“เอ็นไอเอ” เปิดรายงานระบบนิเวศสตาร์ทอัพเกษตรครั้งแรกของไทย เดินหน้าใช้เทคโนโลยีเชิงลึกและผนึกกำลังพันธมิตรร่วมพลิกโฉมระบบเกษตรไทย

วันเสาร์ที่ 07 สิงหาคม พ.ศ. 2564

“เอ็นไอเอ” เปิดรายงานระบบนิเวศสตาร์ทอัพเกษตรครั้งแรกของไทย เดินหน้าใช้เทคโนโลยีเชิงลึกและผนึกกำลังพันธมิตรร่วมพลิกโฉมระบบเกษตรไทย


สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เปิด สมุดปกขาวการขับเคลื่อนพัฒนาระบบนิเวศสตาร์ทอัพด้านการเกษตรของประเทศไทย (Thailand AgTech Startup Ecosystem Development White Paper)” โดยมุ่งเน้นสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเชิงลึก หรือ ดีพเทค มากขึ้น พร้อมผนึกกำลังทุกภาคส่วน เพื่อผลักดันสตาร์ทอัพไทยด้านการเกษตรให้สามารถก้าวสู่ผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงด้วยการเป็นผู้พลิกโฉมเกษตรกรยุคใหม่ ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และสร้างตลาดใหม่ รวมถึงขยายผลการใช้งานไปทั่วประเทศและภูมิภาคอาเซียน

ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า ภาคการเกษตรมีความสําคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยมาอย่างเนื่อง NIA จึงมีนโยบายในการเร่งสร้างและขับเคลื่อนระบบนิเวศสตาร์ทอัพด้านการเกษตร พร้อมกับการสร้างผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง โดยวางบทบาทให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจที่สำคัญสำหรับสตาร์ทอัพด้านการเกษตรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้ NIA วางเป้าหมายในการพลิกโฉมภาคการเกษตรของประเทศไทยด้วยนวัตกรรมใน 5 ด้าน ได้แก่

1) ด้านเทคโนโลยี จากเกษตรที่ใช้แรงงาน พึ่งพาฤดูกาล ไม่สามารถคาดการณ์ผลผลิตได้ เป็นการใช้เทคโนโลยีมาควบคุม ตรวจสอบคุณภาพ และปรับปรุงระบบเกษตรให้แม่นยำ และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

2) ด้านเศรษฐกิจ จากการพึ่งพาพ่อค้าคนกลางในการผลิตและการขาย เป็นการเกษตรที่เกิดรายได้ในตัวเอง

3) ด้านการตลาด จากแบบเฉพาะกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ให้เข้าสู่ตลาดที่กระจายแบบเท่าเทียมกัน โดยอาศัยเทคโนโลยีของ Blockchain

4) ด้านสิ่งแวดล้อม ที่เน้นการสร้างรูปแบบธุรกิจการเกษตรสมัยใหม่ ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า สอดคล้องตามหลักการของ BCG model

5) ด้านการวางตำแหน่งให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีด้านการเกษตร ทั้งนี้

อย่างไรก็ตาม NIA ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ประเมินสถานการณ์ปัจจุบันและการศึกษาแนวทางการพัฒนาและส่งเสริมของระบบนิเวศวิสาหกิจเริ่มต้นด้านการเกษตรของประเทศไทย (Thailand AgTech Startup Ecosystem) พร้อมทั้งจัดทำเป็นสมุดปกขาว เพื่อนำเสนอการพัฒนาการระบบนิเวศและนโยบายที่สำคัญในการพัฒนาสตาร์ทอัพให้สามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด

จากผลการสำรวจพบข้อมูลที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ในหลายมิติ โดยใน พ.ศ. 2563 มีสตาร์ทอัพด้านการเกษตร จำนวน 53 ราย (กลุ่มเทคโนโลยีการบริหารจัดการฟาร์ม เซนเซอร์ และระบบ IoT มีจำนวนสูงสุด) อายุธุรกิจเฉลี่ย 4.7 ปี สามารถแบ่งเป็นระยะเริ่มต้น (Seed State) ร้อยละ 52.5 ระยะทดสอบไอเดีย (Pre-seed) ร้อยละ 27.5 และระยะเติบโตอย่างรวดเร็ว (Growth) ร้อยละ 20 ซึ่งจะกระจายตัวในกรุงเทพฯ และปริมณฑล"

ทั้งนี้ จากการเก็บข้อมูลและสัมภาษณ์สตาร์ทอัพด้านการเกษตร ร่วมกับศึกษาข้อมูลจากการะดมทุนจำนวน 41 ราย พบว่า มีจำนวนเงินลงทุนสูงถึง 772 ล้านบาท ซึ่งร้อยละ 66.7 เป็นการลงทุนภายนอกไม่ได้รับเงินลงทุนจากหน่วยงานร่วมลงทุนที่เป็น VC CVC หรือ Angel Investor สะท้อนให้เห็นว่าระบบนิเวศของประเทศไทยอยู่ในระยะเริ่มต้น ที่ต้องอาศัยการผลักดันและร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อเพิ่มจำนวนและศักยภาพของสตาร์ทอัพให้มีความสามารถในการแข่งขันและการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในกลุ่มการใช้เทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตรที่มีปริมาณเงินลงทุนน้อยเมื่อเทียบกับในต่างประเทศที่มีการลงทุนในกลุ่มนี้สูงมาก

ด้าน ดร. กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการ ด้านระบบนวัตกรรม NIA กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันระบบนิเวศสตาร์ทอัพสตาร์ทอัพด้านการเกษตรยังอยู่ในระยะเริ่มต้นที่แสดงถึงศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทยในการสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากการทำการเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่เกษตรสมัยใหม่ โดยที่ผ่านมา NIA สร้างแพลตฟอร์มกลางเพื่อเชื่อมโยงประสานงานและขับเคลื่อนให้เกิดการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนาสตาร์ทอัพด้านการเกษตร ผ่าน 3 เครื่องมือหลัก ได้แก่

1) การระบุแนวโน้มนวัตกรรมการเกษตร เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาสตาร์ทอัพให้สอดคล้องกับแนวโน้มความต้องการ รวมถึงการจุดประกายไอเดียการสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการเกษตรไทย และการเพิ่มมูลค่าตลอดห่วงโซ่มูลค่า

2) การพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการนวัตกรรมการเกษตร ผ่านกิจกรรมการบ่มเพาะและเร่งสร้างสู่การเป็นสตาร์ทอัพด้านการเกษตร โดยมุ่งเน้นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเชิงลึก เช่น Artificial Intelligent หรือ AI, Big data -IoT-Sensors, Robotics & Automation ร่วมกับการปรับผลิตภัณฑ์และรูปแบบธุรกิจ

3) การสร้างและพัฒนาระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเติบโตของสตาร์ทอัพเกษตร เพื่อสนับสนุนการออกสู่ตลาดต่างประเทศ หรือได้รับการลงทุน ได้แก่ การสร้างย่านนวัตกรรรมเกษตร และพื้นที่ทำงานที่มีลักษณะแบบ co-farming space สร้างให้เกิดกิจกรรมเชื่อมโยงทุกภาคส่วนในระบบนิเวศให้ทำงานร่วมกัน

มาที่ รองศาสตราจารย์ ดร. วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า นับตั้งแต่โรงเรียนปลูกฝังความคิดเชิงวิเคราะห์ สร้างสรรค์ ความใฝ่รู้ด้านการพัฒนานวัตกรรมแก่เด็กและเยาวชน และส่งไม้ต่อมายังสถาบันอุดมศึกษา ก็คือมหาวิทยาลัย ที่จะผนวกการใช้งานวิจัยและพัฒนาด้วยพื้นฐานของเทคโนโลยีและนวัตกรรม ดังนั้น ยุทธศาสตร์ในการสร้างบุคลากรด้านสตาร์ทอัพการเกษตรจึงมีความสำคัญเร่งด่วน เพื่อเตรียมความพร้อมและเร่งสร้างศักยภาพด้านเทคโนโลยีขั้นสูง และนวัตกรรมเกษตร ให้เติบโตได้อย่างรวดเร็วและมีความยั่งยืน โดยมหาวิทยาลัยแม่โจ้มีการร่วมดำเนินงานกับ NIA ในการศึกษาประเมินรายงานสถานการณ์ปัจจุบันและแนวทางการส่งเสริม สนับสนุน เพื่อจัดทำเป็น “สมุดปกขาวการขับเคลื่อนพัฒนาระบบนิเวศสตาร์ทอัพด้านการเกษตรของประเทศไทย” ตลอดจนร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วนในพื้นที่พัฒนาย่านนวัตกรรมเกษตร-อาหาร เพื่อสร้างให้เกิดเป็นพื้นที่รังสรรค์นวัตกรรรมร่วมกันด้านการเกษตร (Co-farming Space) ในการบ่มเพาะ เรียนรู้ แลกเปลี่ยน และลงมือปฏิบัติ ที่มุ่งมั่นในการขับเคลื่อนสตาร์ทอัพด้านการเกษตร และนวัตกรรมชั้นนำของไทย เพื่อหนุนเสริมศักยภาพของคนไทย และสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ประเทศผ่านพ้นจากทุกวิกฤติ การสร้างระบบนิเวศที่เข้มแข็ง จะทำให้การพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศเป็นไปอย่างยั่งยืน”

สำหรับสมุดปกขาวการขับเคลื่อนพัฒนาระบบนิเวศวิสาหกิจเริ่มต้นด้านการเกษตรของประเทศไทย  Download ได้ที่ https://nia.bookcaze.com/viewer/2339/1/สมุดปกขาวการขับเคลื่อนพัฒนาระบบนิเวศวิสาหกิจเริ่มต้นด้านการเกษตรของประเทศไทย E-book https://anyflip.com/zimhm/qdek/



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ