"โทนี่ วู้ดซั่ม" แนะรัฐบาลต้องวางยุทธศาสตร์วัคซีนต้านโควิด-19แนะผู้นำต้องทำงานหนักส่งทูตเจรจาหาวัคซีนกับต่างประเทศต่างที่มีวัคซีนในสต๊อกด้วยขอยืมมาก่อนแล้วใช้คืน ระบุมีกฎหมายในมือแต่ใช้ไม่เต็มประสิทธิภาพ พร้อมแนะยุบศบค.โยนลูกให้สาธารณะสุขทำงานภายใต้นายกฯสั่งการ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อคืนวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมากลุ่ม แคร์คิดเคลื่อนไทยได้จัดรายการ "CARE Talk x CARE Clubhouse : "ล็อกดาวน์ แล้วยังไงต่อ? ประชาชนพรัอมรับคำสั่ง รัฐบาลพร้อมทำให้ประชาชนหรือยัง" โดยมีการเชิญ "โทนี่ วู้ดซั่ม" (Tony Woodsome) หรือ ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเข้ามาให้ความเห็นในโซเชี่ยลมีเดีย Club house กรณีการจัดหาวัคซีนต้านโควิด-19 ของรัฐบาลว่า ล็อกดาวน์ครั้งนี้ “เจ็บแต่ไม่จบ” เพราะรัฐบาลไทยยังขาดนโยบายวัคซีนต้านโควิด-19 อย่างเป็นรูปธรรม โดย โทนีให้ความเห็นว่า แผนการฉีดวัคซีนด้วยเชื้อต่างประเภท ต่างยี่ห้อที่ยังไม่มีงานวิจัยรับรองอย่างชัดเจน อีกทั้งองค์การอนามัยโลก (WHO) ยังออกมาเตือนถึงความเสี่ยงของการฉีดวัคซีนคนละประเภทโดยที่ยังไม่มีการศึกษาเพียงพอ
"ทุกวันนี้ประเทศไทยทดลองแล้วหรือยัง มีข้อมูลมากเพียงพอไหม อย่าเอาประชาชนมาเป็นหนูทดลอง ขอให้รอบคอบ ผมไม่ได้บอกว่าไม่ดีแต่ขอให้ไปศึกษาดูก่อน"
อีกหนึ่งมิติสำคัญคือแผนการบริหารจัดการวัคซีนที่ชัดเจนซึ่งรัฐบาลยังไม่มีมาเปิดเผยให้กับสังคม โดย ดร.ทักษิณ ย้ำว่า อย่างน้อยที่สุด รัฐบาลต้องตอบให้ได้ว่าสรุปแล้ววัคซีนที่ประเทศไทยจะใช้ มียี่ห้ออะไรบ้างในภาวะปัจจุบันและเพื่อเตรียมพร้อมในอนาคต จะมีการกระจายความเสี่ยงหรือไม่ หรือยังจะยืนยันว่าจะใช้แค่ซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้าเท่านั้น
นอกจากนี้ ดร.ทักษิณ ยังได้แนะนำว่ารัฐบาล ต้องทำงาเชิงรุก ต้องติดต่อเจรจากับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ของโลกที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพ อาทิ ไฟเซอร์ ว่าต้องลดขั้นตอนตามระบบของข้าราชการไทยในปัจจุบันออกไปให้เหมาะสมกับการเจรจาในภาวะฉุกเฉิน หากว่าสามารถติดต่อสั่งซื้อได้แล้ว แต่ยังต้องใช้ระยะเวลาสักพักในการส่งมายังประเทศไทย ก็ต้องส่งทูตเจรจาคุยกับประเทศที่มีวัคซีนเหลือ เช่น กรณีที่เกาหลีใต้ขอยืมวัคซีนไฟเซอร์จากอิสราเอล เป็นต้น พร้อมกับตอกย้ำว่า ศิลปะการเจรจาข้างต้นเป็นหนึ่งในสิ่งที่ผู้นำของประเทศต้องทำ และหากตนดำรงตำแหน่งนายกฯ จะขวนขวายให้ได้มาซึ่งวัคซีนอย่างรวดเร็ว ซึ่งประจวบเหมาะกับว่าปัจจุบัน ประเทศไทยอยู่ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีอำนาจมากมายในการบริหารประเทศอย่างรวดเร็ว แต่กลับไม่มีประสิทธิภาพเต็มที่
นอกจากนี้อดีตนายกรัฐมนตรียังแนะถึงแนวทางการจัดหารวัคซีนทางเลือกในระยะยาวต่อจากนี้อย่าง 'โนวาแวกซ์' ซึ่งไทยควรพิจาณาเข้าไปติดต่อเจรจาซื้อขายล่วงหน้า
สำหรับผู้เสียสละซึ่งทำหน้าที่เป็นปราการด่านหน้าของสังคมไทยอย่างบุคลากรทางการแพทย์ ดร.ทักษิณ ย้ำว่าต้องมอบทรัพยากรที่ดีที่สุดในกับ"ด่านหน้า" อย่างบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งวัคซีนที่ดีอย่างไฟเซอร์ รวมไปถึงผลิตภัณฑ์เสริมภูมิคุ้มกันทำให้ร่างกายแข็งแรงอื่นๆ ไปจนถึงเบี้ยเลี้ยงและค่าตอบแทนเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ดร.ทักษิณ มองว่า การเยียวยาที่นายกรัฐมนตรีลงมติออกมาในวันนี้ก็นับว่าดี แต่ยังทำได้ดีกว่านี้ให้ครบทุกมิติ
ดร.ทักษิณ กล่าวว่า หากทางการสหรัฐฯมอบไฟเซอร์มาให้ไทย ก็ควรให้บุคลากรทางการแพทย์ก่อน เพราะเป็นด่านหน้าที่ต่อสู้โรค และตกลงที่ท่านสั่งไฟเซอร์มา 20 ล้านโดส แต่วันนี้สัญญายังไม่ไปถึงไหนเลย อย่าคิดให้เป็นการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบเลย เอาประชาชนก่อนไหม ขั้นตอนที่มีเยอะแยะ ลดขั้นตอนได้ไหม จะได้เอาของดีมาใช้”
“บุคลากรการแพทย์ เขาคือผู้เสียสละที่ต้องเจอเชื้อโรคทุกวัน ดังนั้นต้องมีภูมิคุ้มกันที่ดี เอาวัคซีนดีๆ เอายาดีๆ มาให้เขา ถ้าด่านหน้าพังมันก็จะพังกันหมด เบี้ยเลี้ยงบำรุงกำลังใจให้เขาเลย จะหวงงบทำไม ใจถึงหน่อย”
ดร.ทักษิณ ยกประเด็นว่า เหตุใดสินค้าจำเป็นที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ถึงแพงมาก ทั้งชุดตรวจการติดเชื้อไปจนถึงวัคซีนต้านโควิด-19 จากเอกชน ที่นับว่าแพงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกมาก
"บ้านเราเรื่องโควิดทำไมมันแพงทุกอย่าง rapid test แพง วัคซีนก็ยังแพง เราเป็นประเทศกำลังพัฒนานะครับ"
ดร.ทักษิณ ย้ำว่า ปัจจุบันนี้คนตายมีสองฝ่ายคือตายจากโควิด-19 และตายจากพิษเศรษฐกิจขณะที่การเยียวยาก็ไม่ทั่วถึง ราคาสิค้าที่จำเป็นกับโควิด-19 ก็ยังแพงอีก "มาตรการเยียวยาที่ออกมา ขอให้เป็นธรรมทั่วถึงหน่อย" ถ้ารัฐบาลยังปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไป จะมีปัญหาในเชิงโครงสร้างฐานลึก เพราะ "วันนี้สภาพของคนไทยหลายส่วนไม่เหมือนมนุษย์แล้ว" จากปัญหาเศรษฐกิจ
"วันนี้ต้องเข้าใจก่อนว่าประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนามันเลียนแบบกันไม่ได้ เพราะเราไม่มีเงินมากเพียงพอในการอุดหนุนกิจการภายใน ประเทศไทยไม่ได้อยู่ในสภาวะที่สามารถปิดเศรษฐกิจได้เป็นระยะเวลานาน ถ้าเรายังจะเลียนแบบประเทศที่มีเงิน แต่เรากลับเยียวยาไม่เต็มที่ "มันเหมือนเราเห็นชีวิตคนไม่เป็นคน"
อดีตนายกรัฐมนตรีแนะนำว่า หากจะเริ่มแก้ปัญหาวิกฤตสาธารณสุขในปัจจุบันให้เริ่มจากการยุบ ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค.ออกไป แล้วส่งหน้าที่ให้กับกระทรวงสาธารณสุขพร้อมด้วยนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ดูแลโดยตรง
"วันนี้ถ้า(หน่วยงานบริหารจัดการ)ไม่ได้เรื่องแล้วไม่ปรับออก ก็แปลว่านายกฯ ไม่ได้เรื่อง"
ในท้ายรายการ อดีตนายกฯตอบคำถามผู้ที่เข้าร่วมรายการว่า ยินดีให้คำปรึกษากับนายกรัฐมนตรีในทุกๆ เรื่อง โดยไม่คิดมูลค่า ก่อนปิดท้ายยืนยันว่าจะกลับมาเมืองไทยแน่นอน