ศึกเลือกตั้งผู้ว่ากทม. ดัชนีวัดพรรคการเมืองใหญ่...

วันจันทร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2564

 ศึกเลือกตั้งผู้ว่ากทม.  ดัชนีวัดพรรคการเมืองใหญ่...


การเลือกตั้ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) พ่วงด้วยการเลือกตั้ง สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ที่ถูกแช่แข็งมานานตามคำสั่งหัวหน้า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งแต่เมื่อปี 2559 เพราะหลังการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เสร็จสิ้นลงก็กลายเป็น “ไฟต์บังคับ” ที่ต้องจัดการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.-ส.ก. และนายกเมืองพัทยาให้จบ หลังยื้อยุดมานาน ซึ่งว่ากันว่าเป็นเพราะความไม่พร้อมของ “พรรคพลังประชารัฐ-รัฐบาล”

จะว่าไปแล้วตำแหน่ง “ผู้ว่าฯ กทม.-ส.ก.” ไม่ได้ใหญ่โตคับฟ้า หรือสำคัญเท่าไร เพราะอย่างไร กทม.ที่เป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นขนาดใหญ่ระดับ “มหานคร” ก็ต้องพึ่งพา “รัฐบาลกลาง” อยู่ดีแต่สนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.มีความเกี่ยวพันกับ “กระแส” และเป็น “ตัวชี้วัด” การเมืองระดับชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงที่การเลือกตั้งใหญ่กำลังจะมีขึ้นในอีกราว 1 ปีหลังจากนี้

ในแง่ของพรรคการเมืองย่อมต้องวางเป็นฐานในสนาม กทม.เพื่อต่อยอดไปถึงสนามทั่วประเทศ หากพรรคพลังประชารัฐที่ถือเป็นแชมป์เมืองหลวง ได้ ส.ส.มา 12 จาก 30 ที่นั่งเมื่อการเลือกตั้งต้นปี 2562 เกิดพลาดพลั้งเสียทีใน “สนามนครบาล” ก็อาจกระทบไปถึงการเลือกตั้งใหญ่ในอนาคต หรือระยะสั้นย่อมสะท้อนไปถึงภาพลักษณ์และการยอมรับของรัฐบาล และตัว “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  

ตรงนี้เองที่ “ฝ่ายอำนาจ” ต้องคิดหนัก และคิดนานเป็นพิเศษ ครั้นจะไม่ส่งผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หรือ ส.ก. ก็ดูไม่น่าใช่ยุทธศาสตร์ที่ถูกต้องของพรรคใหญ่ และแชมป์นครบาล อย่างพรรคพลังประชารัฐและหากส่งก็ต้อง “ชนะ” สถานเดียว แต่หากดูผลการสำรวจของโพลต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมาผลสำรวจความคิดเห็นของบรรดาโพลที่ออกมาไม่มีสักครั้งที่จะเข้าทางรัฐบาล

ล่าสุดมีรายงานว่า  “กกต.กทม.” เคาะแล้ว และเตรียมเสนอ “กกต.ใหญ่” ให้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ในช่วงต้นเดือน ก.พ.65 และให้มีการจัดเลือกตั้งภายใน 60 วันตามกฎหมาย คาดว่าลงล็อกในวันที่ 3 เม.ย.2565

แม้ ครม.ยังไม่ยอมไฟเขียวให้เลือกตั้ง แต่บรรดาผู้สมัครลงเลือกตั้งมีความคึกคักอย่างสูง หลังจากที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตแกนนำพรรคเพื่อไทย ประกาศลงสู้ศึกผู้ว่าเมืองหลวงแน่ๆ ในนามอิสระ นอกจากนี้ยังมี นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ “พี่เอ้” สวมเสื้อ พรรคประชาธิปัตย์ ลงชิงชัย

หากไล่เรียงคนที่พร้อมจะลงสนามผู้ว่ากทม.ครั้งนี้คงต้องเริ่มจาก “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” อดีต รมว.คมนาคม แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ในการเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2562 ชัดเจนตั้งแต่ต้น ที่จะลงสมัครในนามอิสระ เพื่อไม่ผูกมัดว่าเป็นตัวแทนของพรรคการเมืองใด และเลี่ยงกระแสการเมืองเลือกข้าง โดยหวังแต้มจากทุกกลุ่ม-ทุกวัย

ทว่าการเดินเดี่ยวของ “ชัชชาติ” ก็ยังเสี่ยง แม้โพลแทบทุกครั้ง กระแสยังเหนือคู่แข่ง เพื่อความปลอดภัย“ชัชชาติ” ก็ไม่ปฏิเสธแรงหนุนจากพรรคเพื่อไทย ที่มีอยู่มากพอสมควร แม้ในทางออนไลน์พรรคเพื่อไทยจะอ้างว่าสนับสนุนคนมีความสามารถ แต่ในทางออฟไลน์พรรคเพื่อไทยกำชับ ส.ส.กทม.-ว่าที่ผู้สมัคร ส.ก.ช่วยกันหนุน “ชัชชาติ”

ก่อนหน้านี้ ช่วงเดือนพฤษภาคม ชัชชาติเริ่มจัดทำกลุ่มฐานเสียงของตัวเอง ด้วยการเปิดรับอาสาสมัคร ”เพื่อนชัชชาติ” ทางออนไลน์ เพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับการพัฒนาฐานข้อมูลเมือง และรวบรวมแนวคิด ปัญหาในด้าน เพื่่อช่วยกันทำให้กรุงเทพฯเป็น ”เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน” โดยระบุถึงหลักการที่สำคัญของคือการร่วมงานกันคือ สนุก+คิดบวก+ทีมเวิร์ค+ส่วนรวม+คิดต่าง+ทำงาน ทำงาน ทำงาน และมีคุณค่าหลัก (Core Values) ของกลุ่มคือ “รับใช้ เข้าใจ ทันสมัย โปร่งใส ฉับไว”

ขณะที่ พรรคประชาธิปัตย์ ได้เปิดตัว “ดร.เอ้” สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) อดีตนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) เป็นศาสตราจารย์ เมื่อปี 2553 เป็นศาสตราจารย์ทางด้านการก่อสร้างใต้ดินและอุโมงค์คนแรกของประเทศไทย เมื่ออายุเพียง 37 ปี ก่อนจะตอบรับประชาธิปัตย์ “สุชัชวีร์” ถูกทาบทามจากหลายพรรค ทั้งพรรคคนรุ่นใหม่-พรรคเกิดใหม่-พรรคนายทุน แต่สุดท้ายก็ตกลงปลงใจกับพรรคเก่าแก่  ที่น่าสนใจ แม้จะอยู่สายวิชาการมาตลอด แต่เจ้าตัวมีคอนเนคชันในหลายแวดวง ชนิดที่ไม่ธรรมดา

อย่างที่รู้กันว่า “สุชัชวีร์” มีความโดนเด่นด้านวิศวกรรมศาสตร์ นโยบายหลักของประชาธิปัตย์ จึงมุ่งเน้นไปที่การสร้างกทม.ให้เป็น “เมืองใหม่” ขจัดปัญหาเดิมที่คนกรุงเทพฯ ประสบพบเจอเกือบทุกวัน นโยบายของประชาธิปัตย์ และ “สุชัชวีร์” จะเริ่มทยอยปรากฏต่อสาธารณะ พร้อมกับเปิดตัว “ว่าที่ผู้สมัคร ส.ก.” ทั้ง 50 เขต เร่งเครื่องลงพื้นที่สร้างฐานคะแนนนิยมอย่างเป็นทางการ

สำหรับพรรค พลังประชารัฐ (พปชร.) ได้ข้อสรุปภายในกับ “ผู้ว่าฯหมูป่า” ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ซึ่งสร้างชื่อจากสมัยนั่งผู้ว่าฯเชียงราย ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน (ศอร.) หรือชื่อที่คนไทยเรียกกันว่า “ผู้ว่าฯหมูป่า”

ว่ากันว่า “3 ป.” เคาะชื่อ จบที่ “ณรงค์ศักดิ์” หลังเข้าไปหารือกับที่มูลนิธิป่ารอยต่อฯประมาณ 3 ครั้ง โดย “ณรงค์ศักดิ์” ตัดสินใจลงชิงผู้ว่ากทม. ในนามพรรคพลังประชารัฐ โดยมีเงื่อนไขว่า หากไม่สามารถฝ่าคู่แข่งเข้าไปได้ ขอโอกาสในการกลับเข้ารับราชการต่อในมหาดไทย เพราะยังเหลืออายุราชการอีก 4 ปี  ซึ่งดีลนี้ "3 ป.” ไฟเขียว

จุดเด่นของ “ณรงค์ศักดิ์” คือการมีภาวะผู้นำสูง มีการวางแผนการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ นอกจากการช่วยทีมหมูป่าแล้ว ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯลำปาง ก็ทำผลงานโดดเด่น มีวิธีโน้มน้าวใจประชาชนและจัดวางระบบการจองวัคซีนโควิด-19 จนลำปาง เป็นจังหวัดที่มีประชาชนแจ้งความประสงค์ขอฉีดวัคซีนมากที่สุด

ทว่าเมื่อกลับมาดูในมุมพรรค “จุดอ่อน” ของพลังประชารัฐ อยู่ที่นโยบายหาเสียง ที่ยังแทบจะหาจุดขายไม่ได้ ที่สำคัญนโยบายหลายอย่างที่ใช้หาเสียงกับคน กทม.ในช่วงการเลือกตั้ง 24 มี.ค.2562 ไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง จึงต้องจับตาว่าจะแก้เกม พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้มากน้อยเพียงใด

ขณะที่ชื่อของผู้ว่าฯ อัศวิน ขวัญเมือง ที่อยู่ในตำแหน่งจากการแต่งตั้้งของ คสช.อย่างยาวนาน ก็เริ่มมีความเคลื่อนไหว ต้องการลงในสังกัดพรรคพลังประชารัฐอย่างจริงจัง หลังจาก พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีต ผบ.ตร.ยอมถอยให้ แต่เมื่อ “3 ป.” ตัดสินใจดันผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์แทน จึงต้องจับตาว่า พล.ต.อ.อัศวิน จะขยับไปลงในนามอิสระหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาเจ้าตัวลงแรงสร้างฐานแฟนคลับ กลุ่ม รักษ์กรุงเทพ” รับเรื่องราวร้องทุกข์ อย่างจริงจัง หวังสร้างฐาน หาคะแนนด้วยตัวเองอีกทาง

ด้านพรรคก้าวไกล แม้ยังไม่เปิดตัว “ว่าที่ผู้สมัคร” เนื่องจากขอรอความชัดเจนว่าจะมีการจัดการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. หากแต่ ชัยธวัช ตุลาธน” เลขาธิการพรรค ระบุไทม์ไลน์ของก้าวไกลว่า ประมาณกลางเดือนมกราคม 2565 เป็นต้นไป จะเปิดตัวแคนดิเดต ซึ่งเป็นบุคคลที่เป็นที่รู้จักแน่นอน และมั่นใจว่าจะเอาชนะใจคนกรุงเทพฯได้

อย่างเกริ่นไว้ในช่วงต้น ตำแหน่ง “ผู้ว่าฯ กทม.หากเทียบกับตำแหน่งส.ส.-รมต.แล้วเป็นคนละเรื่อง ไม่ได้ใหญ่โตคับฟ้าหรือสำคัญเท่าไร เพราะกทม.เป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นขนาดใหญ่ระดับ “มหานคร” ก็ต้องพึ่งพา “รัฐบาลกลาง”  แต่สนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.มีความเกี่ยวพันกับ “กระแส” และเป็น “ตัวชี้วัด” การเมืองระดับชาติ  

พรรคการเมืองที่เป็นฝ่าย “อำนาจรัฐ” ในวันนี้จึงต้องมีความพร้อม และทุ่มสรรพกำลังไปที่การเลือกตั้งผู้ว่า กทม.ครั้งนี้ เพื่อเป็นฐานรองรับมวลชน ก่อนที่ศึกเลือกตั้งใหญ่ของประเทศไทยจะมีขึ้นในอีกไม่ช้านี้...!!

  

 



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม โทร : 0893284192 , ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ