“จุดขาย” ไม่ขลัง-ไร้พลัง... “ลุงตู่” บนถนนสายการเมือง จะไปทางไหน

วันอาทิตย์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2564

“จุดขาย” ไม่ขลัง-ไร้พลัง...  “ลุงตู่” บนถนนสายการเมือง จะไปทางไหน


 

                สถานการณ์การเมืองช่วง “ฤดูน้ำหลาก” ปีนี้แม้ประเทศไทยจะไม่ได้พายุโหมกระหน่ำเป็นสิบลูกเหมือนน้ำท่วมหนักเมื่อปี 2554 หากแต่ฤทธิ์พายุ “เตี้ยนหมู่” ลูกเดียวก็ทำเอาประเทศไทยโดยเฉพาะภาคกลาง เหนือตอนล่าง และภาคกลางตอนบน อย่างสุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ น้ำท่วมกันเป็นแถว และ “มวลน้ำ” ได้ทะลักไหลลงมายังพื้นที่ภาคกลาง โดยเฉพาะพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้พื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาต้องจมบาดาลไปไม่เพียงพื้นที่ภาคเหนือภาคกลางเท่านั้นที่ต้องโดนฤทธิ์พายุเตี้ยนหมู่ หากแต่หลายจังหวัดในภาคอีสานก็ต้องเผชิญกับฤทธิ์พายุเตี้ยนหมู่ด้วยเช่นกัน ขณะเดียวกันมีการเปิดเผยข้อมูลว่าไทยอาจเจอกับพายุถึง 7 ลูก แม้ไม่เข้าไทยโดยตรงแต่ก็อาจส่งผลโดยตรงต่อสถานการณ์น้ำท่วม  

                แน่นอนว่าในฐานะ “ผู้นำรัฐบาล” แล้ว พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ย่อมหลีกเลี่ยงได้ยาก และดูเหมือนว่าทุกอย่างรุมเร้าถาโถมเข้ามา โดน "บิ๊กตู่" อย่างจัง นับตั้งแต่ไวรัสโควิด-19 ที่ระบาดมายาวนาน แต่รัฐบาลยังจัดการไม่ได้เพราะวัคซีนไม่เพียงพอจากการบริหารผิดพลาด จนมาเจอสถานการณ์น้ำท่วม ยิ่งซ้ำเติมประชาชนผู้ทุกข์ยาก

ห้วงเวลานี้ กับระยะเวลาการทำงานเข้าสู่ปีที่ 8 แม้จะตระเวนไปตรวจพื้นที่ใด มีอันต้องเจอกับเสียง “ก่นด่า ขับไล่” แทนการต้อนรับ ด้วยความไม่พอใจของประชาชน กลายเป็นปรากฏการณ์  “ไปที่ไหน ใครๆ ก็ส่ายหน้า” ไปเสียแล้ว

ภาพที่เกิดขึ้น มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร อาจหลายๆ ปัญหาที่คนไทยสะสมจนเกิดความเครียดโดยเฉพาะเรื่อง “ปากท้อง” ไม่รวมคลื่นใต้น้ำภายในพรรคพลังประชารัฐ ยังสะสางไม่จบ แล้วในอนาคต "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บนถนนสายการเมือง จะเป็นอย่างไร เมื่อ “จุดขาย” ไม่ขลัง และอาจไม่มีพลังอีกต่อไป

                สิ่งที่เกิดขึ้นขณะ “บิ๊กตู่” ลงพื้นที่ตรวจน้ำท่วม กำลังตอกย้ำปรากฏการณ์ กองเชียร์หดหาย กองแช่งเพิ่มพูน อาจเป็นไปได้ อย่างไรก็ดีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เกจิการเมืองมองว่า มองว่า เรื่องนี้ไม่ใช่อยู่ๆ ชาวบ้านจะโห่ร้องขับไล่แสดงความไม่พอใจ แต่มันมีที่มาที่ไปไล่ตั้งแต่พล.อ.ประยุทธ์ ลงพื้นที่ตรวจน้ำท่วม โดยไม่ได้ให้แนวทางแก้ไขปัญหา หรือสื่อสารกับประชาชนในเรื่องไร่ นา สวนที่ถูกน้ำท่วม และน้ำท่วมบ้านจะมีการอพยพไปอยู่ที่ใด และจะเยียวยาอย่างไร ซึ่งไม่มีแนวทางใดๆ นอกจากการโบกไม้โบกมือ และออกมาพูดว่าให้ไปสวดมนต์

รวมถึงเรื่องที่พล.อ.ประยุทธ์ พูดอะไรออกมากับชาวบ้าน แล้วทำให้รู้สึกเก็บกด จนในที่สุดได้มีปฏิกิริยาตอบโต้ แสดงให้เห็นว่านายกรัฐมนตรีไม่มีวิสัยทัศน์ในการแก้ปัญหา ตั้งแต่โควิดระบาด และพอมาเจอน้ำท่วมเกิดขึ้นเฉพาะหน้า ไม่สามารถจะบอกได้ว่าจะช่วยเหลืออย่างไร ซึ่งปัญหาน้ำท่วมก็เคยเกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่พล.อ.ประยุทธ์ ลงพื้นที่เหมือนหาเสียงลอยๆ โดยเท้าไม่เปียกน้ำด้วยซ้ำ ไม่ได้ลงไปเผชิญกับปัญหา

ขณะที่ชาวบ้านจมอยู่กับน้ำ แต่ “ผู้นำ” กลับไปตำหนิพวกเขาอีกว่าต้องสร้างบ้านสองชั้น แนะนำให้ไปอยู่ที่สูง เพราะแม้แต่ภูทับเบิกยังน้ำท่วมในช่วงที่ผ่านมา หากเป็นเช่นนั้นชาวบ้านคงย้ายตามนายกรัฐมนตรีไปอยู่ดาวอังคาร ถือเป็นการพูดโดยไม่รู้สถานการณ์จริงๆ

นอกจากพลเอกประยุทธ์จะเผชิญกับ “อุทกภัย” ที่มาจากน้ำแล้ว ในเวลาเดียวกันยังต้องเผชิญกับกระแสร้อนปั่นป่วนภายใน พรรคพลังประชารัฐ แกนนำหลักพรรคร่วมรัฐบาลที่เกิด แรงสั่นสะเทือน ต่อเนื่องจาก “ศึกกบฏ” จ้องโค่นกระดาน พล.อ.ประยุทธ์ ที่วันนี้มาถึงจุดที่ถูกมองว่าเป็นการ “ชิงเหลี่ยม” วัดพลังกันเองใน “ขุมข่าย 3 ป.”

เห็นได้จากการลงพื้นที่ของพล.อ.ประยุทธ์ กับ “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.กระทรวงมหาดไทย ในพื้นที่ ที่ดูว่าเจาะจงจังหวัดของ ส.ส.ที่สวามิภักดิ์ในเกมปราบกบฏก่อน ไม่ว่าชัยนาท ชลบุรี เพชรบุรี สุโขทัย ชัยภูมิ และเลี่ยงที่จะจัดคิวชนกับทีมของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่นำทีมลงจังหวัดที่เป็นเขตอิทธิพลของทีมงานสายตรง อย่างเช่น นครราชสีมา พื้นที่ของนายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล

เหมือนไม่ต้องการให้เกิดภาพการวัดพลัง แต่ก็ยังจัดคิวประชันกัน..!!

ทำให้ตอกย้ำร่องรอยร้าวภายในค่ายพลังประชารัฐ สั่นสะเทือนสัมพันธภาพ 3 ป. ปรากฏการณ์การแยกวงของพี่ใหญ่ พี่รอง น้องเล็ก ที่ไปกันคนละวง ท่ามกลางความไม่แน่นอนในภาวะความมั่นคงของ “รัฐบาล 3 ป.”

จึงไม่แปลก ถ้าจะมีการประเมินการเร่ง ลงพื้นที่ของผู้นำอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ คือจุดที่ตีความตาม “สัญญาณไฟต์บังคับ” ใกล้เวลาพับฐาน ยุบสภาเลือกตั้ง

แน่นอนว่า “นักเลือกตั้งอาชีพ” จมูกไวได้กลิ่น โดยที่ฝ่ายค้านอย่าง “พรรคเพื่อไทย” ออกมาดักปลาหน้าไซ ชิง ดักทางการใช้อำนาจของผู้นำในการเดินสายต่างจังหวัด ช่วยน้ำท่วม แต่อีกนัยก็เป็นการเอาเปรียบทางการเมือง ใช้งบประมาณแผ่นดินมัดจำแต้มหาเสียงเลือกตั้งล่วงหน้า

ไม่เว้นแม้แต่พรรคร่วมรัฐบาลอย่าง “ประชาธิปัตย์” กับ “ภูมิใจไทย” ก็ต้องขยับตาม “บิ๊กตู่” และทีมพลังประชารัฐ เดินสายกลับพื้นที่ต่างจังหวัดไป “ตีปี๊บ” ผลงาน รายงานตัวกับประชาชน เพราะหวั่น “ตกขบวน” ตั้งหลักรับเกมล้มกระดานไม่ทัน

ที่สำคัญ ตามปรากฏการณ์ที่แกะรอยตามได้ กระทรวงเงิน กระทรวงทอง ในโควตาพรรคร่วมรัฐบาล มีการกดปุ่มเปิดประมูลสารพัดเมกะโปรเจกต์ เร่งเคลียร์ปมสัญญาสัมปทานทั้งโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว การประมูลสายสีส้ม รวมไปถึงการเร่งคิวต่อสัญญาสัมปทาน โครงการบริหารจัดการท่อส่งน้ำภาคตะวันออก บ่งบอกถึงการ “ระดมกระสุนดินดำ” เข้าคลังแสง เตรียมเลือกตั้ง

ภายใต้เงื่อนไขสถานการณ์แตกแยก “อาฟเตอร์ช็อก” ภายในพรรคพลังประชารัฐคือจุดพลิกผันสำคัญ ตามเงื่อนไขสถานการณ์ระหว่างทีมสวามิภักดิ์ “บิ๊กตู่” กับสายตรงทีม “บิ๊กป้อม” ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมหลบให้กัน แนวโน้มรอแค่วันแตกหัก แยกทางใครทางมัน

ยิ่งมีรายการ “ปืนลั่น” ออกมาจากปากของ พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล เพื่อนเตรียมทหาร รุ่นเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ออกมาเปิดความต้องการในการจัดตั้งพรรคการเมือง โหมโรง “พรรคเศรษฐกิจไทย” ตามแผนของ “ปลัดฉิ่ง” ฉัตรชัย พรหมเลิศ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย   

คำถามคือ ชื่อของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีหรือไม่...หากเป็นจริง “บิ๊กตู่”ยังต้องเผชิญกับปัญหาการตีความตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 ที่บัญญัติว่า “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้” ที่เป็นขวากหนามของ “บิ๊กตู่”

แม้เจ้าตัวจะแสดงอาการอยากไปต่อเต็มที่ แต่โดยสภาพของแรงเสียดทานมาถึงจุดนี้เส้นทางไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ จุดพลิกผันขัดอำนาจกันเอง…

ไม่มีใครล้มได้ สุดท้ายก็แพ้ภัยตัวเอง...!!

 



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ