผลิตพืชตามมาตรฐาน GAP และเกษตรอินทรีย์ เพื่อยกย่องประกาศเกียรติคุณ และเผยแพร่ผลงานให้สาธารณชนทั่วไปได้รู้จักและยึดเป็นแนวทางการปฏิบัติงาน เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่เกษตรกร โดยในปีนี้กรมวิชาการเกษตรได้คัดเลือก นายอำนาจ จันทรส เกษตรกรเจ้าของสวนลำไย จังหวัดจันทบุรี เป็นผู้ที่ได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (GAP) และนายสุธรรม จันทร์อ่อน เกษตรกรปลูกพืชผักผสมผสาน จังหวัดนครปฐม ได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาพืชอินทรีย์

นายอำนาจ จันทรส เกษตรกร GAP ดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2564 ของสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จังหวัดจันทบุรี อดีตข้าราชการครูที่หันมาประกอบอาชีพเกษตรกรชาวสวนลำไย โดยนำกิ่งพันธุ์จำนวน 200 ต้นจากจังหวัดลำพูนมาทดลองปลูก ซึ่งเมื่อปลูกจนให้ผลแล้วจึงพบปัญหาการออกดอกติดผลแปรปรวนไม่สม่ำเสมอ ทำให้ไม่สามารถวางแผนการผลิตและคาดการณ์ปริมาณผลผลิตที่แน่นอนได้ ด้วยทักษะและประสบการณ์การผลิตลำไยนอกฤดูคุณภาพและการบริหารจัดการสวนที่ดีตามมาตรฐาน GAP ทำให้การผลิตลำไยที่สวนภัทรพันธุ์ของนายอำนาจซึ่งมีพื้นที่ 140 ไร่ มีต้นลำไยจำนวน 3,374 ต้นประสบความสำเร็จทุกปี

โดยนายอำนาจ ใช้วิธีการปรับปรุงบำรุงดินด้วยการใส้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ต้นลำไย 5-10กก./ต้น/ปี และทุก 3 ปีจะมีการปรับค่าความเป็นกรดด่างของดินด้วยการใส่ปูนโดโลไมท์เพื่อไม่ให้ดินที่ใส่ปุ๋ยเคมีติดต่อกันเป็นเวลานานมีค่าความเป็นกรดด่างมากเกินไปซึ่งอาจส่งผลเสียต่อต้นลำไยได้ในช่วงใบอ่อนมีการใช้น้ำหมักจากสะเดาเพื่อไล่แมลงและใช้เชื้อไตรโคเดอร์มาผสมน้ำฉีดพ่นลงดินเพื่อปรับปรุงดินและป้องกันโรครากเน่าโคนเน่า โดยในปี 2563 ที่ผ่านมาได้ผลผลิตจำนวน 1,980 กิโลกรัม/ไร่ ซึ่งสูงกว่าผลผลิตลำไยของจังหวัดจันทบุรีที่มีค่าเฉลี่ย 869 กิโลกรัม/ไร่ โดยนายอำนาจมีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตลำไยในปี 2563 จำนวน 1,744,360 บาท

ส่วนนายสุธรรม จันทร์อ่อน เกษตรกรพืชอินทรีย์ดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2564 ของสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดชัยนาท เกษตรกรที่ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวปฏิบัติในการดำเนินชีวิต แต่เนื่องจากกิจกรรมทางการเกษตรมีต้นทุนที่สูง กระบวนการผลิตยังมีการใช้สารเคมีในปริมาณสูง ส่งผลให้มีปัญหาทั้งด้านสุขภาพและหนี้สินจึงกลับมาทำเกษตรแบบธรรมชาติโดยเริ่มทำการเกษตรในรูปแบบเกษตรอินทรีย์ ในปี พ.ศ. 2542 จนสามารถปลดหนี้สินได้สำเร็จและยึดแนวทางผลิตพืชแบบอินทรีย์มาจนถึงปัจจุบัน

ภายในเนื้อที่ทำการเกษตรจำนวน 17 ไร่ นายสุธรรม ได้แบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วนสำหรับปลูกข้าว ปลูกพืชผักผสมผสาน ไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชสมุนไพร ผลิตปุ๋ยหมักชีวภาพ น้ำหมักชีวภาพ และโรงสีข้าว โดยพื้นที่จำนวน 5 ไร่ ได้การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์จากกรมวิชาการเกษตร

ปัจจุบันมีพืชที่ขอการรับรองจำนวน 27 ชนิด โดยปลูกผักหลายชนิดในแปลงเดียวกันและเลือกปลูกผักที่ให้ผลผลิตดีตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมของระบบเกษตรอินทรีย์มากที่สุด เช่น ผักพื้นบ้าน โดยนำเทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตร เช่น แมลงหางหนีบ ไส้เดือนฝอย เชื้อราบิวเวอเรีย มาใช้ในการบริหารจัดการศัตรูพืช ใช้พืชสมุนไพรขับไล่แมลง คลุมแปลงด้วยพลาสติกในพืชบางชนิด เพื่อลดปัญหาวัชพืชและแรงงาน ในปี 2563 ที่ผ่านมามีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตจำนวน 55,900 บาท/ไร่/ปี



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ