จากมติคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกประกาศ เรื่อง กำหนดวันเลือกตั้ง และวันรับสมัครรับเลือกตั้งซ่อม ส.ส.จังหวัดชุมพรเขตเลือกตั้งที่ 1 และจังหวัดสงขลา เขตเลือกตั้งที่ 6 แทนตำแหน่ง ส.ส.ที่ว่างลง เมื่อชื่อ “ชุมพล จุลใส” อดีต ส.ส.ชุมพร เขต 1 พรรคประชาธิปัตย์ และ “ถาวร เสนเนียม” อดีต ส.ส.สงขลา เขต 6 พรรคประชาธิปัตย์ มีคำพิพากษาคดีการชุมนุมเมื่อ 23 พ.ย.2556-1 พ.ค.2557 โดยการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ “กกต.” ได้กำหนดให้วันและเวลาในการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งทั้ง 2 เขต พร้อมกันในวันอาทิตย์ที่ 16 ม.ค.2565
การ “เลือกตั้งซ่อม” สงขลา เขต 6- ชุมพร เขต 1 จะที่จะระเบิดขึ้น จะเป็นการ “เช็กกระแส-วัดเรตติ้ง” พรรคการเมืองฝ่ายค้าน-ฝ่ายรัฐบาล และภายใน “ขั้วพรรคร่วมรัฐบาล” ก่อนการเลือกตั้งใหญ่ต้นปี 2566 หลังจากนี้ “สปอตไลต์” ทางการเมืองจะฉายส่องไปที่การ “เปิดศึก” ระหว่าง “พรรคร่วมรัฐบาล” นั่นคือ พลังประชารัฐ กับประชาธิปัตย์อีกครั้ง
“ประชาธิปัตย์-ปชป.” ในฐานะ “แชมป์เก่า” จังหวัดสงขลา เขต 6 จะส่ง “สุภาพร กำเนิดผล” รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สงขลา ภรรยา “นายกฯชาย” เดชอิศม์ ขาวทอง ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ “สมัยแรก” รักษาแชมป์ แทน นายถาวร เสนเนียม ส่วนที่จังหวัดชุมพร เขต 1 “อิสรพงษ์ มากอำไพ” เลขานุการนายก อบจ.ชุมพร เป็นหลานภรรยาของนายชุมพล ลงสมัคร “ป้องกันแชมป์” ให้ “ลูกหมี” ชุมพล จุลใส
ด้าน “พลังประชารัฐ-พชปร.” ในฐานะ “รองแชมป์” เมื่อการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2564 การเลือกตั้งซ่อมจังหวัดชุมพร เขต 1 เที่ยวนี้ อาจจะ “หลีกทาง” ให้กับพรรคประชาธิปัตย์ แชร์เสียง “คนละครึ่ง” การหลีกทางให้ ปชป.ครั้งนี้อาจเป็นเพราะสายสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่าง “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกฯในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชาชรัฐ กับ “ลูกหมี” แล้ว ยังเป็น “สัญญาใจ” ก่อนที่ “อดีตแกนนำ กปปส.” จะซบพรรคพลังประชารัฐ เพื่อกลับมาเป็นรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งถัดไป
ผิดกับจังหวัดสงขลา เขต 6 ที่พรรคพลังประชารัฐ จะส่ง “อนุกูล พฤกษานุศักดิ์” กรรมการ กรรมการบริหาร และ Price Strategist บมจ.ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) ลูกของ “หัวคะแนนเก่า” นายถาวร ลงสมัคร โดยมี “สุชาติ ชมกลิ่น” รมว.แรงงาน นั่งผอ.เลือกตั้งซ่อม ส.ส.สงขลา แม้จะบอกว่า พชปร.ได้คำนึงถึงเรื่อง “มารยาท” เพราะมีผลทางการเมืองกับพรรคในภาพรวม ทั้งเรื่องพรรคร่วมรัฐบาล และการทำงานในอนาคตของรัฐบาล รวมถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า แต่การลงเลือกตั้งช่อมครั้งนี้ก็ต้องยึดตาม “ยุทธศาสตร์ขยายฐานเสียง” เพื่อระดมทุ่มสรรพกำลังได้เต็มที่
ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลอย่าง “พรรคภูมิใจไทย” ที่มี “อนุทิน ชาญวีรกุล” รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคบอกว่า “พรรคภูมิใจไทย” ไม่ได้มีพื้นที่ตรงนั้นอยู่แล้ว จึงไม่ต้องพูดถึงเรื่องมารยาทแต่อย่างใด เพราะสไตล์ของพรรคภูมิใจไทยถ้าเป็นเรื่องของพรรคร่วมรัฐบาล ก็จะ “หลีกทาง” ให้พรรคต้นสังกัดของ ส.ส.ที่ถูกให้พ้นตำแหน่ง ส่งผู้สมัครลงชิง จะได้ไม่ต้องสร้างความลำบากใจให้กัน เพราะต้องทำงานด้วยกัน
อย่างที่กล่าวมาข้างต้น “การเลือกตั้งซ่อม” ที่จ.สงขลา และจ.ชุมพร ที่จะระเบิดขึ้นเป็นการ “เช็กกระแส-วัดเรตติ้ง” พรรคการเมืองฝ่ายค้าน-ฝ่ายรัฐบาล และภายใน “ขั้วพรรคร่วมรัฐบาล” ที่ต่างฝ่ายก็ต้องพยายามรักษาเก้าอี้ส.ส.หรือพยายามขยายฐานเสียง จึงทุ่มสรรพกำลังเทลงไปในการเลือกตั้งครั้งนี้
แน่นอนว่าย่อมมีผลกระทบ “ทางใจ” กับพรรคร่วมรัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก และอาจถึงขั้นเกิดปริรอยร้าวระหว่างพชปร.-ปชป. ด้วยหรือไม่ก็ยากที่จะทำนาย เนื่องเพราะการเลือกตั้งซ่อมที่จังหวัดนครศรีธรรมราช แทน “เทพไท เสนพงศ์” แห่งพรรคประชาธิปัตย์ที่ผ่านมา พรรคพลังประชารัฐก็ไม่ยอมเปิดทางให้ประชาธิปัตย์ ตรงกันข้ามกลับไปแย่งชิงและกำชัยมาได้อย่างงดงาม
การเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ ไม่เพียงพรรคร่วมรัฐบาลที่จะเปิดศึกชิงชัยกันเทานั้น หากแต่ยังมี “พรรคกล้า” ของ “กรณ์ จาติกวณิชย์” อดีตแกนนำประชาธิปัตย์-กกปส. มีโอกาสที่จะวัดเรตติ้ง-กระแสของพรรคเป็น “ครั้งที่สอง” หลังจากเคยส่ง คนลงสมัครรับเลือกตั้งซ่อม ส.ส.นครศรีธรรมราชมาแล้ว นอกจากนี้ยัง “พรรคไทยภักดี” ของ “นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม” ที่ประกาศส่งผู้สมัครลงสู้ศึกเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้
ที่น่าสนใจก็คือ ทั้ง “กรณ์” และ “หมอวรงค์” ล้วนมาจากประชาธิปัตย์ และเป็นระดับแกนนำของกปปส. ความน่าสนใจของการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้จึงมิได้อยู่ที่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ ต้องปะทะกับพรรคพลังประชารัฐเท่านั้น หากแต่ทำให้เห็นว่าเครือข่ายแห่ง “ระบอบประยุทธ์” กำลังต่อสู้กันเองอย่างดุเดือด
เมื่อหันกลับไปดูความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่วันนี้หลายพรรคการเมืองเริ่มขยับปรับฐาน มีการสลับปรับย้ายค่ายกันให้เห็นแล้ว เริ่มจากค่ายประชาธิปัตย์ที่ส่ออาการ “เลือดไหล” ที่มีแต่ข่าวสมาชิกระดับ “มวยใหญ่” ทยอยลาออก ล่าสุดเป็นคิวของ “นายวิฑูรย์ นามบุตร” “เบอร์ใหญ่” เมืองอุบลราชธานี ที่พาลูกทีมสลับขั้ว เปลี่ยนข้างไปอยู่กับฝั่ง “นายใหญ่” ทีมดูไบ ประกาศ “ผูกเสี่ยว” แท็กทีมกับ “เกรียง กัลป์ตินันท์” รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แม่ทัพอีสานใต้ของยี่ห้อ “ทักษิณ”
แนวโน้มสถานการณ์ค่าย “พระแม่ธรณีบีบมวยผม” ดูเหมือนว่าประชาธิปัตย์มีโอกาส “สูญพันธุ์” ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่นเดียกับคนค่ายพลังประชารัฐ ต้องหนีตายจากกระแสต้าน “พรรคทหาร” ในอีสาน ไปฝากเลี้ยงอยู่กับ “ค่ายเซราะกราว” ภูมิใจไทย
ขณะที่ประชาธิปัตย์ “เลือดไหลออก” พลังประชารัฐต้อง “หลบกระแส” ต้านพรรคทหาร หันไปที่ “พรรคเพื่อไทย” กลับคึกคัก เมื่ออดีต ส.ส.หวนกลับมา “ตายรัง” มารวมอยู่ในปึกเดียวกัน เพราะโอกาสดันทุรังลุยสู้กติกาบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ไปรอดยาก ขณะที่สถานการณ์กระแสความนิยม “ผู้นำ” รัฐบาลตกต่ำ ขนาดถืออำนาจรัฐ ตุน “ กล้วย” เป็นขบวนรถเสบียง คลังกระสุนแน่นปึ้ก แต่ไร้กระแส คะแนนนิยมตกฮวบฮาบ ฉุดไม่ขึ้น
อาการเบื่อ “บิ๊กตู่” เซ็ง “พรรคทหาร 3 ป.” สถานการณ์ยี่ห้อพลังประชารัฐขายไม่ออก ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในภาคอีสาน ภาคเหนือ ที่เป็นฐานใหญ่ของ “ทักษิณ” เท่านั้น แต่แนวโน้มยังลามถึง กทม.และภาคตะวันออก แม้จะเคยกวาด ส.ส.กทม. มาถึง 12 เก้าอี้ เพราะอานิสงส์จากกระแส “บิ๊กตู่” ถึงตอนนี้ก็ยังไม่น่าว่าจะยังดำรงอยู่ได้หรือไม่ เห็นได้จากอาการลังเลถึงการส่งคนลงชิงชัยเก้าอี้ผู้ว่ากรุงเทพมหานครที่วันนี้ยังเงียบสนิท
ยังไม่นับเหตุการณ์ “สภาล่ม” ซ้ำซาก ล่าสุดระหว่างพิจารณารายงานศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ มีปมค้านสายตาแปลกๆ เพราะ ส.ส.ภูมิใจไทย ดาหน้าออกมาอัด ส.ส.สันหลังยาวในห้องประชุม โดยที่ นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร พรรคภูมิใจไทย ที่ทำหน้าที่ประธานการประชุม ปล่อยให้นับองค์ประชุม ไม่ตัดเกมชิงปิดประชุมหนี กลายเป็นเหตุสภาล่ม ประจาน “ประสิทธิภาพ” การทำงานรัฐบาล
ปัญหาเดิมๆ ที่แก้เกมกันไม่ตก พรรคร่วมรัฐบาลเริ่มซัดกันเองเรื่ององค์ประชุม ยังไม่รวมความบาดหมางเรื่องมารยาททางการเมือง ที่ “พลังประชารัฐ” ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งซ่อมทับไลน์ “ประชาธิปัตย์” สถานการณ์มีแต่ลุกลามหนักขึ้น เรตติ้ง “บิ๊กตู่” ดิ่งเหว ประชาชนเบื่อหน่าย ไม่ว่าพูดอะไรออกไปก็มีแต่ขัดหูคนฟัง
ทั้งหมดทั้งมวล สะท้อนถึงอาการหมด “ภูมิคุ้มกัน” ของตัวผู้นำ..!!