น้ำท่วมซ้ำซาก! สูญเสียมหาศาล

วันจันทร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2564

น้ำท่วมซ้ำซาก! สูญเสียมหาศาล


นายกสภาวิศวกร แนะทางออกของการต่อสู้กับน้ำท่วมซ้ำซากของ กทม. ใน 3 ระยะ หลังหลายสำนักวิจัยระบุหากปี 2030 กทม. ยังประสบภัยน้ำท่วม เสี่ยงสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง 17.4 ล้านล้านบาท ดังนี้ 1. ต่อสู้ระยะสั้นด้วยเทคโนโลยีปั๊มสูบน้ำไฟฟ้า 2. ต่อสู้ระยะกลางด้วยแก้มลิงใต้ดิน-บนดิน และ 3. ต่อสู้ระยะยาวด้วยคันกั้นน้ำ

ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร และ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า ข้อมูลทุกสำนักวิจัย สำนักข้อมูลข่าว บอกตรงกันว่า กรุงเทพจมน้ำแน่ในอีกสิบกว่าปีและจะจมมิดไปเรื่อย ๆ หากเรายังไม่คิด ยังไม่เข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้ง และยังไม่เริ่มที่จะทำอะไรจริงจัง เพราะการอยู่เฉย หรือการแก้ปัญหาแบบเก่าคงหาทางรอดได้ยาก นอกจากนี้ หลายสำนักวิจัย ยังประมาณการณ์ถึงความเสียหายทางเศรษฐกิจว่า อาจจะรุนแรงมหาศาลถึง 17.4 ล้านล้านบาท ในปี 2030 ดังนั้น หากเปรียบเทียบกับมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากน้ำท่วมใหญ่ ในปี 2554 เพียงหนึ่งปีเท่านั้น ก็เกิน 1.4 ล้านล้านบาทแล้ว แสดงว่าการประมาณการณ์ดังกล่าว อาจจะน้อยไปด้วยซ้ำ หากเราปล่อยให้ถึงวันนั้น

“ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบมูลค่าความสูญเสียกับงบประมาณแผ่นดิน ประจำปี 2565 มูลค่า 3.1 ล้านล้านบาท จะพบว่า มากกว่างบประมาณแผ่นดินปี 2564 ถึงเกือบ 6 เท่า มากกว่างบฯ กระทรวงศึกษาประจำปีถึง 52 เท่า มากกว่างบฯ สาธารณสุขประจำปีถึง 116 เท่า”

ถึงวันนี้จะทำอย่างไรเมื่อทราบแล้วว่า ภัยน้ำท่วมใน กทม. คือ วิกฤตเศรษฐกิจที่สุดของชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงนี้ฝนตกหนักทุกพื้นที่ ในฐานะ “นายกสภาวิศวกร” ขอเสนอแนะทางออกของการต่อสู้กับน้ำท่วมซ้ำซากของ กทม. ดังรายละเอียดต่อไปนี้

1.การต่อสู้ระยะสั้น ด้วย เทคโนโลยีปั๊มสูบน้ำไฟฟ้า ที่สามารถทำได้ในทันทีด้วยการปรับระบบการสูบน้ำจากเครื่องดีเซล มาเป็นใช้ปั๊มสูบน้ำไฟฟ้าอัตโนมัติ เพราะไม่ต้องรอให้เจ้าหน้าที่ทำการเปิด-ปิดระบบการสูบน้ำด้วยตนเอง เพราะเทคโนโลยีในปัจจุบันเอื้อให้ทุกเมืองใช้ปั๊มไฟฟ้าที่มีตัวเซ็นเซอร์ทำงานอัตโนมัติ ทำงานทันทีเมื่อน้ำท่วม และหยุดทำงานเมื่อน้ำลดทั้งในกรุงเทพฯ ก็มีเสาไฟฟ้าต่อไฟได้ทุกจุด ยิ่งไปกว่านั้น แบตเตอรี่ยังเก็บพลังงานไฟฟ้าได้มากขึ้นทุกวัน

2.การต่อสู้ระยะกลาง ด้วย แก้มลิงใต้ดินและบนดิน ต้องเริ่มออกแบบก่อสร้างแล้วในกรุงเทพชั้นใน เพราะความสูญเสียต่อปีมหาศาลและจะมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ทุกเมืองที่เคยเจอวิกฤตน้ำท่วมหนักยิ่งกว่ากรุงเทพ หลักฐานชัดและแก้ปัญหาได้ สามารถทำสำเร็จด้วยวิธีนี้ ทั้งโตเกียว ฮ่องกง สิงค์โปร์ กัวลาลัมเปอร์ เพราะปัจจุบันกรุงเทพ คือ ‘กระทะคอนกรีตยักษ์’ ก้นลึกขึ้นทุกวันๆ อยู่ต่ำกว่าคลอง ต่ำกว่าเจ้าพระยา กระทั่งต่ำกว่าทะเลในหลายพื้นที่ เนื่องจากสูบน้ำจากล่างขึ้นบนไประบายสวนทางธรรมชาติ ไม่มีทางยั่งยืน แม้แก้ไขด้วยการเปลี่ยนมาใช้ปั๊มสูบน้ำไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ

ดังนั้น แก้มลิงใต้ดิน เพื่อพักน้ำรอระบาย คือ ทางรอดของกรุงเทพชั้นใน ปัญหาน้ำท่วมจากน้ำฝนแก้ได้ทันที และในอนาคตอันใกล้นี้ แก้มลิงใต้ดินจะเกิดขึ้นที่ วัดเล่งเน่ยยี่ เป็นแห่งแรก ที่ผมเป็นที่ปรึกษา จะทำพื้นที่จอดรถใต้ดิน 3 ชั้น เป็นแก้มลิงใต้ดิน รับน้ำท่วมย่านเจริญกรุง ซึ่งเป็นพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน

3.การต่อสู้ระยะยาว ด้วย คันกั้นน้ำ เพื่อเพิ่มทางรอดน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ นอกเหนือจาก 2 ข้อข้างต้นที่เน้นต่อสู้กับน้ำฝนเท่านั้น ซึ่งน้ำท่วมซ้ำซากของกทม. ไม่ได้มีเฉพาะน้ำฝน แต่อาจจะต้องเผชิญกับน้ำเหนือไหลบ่าและน้ำทะเลหนุน ด้วย 2 รูปแบบ ดังนี้ (1) คันกั้นน้ำทะเลหนุนแนวชายทะเล (2) ขยายเส้นทางน้ำเหนือสายหลักออกสู่ทะเล ทั้งไม่ให้มีถนนขวางกั้น ไม่สะดุด ไม่ชะลอ

“โครงการแบบนี้ มีรายละเอียดเยอะมาก เล่ากันนานและใช้เวลายาวนานทั้งการออกแบบ ประชาพิจารณ์ก่อสร้างก็ต้องต่อเนื่อง จึงต้องมุ่งมั่น ตั้งใจเริ่มทำจริง เพราะอาจมีผลกระทบต่อประชาชนไม่น้อย การแก้ไขด้วยทุกกระบวนการเยียวยา คงต้องนำมาใช้ ซึ่งท้าทายมาก ดังนั้นคิดวันนี้ กว่าจะสำเร็จ ใช้เวลาเป็นสิบปี หรือหลายสิบปี แต่ถ้าไม่คิด ไม่เริ่ม ไม่ทำ จม เจ๊ง จบข่าว!! ดังนั้น ทุกข้อเสนอของพี่เอ้ ทำได้จริง ประเทศที่เคยเจอวิกฤตน้ำท่วมยิ่งกว่าเรา ก็ทำมาแล้ว อยู่ที่ว่า เราจะทำหรือไม่ทำ”



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ