สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสมรณะ “โควิด-19” ที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น จำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นอย่างมากถึงวันละหมื่นกว่าราย ตัวเลขคนตายวันละไม่ต่ำกว่า 100 ประชาชนต้องยากลำบากแสนสาหัส ผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตเพิ่มจำนวนมากขึ้นในทุกๆ วัน มีผู้ป่วยจำนวนมากไม่สามารถเข้าสู่ระบบการรักษาพยาบาล ระบบสาธารณสุขของประเทศล่มสลาย
เมื่อหันไปดูการบริหารจัดการแก้วิกฤติการระบาดของโควิด-19 ของรัฐบาล จะเห็นว่ามาตรการต่างๆ ที่รัฐบาล บังคับใช้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาอะไรได้อีกต่อไป มีแต่จะทำให้ประชาชนต้องทุกข์ยากมากยิ่งขึ้น ทั้งต้องเผชิญกับโรคระบาดและพิษเศรษฐกิจ สิ่งที่ปรากฏในวันนี้ จึงกลายเป็นประชาชนต้องเป็นฝ่ายประสบเคราะห์กรรม ต้องเจ็บป่วยและล้มตายอย่างอเนจอนาถกลางท้องถนน
ความจริงแล้วประชาชนคนไทยไม่ควรจะต้องมาติดเชื้อ เจ็บป่วยและต้องตายบนท้องถนนแบบไร้การเหลียวแลจากรัฐบาล ปล่อยให้ประชาชนต้องเผชิญโรคระบาดตามยถากรรม ภาพที่ปรากฏเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ รัฐบาลคือผู้ที่ทำให้ประชาชนคนไทยต้องได้รับความยากลำบาก
ทั้งหมดล้วนเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลบริหารจัดการสถานการณ์ผิดพลาดล้มเหลวตั้งแต่ต้น ประเมินสถานการณ์ผิดพลาด ไร้การวางแผนอย่างเป็นระบบ ไม่มีแผนรับมือทั้งระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว รวมถึงไร้แผนการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ตลอดเวลาการบริหารงานของ “รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์” ที่ผ่านมา วันนี้จึงได้ยินเสียงเรียกร้องจากทั่วสารทิศว่า “พลเอกประยุทธ์” และคณะจะต้องพิจารณาตัวเอง “เปิดทาง” ให้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถมาแก้ไขปัญหา เพื่อให้ประชาชนคนไทยรอดพ้นจากสถานการณ์วิกฤติครั้งนี้
นาทีที่ต้นทุน “กองหนุน” ของรัฐบาล โดยเฉพาะในตัว “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและรมว.กระทรวงกลาโหมนั้นแทบจะไม่เหลืออยู่แล้ว ความนิยมลดฮวบ หากแต่เวลานี้ “บิ๊กตู่” เลือกกลยุทธ์ “หนี” แต่ไม่ยอมแพ้ เลือกที่จะหลบพายุอารมณ์ของผู้คนในสังคม คอยประเมินสถานการณ์แบบเงียบๆ จะเห็นได้จากการที่พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กว่า
“..เพื่อช่วยให้พี่น้องประชาชนได้ผ่านวิกฤตินี้ไปให้ได้ ผมขอให้พวกเราทุกคนไม่ยอมแพ้ต่อช่วงเวลาที่ยากลำบาก ผมและรัฐบาลจะหาทางช่วยทุกท่านให้ได้มากที่สุด และจะไม่มีวันยอมแพ้ต่อสงครามครั้งนี้..”
ขณะเดียวกัน พลเอกประยุทธ์ก็ส่งสัญญาณไปยังพรรคร่วมรัฐบาลต่อประเด็นวัดใจการ “ถอนตัว” ของ 2 พรรคการเมืองร่วมรัฐบาล “ภูมิใจไทย” และ “ประชาธิปัตย์” ที่ว่า “..ตอนนี้ไม่ใช่เวลาเล่นการเมือง ใครจะทิ้งผมก็ตามใจ แต่ผมจะทำงานต่อ..” ที่ถูกแปลความว่า นี่คือ “ความไม่สนใจ” ฝ่ายการเมือง หรืออีกความหมายหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ “ไฟเขียว” หาก 2 พรรคใหญ่จะสละเรือเหล็ก หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตามที่ “พรรคฝ่ายค้าน” เดินเกมเปิดช่องไว้ให้
ในมุมของนักการเมืองรุ่นเก๋า อย่าง “เฮียตือ” สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล อดีตรองประธานสภาฯในวันที่สวมเสื้อภูมิใจไทย มองขาดว่า ในสถานการณ์โรคระบาด และการแก้ปัญหาที่ไม่แล้วเสร็จ เชื่อว่าไม่มีพรรคการเมืองใดคิดจะถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล เพราะแต่ละคนมี “แผลเต็มตัว” ที่อาจทำให้คู่แข่งใช้เล่นงานทางการเมืองในสนามเลือกตั้งได้ เชื่อว่าไม่มีใครกล้าไปแน่นอน ทั้งภูมิใจไทย และประชาธิปัตย์ หากลงเลือกตั้งในสถานการณ์แบบนี้ ไม่มีทางชนะ หากยุบในสถานการณ์ตอนนี้ แพ้แน่นอน และยังเชื่อว่านายกรัฐมนตรีจะไม่ยุบสภา และไม่ลาออก
ในฟากของ “พลังประชารัฐ” ก็รู้ทันเกมพรรคร่วม ประเมินแล้วว่าสถานการณ์ของรัฐบาลยังไม่ถึงทางตัน มีทางให้เดินต่อไปได้ ส่วนเกมการเมืองของพรรคร่วมที่ออกมาสร้างแรงกระเพื่อมนั้นทุกอย่างมีทางแก้ไว้หมด
นี่จึงได้เห็นความเคลื่อนไหวของพรรคภูมิใจไทย โดย “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กระทรวงสาธารณสุข ออกมาประกาศท่าที ด้วยคำมั่นสัญญา “ไม่เคยคิด แน่นอนว่าพรรคภูมิใจไทยยังมั่นคง เหนียวแน่น อยู่ร่วมรัฐบาลยาวจนครบวาระ”
ขณะที่เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.กระทรวงคมนาคม เลขาธิการพรรค ก็สำทับว่า “พรรคภูมิใจไทยไม่เคยคิดเรื่องที่จะทิ้งรัฐบาล และนายกฯ”
ส่วน “ประชาธิปัตย์” โดย “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกฯ และรมว.กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรค ในบทสุภาพบุรุษการเมือง ก็ออกมาสยบประเด็นร้อนนี้ว่า “เห็นใจท่านนายกฯ เพราะทำงานหนัก และต้องแบกรับทุกปัญหา นายกฯ ก็พูดแล้วว่าขอให้ทุกฝ่ายอดทน ไม่ว่าใครรวมทั้งผม จะทำงานใหญ่ก็ต้องหนักแน่น ไม่ซ้ำเติมวิกฤติและไม่โกง”
ถึงแม้ว่าลึกๆ แล้ว ทั้ง 2 พรรคร่วมที่ว่า จะแอบคิดเรื่องถอนตัวอยู่บ้าง ด้วยสถานการณ์ของรัฐบาลที่เผชิญแรงกดดันมหาศาลจากวิกฤติโควิด ทางเลือกอย่างการถอนตัวอาจได้รับการเสียงเชียร์ในตอนต้น แต่ภูมิใจไทย และประชาธิปัตย์ มั่นใจหรือไม่ว่า มีศักยภาพในการจับมือเป็นแกนนำฟอร์มรัฐบาล หรือพลิกขั้วใหม่
อย่างไรก็ตาม หากพลิกดู “ปฏิทินการเมือง” ในช่วง “สิงหาคม-กันยายน" นี้ ก่อนปิดสมัยประชุม มีวาระร้อนที่ต้องจับตา อย่างน้อย 3 เรื่อง ที่มีผลอย่างยิ่ง ต่อการตัดสินใจของ “บิ๊กตู่” ว่าจะ “อยู่ต่อ” หรือ “รีเซ็ตการเมืองใหม่”
นอกจากเรื่อง “โควิด-19” ที่สร้างผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจ ยังมีปัจจัยสำคัญที่ควรรอ คือ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565, การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และ การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทั้ง 3 เรื่องร้อนที่เข้ามาไล่เลี่ยกันในช่วง สิงหาคม-กันยายน และถือเป็นวาระที่กำหนดชะตาทางการเมือง
เริ่มจาก “ร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ 2565” ที่ตอนนี้ จะถูกขุดคุ้ย และชำแหละจาก “ส.ส.ฝ่ายค้าน” ทำให้โครง
การจัดซื้ออาวุธ “กองทัพ” ต้องสะดุด แต่งบประมาณที่ถูกหั่นจากกองทัพ ถูกแบ่งไปใส่ไว้ใน “งบกลาง” ซึ่งสามารถจัดสรรไปใช้ในภารกิจเร่งด่วน ฉุกเฉินได้ในอนาคต ตามความเห็นชอบของนายกฯ และมติคณะรัฐมนตรี
ต่อด้วยร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 83 และ มาตรา 91 ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง ที่แม้จะสะดุดอยู่บ้าง แต่แผนการทำงานของกรรมาธิการถูกเซ็ตความพร้อมไว้ ให้ “จบ” ภายในกลางเดือนสิงหาคม โดยมีแนวโน้มผ่านร่างพิมพ์เขียว 6 มาตรา โดย “3 พรรคใหญ่” คือ “พลังประชารัฐ-เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์” ที่เสนอ “การใช้เกณฑ์ขั้นต่ำเพื่อหา ส.ส.บัญชีรายชื่อ” จากที่พรรคใหญ่เสนอ 1%
ขณะที่ การเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจของพรรคฝ่ายค้านที่กำหนดไว้คือ “เดือนกันยายน” แม้ฝ่ายค้านยังไม่เปิดเผยชื่อรัฐมนตรีที่เข้าคิวเชือด ด้วยยังรอข้อมูล สนับสนุนจากเวที กมธ.งบประมาณ และ “ปรากฏการณ์-อารมณ์ผู้คนสังคม
เชื่อว่า 2 เดือนจากนี้ ไปจนถึงวันปิดสมัยประชุม 18 กันยายน วาระทางการเมืองจะมีผลเชื่อมโยงกับ การตัดสินใจของ “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าจะประคองรัฐบาลให้ “ไปต่อ" หรือตัดสินใจยุบสภา รีเซ็ตการเมืองใหม่
“ถึงเวลานี้ต้องถามพรรคร่วมรัฐบาลว่า จะยอมตายเพื่อ “อำนาจ” หรือจะยอมตาย “เพื่อประชาชน”... คุณจะยอมตายเพื่อใคร...!?!