“E-Services ใครได้ ใครเสีย”

วันเสาร์ที่ 03 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

“E-Services ใครได้ ใครเสีย”


หากถามว่าประชาชนทุกคนมีหน้าที่ต้องเสียภาษีจริงหรือไม่  ก็มักจะคิดถึงหน้าที่การเสียภาษีเงินได้ที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการกันทุกปี ซึ่งหากมีเงินเดือนหลังหักค่าใช้จ่ายค่าลดหย่อนต่างๆ แล้วไม่ถึง 1.5 แสนบาทก็ไม่ต้องเสียภาษี  และลืมนึกถึงภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้บริโภคมักจะเป็นผู้แบกรับภาระภาษีอันเป็นผลจากการผลักภาระจากผู้ประกอบการโดยถือเป็นส่วนหนึ่งของราคา เพียงแต่กฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการที่จะต้องรับผิดชอบการยื่นแบบแสดงรายการและนำส่งเงินค่าภาษีให้แก่รัฐ

โดยหลักการแล้ว ภาษีมูลค่าเพิ่มจะจัดเก็บเฉพาะการบริโภคสินค้าหรือบริการภายในประเทศเท่านั้น หากไม่บริโภคภายในประเทศก็จะไม่ถูกจัดเก็บภาษี  เช่น นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาซื้อสินค้าในประเทศไทย และได้นำขึ้นเครื่องบินกลับไปประเทศของตน กฎหมายก็จะคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่นักท่องเที่ยว เช่นเดียวกับกรณีที่คนไทยไปเที่ยวต่างประเทศ หากซื้อสินค้านำกลับเข้ามาบริโภคในประเทศไทย ก็จะถูกกรมศุลกากรเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อนำเข้า  แต่ก็จะได้รับคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากประเทศที่ไปท่องเที่ยวมานั้น อันเป็นหลักปฏิบัติที่เป็นสากลนั่นเอง 

เมื่อโลกเข้าสู่ยุคดิจิตัล การซื้อขายสินค้าและบริการแบบไม่จำกัดพรมแดนโดยใช้อินเตอร์เน็ตแพลตฟอร์มเป็นที่นิยมกันมากขึ้น  ผู้ประกอบการในต่างประเทศไม่จำต้องเข้ามาประกอบกิจการในประเทศไทยอีกต่อไป มีผลให้ไม่สามารถจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการในต่างประเทศได้และสร้างความเสียเปรียบให้แก่ผู้ประกอบการไทยซึ่งมีภาระภาษีต่างๆมากมาย โดยเฉพาะในกรณีของ “สินค้าที่ไม่มีรูปร่างที่ส่งมอบผ่านระบบอินเตอร์เน็ต” หรือ  “ค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์”  เนื่องจากมิได้มีการขนส่งโดยเรือหรือเครื่องบินดังเช่นสินค้าที่มีรูปร่างที่กรมศุลกากรจะช่วยดูแลจัดเก็บอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มให้  จึงได้มีแนวคิดที่จะแก้ไขประมวลรัษฎากรเพื่อจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจาก “ทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่างที่ส่งมอบผ่านระบบอินเตอร์เน็ต” และ “การให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์” จากเจ้าของอินเตอร์เน็ตแพลตฟอร์มในต่างประเทศ และได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ. 2564 ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 เพื่อจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 เป็นต้นไป โดยมีสาระสำคัญดังนี้ 

1. นิยามคำว่า “บริการทางอิเล็กทรอนิกส์” ที่จะต้องเสียภาษีให้หมายความถึง “บริการซึ่งรวมถึงทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่างที่ส่งมอบโดยผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตหรือเครือข่ายทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นใด ซึ่งลักษณะของบริการเป็นไปโดยอัตโนมัติในสาระสำคัญ โดยบริการดังกล่าวไม่สามารถกระทำได้หากปราศจากเทคโนโลยีสารสนเทศ” และเพื่ออุดช่องว่างไม่ให้ตีความบริการทางอิเล็กทรอนิกส์ว่าเป็นสินค้า จึงแก้ไขนิยามของคำว่า “สินค้า” ให้ “ไม่รวมถึงทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่างที่ส่งมอบโดยผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตหรือเครือข่ายทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นใด”  ดังนั้น ทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่างที่ส่งมอบโดยผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตจึงต้องถือว่าเป็น “บริการทางอิเล็กทรอนิกส์” เสมอ  นอกจากนี้ ยังได้นิยามคำว่า “อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม” ให้หมายถึง “ตลาด ช่องทาง หรือกระบวนการอื่นใดที่ผู้ให้บริการหลายรายใช้ในการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้รับบริการ”  กล่าวคือ อิเล็กทรอนิกส์แฟลตฟอร์มจะมีลักษณะเป็นตลาดหรือพื้นที่ในโลกออนไลน์ที่ให้ผู้ซื้อกับผู้ขายบริการอิเล็กทรอนิกส์มาพบเพื่อซื้อขายกันนั่นเอง

2. กำหนดหน้าที่ในการจดทะเบียนและเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ประกอบการจากต่างประเทศ

ก. กรณีผู้จ่ายค่าบริการในประเทศจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม  กำหนดให้ผู้จ่ายค่าบริการมีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มแทนผู้ประกอบการต่างประเทศ โดยใช้แบบ ภพ.36 ตามปกติ

ข. กรณีผู้จ่ายค่าบริการในประเทศไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม  กำหนดให้ผู้ประกอบการต่างประเทศทั้งกรณีบริการทางอิเล็กทรอนิกส์และกรณีอิเล็กทรอนิกส์แฟลตฟอร์ม มีหน้าที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อมีรายรับตั้งแต่ 1.8 ล้านบาท/ปี โดยอาจยื่นจดทะเบียนด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์แทนวิธีการยื่นจดทะเบียนตามปกติก็ได้ และมีหน้าที่เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้จ่ายค่าบริการโดยไม่ต้องออกใบกำกับภาษี จากนั้นให้ยื่นเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (ผ่านวิธีการทางอิล็กทรอนิกส์ก็ได้)โดยคำนวณเฉพาะภาษีขายเท่านั้น และไม่มีสิทธินำภาษีซื้อไปหักออก

ค. ผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์แฟลตฟอร์ม มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มแทนผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ในกรณีที่มีกระบวนการต่อเนื่องตั้งแต่การนำเสนอการให้บริการ การชำระค่าบริการ และการอื่นใดตามที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด

เป็นที่แน่นอนว่าเมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับในเดือนกันยายนนี้ ผู้ที่จะต้องแบกรับภาระภาษีมูลค่าเพิ่มที่แท้จริงก็คงจะหนีไม่พ้นเราๆท่านๆที่เป็นผู้บริโภคภายในประเทศ ซึ่งจะต้องจ่ายค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบการต่างประเทศเพิ่มขึ้นอีก 7% ตามหลักของภาษีการบริโภคที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น อย่างไรก็ดี แม้กฎหมายฉบับนี้จะสร้างภาระให้แก่คนไทยเพิ่มขึ้น แต่ก็สร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้ประกอบการภายในประเทศที่ประกอบกิจการในลักษณะเดียวกันและได้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มมาโดยตลอด ให้มีโอกาสลืมตาอ้าปากแข่งขันกับเขาได้บ้างโดยรัฐบาลคาดว่าจะได้เงินภาษีเพิ่มขึ้นจากกฎหมายฉบับนี้ประมาณ 3,000 ล้านบาทต่อปี

โดย ดร.ธีระวุฒิ เต็มสิริวัฒนกุล 

บริษัท ลอว์อัลลายแอนซ์ จำกัด



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ