6 ต่อ 3 "หวยล็อก" ?

วันเสาร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

6 ต่อ 3


สะบัดร้อนสะบัดหนาว : by ณรงค์ ปานนอก

ผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีการแก้ไขที่มาของวุฒิสมาชิก ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ด้วยมติ 6 ต่อ 3 ทำให้เกิดอาการกระดี๊กระด๊าลิงโลดและโห่ร้องดีใจของมวลชนซึ่งก่อตัวอยู่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และสะพานมัฆวาฬ

มองดูเหมือนไม่มีอะไรแปลกประหลาด

แต่ที่น่าสงสัยมากที่สุด คือ นสพ.ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 20 พฤศจิกายน หน้า 3 ที่วิเคราะห์การเมืองทุกวัน และตีพิมพ์ออกมาแต่เช้าตรู่ ก่อนการวินิจฉัยเป็นมติของศาล รัฐธรรมนูญมากกว่า 12 ชั่วโมงได้ระบุในบรรทัดสุดท้ายว่า

"ในอารมณ์ที่ฝ่ายพรรคเพื่อไทยกำลังผวา "หวยล็อก" 6 ต่อ 3"

นี่ต่างหากที่เป็นปริศนาว่า ไย นสพ.ไทยรัฐจึงไปค้นเคาะเจาะลึกและระบุว่า มติ ของศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาเป็นสัดส่วนเช่นนี้ได้

ถือเป็น "ข้อสอบรั่ว" หรือไม่

ถือเป็นวาระที่น่ากังขาของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่

ถือเป็นความบกพร่องอันควรตระหนักยิ่งของสถาบันที่เป็น "เสาหลักแห่งความเที่ยงธรรมของแผ่นดิน" หรือไม่

หรือจะ "โบ้ย" ว่า สื่อมวลชนเดากันไปเอง เหมือนชาวบ้านที่ไปขูดหินขูดต้นไม้ แล้วจินตนาการว่าเป็น "เลขเด็ด" เอามาแทงหวยกันเมามาย แต่ภายใต้ "หวยขูด" หวยเดาของแผ่นดินนี้ ดันเกิดอุบัติการณ์ "หวยล็อก" อย่างเซ็งแซ่ให้ระบือเมืองไม่น้อยไปกว่ากัน

ยิ่งถ้าย้อนไปในวันที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ลาออกถึง 9 คน ก่อนหน้าศาลรัฐธรรมนูญจะมีมติออกมาหลายวัน แล้ว ส.ส.เหล่านั้นก็ออกมาเป็นแกนนำปลุกระดม มวลชนกันยืดเยื้อยาวนานจนวันนี้

หลายคนมีสิทธิ์สงสัยได้ไหมว่า ส.ส.ที่ลาออกในวันนั้น รู้ผลการตัดสินของรัฐธรรมนูญล่วงหน้าก่อนแล้ว ถึงได้กล้าตัดสินใจทิ้งตำแหน่งอันมีเกียรติระดับชาติออกมาโดยไม่เกรงใจว่าจะต้องเสียงบประมาณแผ่นดินไปถึง 80 ล้านบาท เพื่อการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ใหม่อีก 9 พื้นที่?

มติของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ จึงทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ บางท่านที่เคยถูกสังคมเคลือบแคลงมาก่อนหน้าเป็นทุนอยู่แล้ว ยิ่งกังขาหนักข้อเข้า ไปอีก

แต่เมื่อย้อนไปหลังการรัฐประหาร 2549 ช่วงแรก กลับยิ่งไม่แปลกใจว่า ได้เกิดสถานการณ์การเมืองในประเทศนี้ ที่มี "ขบวนการตุลาการภิวัตน์" เข้ามาชี้ชะตาการปกครองบ้านเมืองอย่างประหลาดๆ แกม "ครอบงำ"

ครอบงำแม้กระทั่งนิยามระบอบประชาธิปไตยว่าด้วยที่มาของวุฒสมาชิก ซึ่งเคย มีการเลือกตั้งทั่วประเทศมาแล้วตามรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่ปรากฏในปัจจุบันถูกขังด้วยกรอบว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราใดๆ มีสิทธิ์ถูกพิพากษาได้ว่า "ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"

ก็เลยอดสงสัยไม่ได้ว่า ประเทศนี้มันยึดประชาธิปไตยตำราไหนกันแน่

ทั้งๆ ที่เขาแก้กันในสภาผู้แทนราษฎรอันทรงเกียรติแท้ๆ ไม่ได้ลากปืน ลากรถถัง หรือขนกระสุนปืนออกมาไล่ล่าฆ่าประชาชนชาติเชื้อเดียวกัน แบบล้มล้างระบอบ การปกครองกันตรงไหน?

หรือพยายามจะบิดเบือนคำ "แก้ไข" ให้เป็น "ล้มล้าง" เสียให้ได้!

แน่นอน "ข้อสอบรั่ว" เวลามันรั่ว มันไม่รั่วออกมาทั้งหมด ทำให้มติศาลรัฐธรรมนูญออกมาแฉในหน้าหนังสือพิมพ์ล่วงหน้าก่อนลงมติ จึงไม่รู้หมดว่า มติอื่นๆ จะออกมาเป็นเช่นไร มติศาลรัฐธรรมนูญ 5 ต่อ 4 จึงออกมาว่า ให้ยกคำร้องการยุบพรรคการเมือง และเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคการเมือง และเป็น ประเด็นที่ทำให้ฝ่ายม็อบเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทยลิงโลดกระดี๊กระด๊าได้บ้าง

จึงทำให้เห็นวิวัฒนาการของศาลรัฐธรรมนูญ เริ่ม "มีประสบการณ์" ต่อคำวินิจฉัยที่เคยแข็งกร้าวและ "ฟันธง" ให้ยุบพรรคการเมืองด้วยเหตุบ้องตื้นในอดีตมาแล้ว มีความอะลุ้มอล่วยมากขึ้น และมองภาพการเมืองเป็น "เชิงรัฐศาสตร์" อย่างเข้าใจยิ่งขึ้น

รู้จักและเข้าใจคำว่า "วิน-วิน" ให้กับคู่กรณีบ้าง แต่ไม่วายเรียงเนื้อหาในคำวินิจฉัย ยังแข็งกร้าวดุดัน และพุ่งเป้าไปยังสมาชิกสภาผู้แทนเป็นเชิง "ปราม" ไปในตัว

แต่ว่าก็ว่าเถอะ เมื่อกระบวนการทางกฎหมายเดินหน้าเข้าไปเกี่ยวดองหนองยุ่ง กับการเมืองแล้ว ย่อมเป็นธรรมดาที่จะถูกการเมืองแว้งรุกคลุกโคลนตมอย่างช่วยไม่ได้ โดยเฉพาะตุลาการบางท่านที่ "มีฮิดเด้น อาเจนด้า" และบางท่านที่ลงมติแตกต่าง เนื่องเพราะความแตกต่างนี่แหละคือความสวยงามของประชาธิปไตย

แต่ถ้าเป็นประชาธิปไตยในกระบวนการตุลาการที่ทำให้เกิดข้อสงสัยในเลศนัยแบบ "ฝ่ายหนึ่งรู้ก่อน" หรือ "สื่อแฉมติล่วงหน้าได้" นี่ มันก็สะท้อนภาพลักษณ์ของกระบวนการตุลาการว่า มีความยุติธรรมจริงๆ มากน้อยแค่ไหนด้วยเช่นกัน!


บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม โทร : 0893284192 , ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ