ธ.ก.ส.จัดสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำวงเงิน1,800ล้านบาท ผู้เพาะเลี้ยงและผู้ประกอบการแปรรูปจระเข้

วันพฤหัสบดีที่ 02 ธันวาคม พ.ศ. 2564

ธ.ก.ส.จัดสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำวงเงิน1,800ล้านบาท ผู้เพาะเลี้ยงและผู้ประกอบการแปรรูปจระเข้


ธ.ก.ส. พร้อมจัดสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 1,800 ล้านบาท ตามนโยบายรัฐบาล เพื่อเสริมสภาพคล่องให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงจระเข้ วงเงิน 600 ล้านบาท และสินเชื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบธุรกิจแปรรูปที่เกี่ยวเนื่องกับจระเข้ วงเงิน 1,200 ล้านบาท คิดดอกเบี้ยตามประเภทลูกค้า สำหรับลูกค้ารายคนอัตรา MRR-3  หรือร้อยละ 3.5 ต่อปี และสำหรับลูกค้านิติบุคคลอัตรา MLR-3 หรือร้อยละ 1.875 ต่อปี เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการธุรกิจในช่วง COVID-19

นายสมเกียรติ  กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19  ทำให้จระเข้ซึ่งมีขนาดที่สามารถนำไปใช้ในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์กว่า 600,000 ตัว ในฟาร์มเพาะเลี้ยงทั่วประเทศ ไม่สามารถจำหน่ายและแปรรูปเป็นสินค้าและผลิตภัณฑ์เพื่อส่งออกได้  ส่งผลให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงจระเข้ต้องแบกภาระค่าอาหารและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในการเพาะเลี้ยง และผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวเนื่องมีต้นทุนค่าใช้จ่าย เช่น การฟอกหนัง การเก็บรักษา (Stock) การแปรรูป เกิดปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน รวมทั้ง      ขาดเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ  คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบให้ ธ.ก.ส. จัดทำโครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงจระเข้และผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวเนื่อง วงเงิน 1,800 ล้านบาท แบ่งเป็น สินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายให้กับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงจระเข้ วงเงิน 600 ล้านบาท และสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการแปรรูปจระเข้ให้กับผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวเนื่อง วงเงิน 1,200 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย MRR – 3 หรือร้อยละ 3.5 ต่อปี (ปัจจุบันดอกเบี้ย MRR ร้อยละ 6.5 ต่อปี) และอัตราดอกเบี้ย MLR – 3 หรือร้อยละ 1.875 ต่อปี (ปัจจุบันดอกเบี้ย MLR ร้อยละ 4.875  ต่อปี)     ตามประเภทลูกค้า โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส.  แทนเกษตรกรและผู้ประกอบการในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี  กำหนด    ชำระคืนภายในระยะเวลา 5 ปี นับจากวันกู้

สำหรับคุณสมบัติของผู้กู้ต้องเป็นเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงจระเข้ ที่มีการแจ้งการประกอบกิจการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควบคุม ตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 พร้อมทั้งมีหลักฐานแสดงจำนวนจระเข้ที่ได้รับอนุญาตให้เพาะพันธุ์     ทำการค้า และครอบครองจระเข้ ตามกฎหมายว่าด้วยสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562  และผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับจระเข้  ที่ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายข้างต้น ตลอดจนมีแผนการจัดซื้อจระเข้เพื่อนำมาแปรรูป โดยจระเข้นั้น ต้องได้มาจากฟาร์มเพาะเลี้ยงจระเข้ที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย ทั้งนี้  กรณีผู้กู้เป็นทั้งเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงจระเข้และผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวเนื่อง สามารถขอรับการสนับสนุนสินเชื่อได้เพียงประเภทเดียว 

นายสมเกียรติกล่าวอีกว่า ธุรกิจหนังจระเข้ เป็นที่นิยมของประเทศจีนและยุโรป โดยในปี 2561-62  ไทยส่งออกสินค้าจระเข้มากกว่า 7,000 ล้านบาท แต่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) มีมูลค่าการส่งออกเพียง 785 ล้านบาท ซึ่งมาตรการดังกล่าวคาดว่าจะช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงจระเข้และผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวเนื่องให้สามารถกลับมาประกอบอาชีพต่อไปได้ โดยผู้ที่สนใจ สามารถยื่นความประสงค์ได้ตั้งแต่บัดนี้ถึง 31 มีนาคม 2565 ที่ สำนักงานประมงจังหวัด และ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 02-555-0555.



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ