จบมหากาพย์ "เอราวัณ" ปตท.สผ. อีดี เดินหน้าเข้าพื้นที่ เร่งติดตั้งอุปกรณ์ผลิตก๊าซ

วันจันทร์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2565

จบมหากาพย์


มหากาพย์แหล่งก๊าซเอราวัณ กลางอ่าวไทย  เผย ปตท สผ อีดี เตรียมเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณ เหตุล่าช้ามากกว่า 2 ปี ทำให้ผลิตก๊าซไม่ต่อเนื่อง ส่งผลให้ต้องทำเข้า LNG จากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นกว่าที่คาดการณ์ เพื่อนำมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ด้านพลังงาน ชี้จะบริหารต้นทุนให้เป็นภาระค่าไฟกับผู้บริโภคน้อยที่สุด 

บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ผู้รับสัมปทานแหล่งก๊าซธรรมชาติกลุ่มเอราวัณหรือ แปลง G1/61 ซึ่งจะสิ้นสุดอายุสัญญาลงในเดือนเมษายน 2565 นี้ และต้องส่งมอบพื้นที่ให้กับ บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด หรือ ปตท.สผ. อีดี ในฐานะผู้ชนะประมูลรายใหม่ ตั้งแต่ 2 ปีที่ผ่านมา เพื่อให้การดำเนินงานในช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างสัมปทานและสัญญาแบ่งปันผลผลิตเกิดความต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการทำข้อตกลงความร่วมมือในช่วงเปลี่ยนผ่านระยะ 2 ปีที่ผ่านมาเป็นไปอย่างล่าช้า บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ผู้รับสัมปทานรายเก่า กับ ปตท.สผ. อีดี ผู้ดำเนินการรายใหม่ภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตเจรจากันไม่สำเร็จ ทำให้ ปตท.สผ. อีดี เข้าพื้นที่ไม่ได้ ส่งผลให้การผลิตก๊าซธรรมชาติตั้งแต่หลังเดือนเมษายน 2565 เป็นต้นไป ไม่สามารถผลิตได้ในอัตรา 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ตามที่คาดการณ์ไว้

เดิมทีแหล่งก๊าซเอราวัณมีกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติอยู่ที่ประมาณ 1,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่หลังจากเปิดประมูลหาผู้ดำเนินการรายใหม่ปรากฏว่า ปตท.สผ. อีดี ชนะไป และคาดการณ์ว่ายังจะมีการผลิตก๊าซธรรมชาติได้อยู่ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

เมื่อการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยลดลง ส่งผลให้ปริมาณก๊าซในประเทศไทยขาดแคลน ต้องนำเข้าจากต่างประเทศเป็นการชดเชยส่วนที่ขาดหายไป ซึ่งทำให้ต้นทุนเชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าสูงตามไปด้วย ทำให้ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าไฟแพงในที่สุด

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ยอมรับว่า การผลิตก๊าซธรรมชาติที่แหล่งเอราวัณจะลดลงเหลือประมาณ 400-500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากเดิมที่คาดว่าจะผลิตได้ประมาณ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ส่งผลกระทบต่อปริมาณก๊าซที่จะนำไปผลิตไฟฟ้าในประเทศไม่เพียงพอ จึงได้เตรียมจะนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพิ่มเติมจำนวน 4.5 ล้านตัน ในปี 2565 เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนก๊าซ พร้อมกับหามาตรการรองรับไม่ให้มีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าสูงทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน

“ปริมาณ LNG จำนวน 4.5 ล้านตัน จะเปิดให้ผู้นำเข้ารายใหม่นำเข้ามา ซึ่งเป็นการนำเข้า LNG เพิ่มเติมนอกจากที่ทาง ปตท. ได้ทำสัญญาระยะยาวไว้ก่อนหน้านี้จำนวน 5.2 ล้านตันที่จะนำเข้าในปี 2565”

ผู้สื่อข่าวรายว่า สถานการณ์ภาพรวมราคาพลังงานโลกในปี 2565 อยู่ในช่วงขาขึ้น โดยเฉพาะราคา LNG อยู่ในช่วงที่ราคาผันผวนระดับสูงมาก คาดว่าในปี 2565 ราคา LNG จะอยู่ที่ 40 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่ราคาอยู่ที่ 25 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู และปี 2563 ราคาอยู่ที่ 2 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ดังนั้น เมื่อประเทศไทยนำเข้า LNG ในช่วงนี้เพื่อนำมาชดเชยก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเอราวัณที่หายไปจะเป็นการนำเข้าเชื้อเพลิงมาผลิตไฟฟ้าในราคาที่สูงมาก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ก่อนหน้านี้ได้มีการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) สำหรับการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในรอบเดือนมกราคม–เมษายน 2565 ไปแล้ว จริงๆ ค่าเอฟทีในแต่ละงวดของปี 2565 จะปรับขึ้นตกอยู่ราวๆ 28 สตางค์ต่อหน่วย แต่ได้มีการนำเงินส่วนอื่นมาตรึงไว้ ทำให้ค่าเอฟทีงวดประจำเดือนมกราคม-เมษายน 2565 ลดลงมามีการเรียกเก็บอยู่ที่ 1.39 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.78 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.63

เมื่อเป็นเช่นนี้แนวโน้มค่าเอฟทีในช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2565 จะต้องปรับขึ้นตามราคาเชื้อเพลิงตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างน้อย 28 สตางค์ต่อหน่วย ถ้าไม่สามารถหาเงินจากส่วนอื่นมาชดเชยได้ คิดเป็นตัวเลขค่าไฟที่เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 1.7 หมื่นล้านบาททีเดียวในแต่ละงวด

“ราคาก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยมีราคาถูก และคุณภาพดี แต่ตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมาทางเชฟรอนฯ กับทาง ปตท.สผ. อีดี เจรจาตกลงการเข้าพื้นที่ไม่ได้ และไม่มีการเจาะหลุมก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมเพื่อรักษาปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติเอาไว้ได้ ทำให้ประชาชนคนไทยต้องแบกรับภาระค่าไฟที่สูงขึ้น” แหล่งข่าวระบุ

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ยังดีเมื่อปลายเดือนธันวาคม ที่ผ่านมา ปตท.สผ. อีดี ในฐานะผู้ดำเนินการรายใหม่ภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตแหล่งเอราวัณ แปลง G1/61 และบริษัท เชฟรอนฯ ผู้รับสัมปทานรายเดิมได้บรรจุข้อตกลง นำไปสู่การลงนามความร่วมมือในช่วงเปลี่ยนผ่านของแหล่งก๊าซธรรมชาติกลุ่มเอราวัณ ซึ่งประกอบด้วย ข้อตกลงการเข้าพื้นที่ (Site Access Agreement, SAA) ข้อตกลงการเข้าพื้นที่เพื่อดำเนินกิจกรรมการรื้อถอนสิ่งติดตั้ง (Asset Retirement Access Agreement, ARAA) และ ข้อตกลงการถ่ายโอนการดำเนิน (Operation Transfer Agreement, OTA) ซึ่งจะทำให้การดำเนินการตามสัญญาแบ่งปันผลผลิตในโครงการแปลง G1/61 ที่ล่าช้ามา 2 ปี สามารถเดินหน้าต่อไป ไม่เช่นนั้นจะส่งผลกระทบใหญ่หลวงมากกว่านี้



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ