ศวปถ. เสนอหน่วยงานรับผิดชอบ’ เพิ่มบทลงโทษชนคนใช้ทางม้าลาย

วันจันทร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2565

 ศวปถ. เสนอหน่วยงานรับผิดชอบ’ เพิ่มบทลงโทษชนคนใช้ทางม้าลาย


จากเหตุการณ์ที่ พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล  หรือ หมอกระต่าย ประสบอุบัติเหตุถูกรถบิ๊กไบค์ชน ขณะกำลังเดินข้ามทางม้าลาย บริเวณถนนพญาไท หน้าโรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ กรุงเทพฯ บาดเจ็บสาหัส ก่อนเสียชีวิตในเวลาต่อมา จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการขับขี่ที่ไม่เคารพกฎจราจร โดยเฉพาะบริเวณทางม้าลายที่ตามกฎหมาย ควรชะลอความเร็ว เพื่อให้ทางสำหรับคนข้ามถนน หรือรอให้คนข้ามถนนก่อน จึงค่อยขับรถผ่านไปได้

นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า แต่ละปีมีคนไทยจำนวนมากได้รับผลกระทบความสูญเสียจากการข้ามถนน ข้อมูลผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของกระทรวงสาธารณสุขปี 2559-2561 ระบุว่า จำนวนผู้เสียชีวิตเป็นคนเดินถนนร้อยละ 6-8 หรือเฉลี่ย 800-1,000 ราย ในแต่ละปี และถ้าดูข้อมูลที่รวบรวมโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ก็พบว่าคนเดินถนน ประสบเหตุถึง 2,500-2,900 รายต่อปี โดยกว่า 1 ใน 3 เป็นพื้นที่กรุงเทพฯ เฉลี่ย 900 รายต่อปี มีปัจจัยความเสี่ยงที่สำคัญคือ 1.ถนนมีลักษณะหลายช่องจราจร  เวลาข้ามถนนต้องใช้ระยะเวลาอยู่บนถนนนาน และแม้จะมีบางช่องจราจรหยุด แต่ช่องจราจรด้านในมักจะไม่หยุด 2.เมื่อมีคนข้าม รถในช่องทางชะลอหรือหยุดแต่ช่องจราจรขวาสุดที่ขับขี่ด้วยความเร็วมักไม่ได้ชะลอและอาจมองไม่เห็นกันทั้งสองฝ่าย ทำให้จุดนี้เป็นอีกจุดอันตรายของการข้ามถนนที่มักจะมีผู้เกิดเหตุและเสียชีวิต

“ทุกครั้งที่มีข่าวความสูญเสียที่สังคมให้ความสนใจ ผู้นำและหน่วยงานกำกับจะทำงานเข้มข้นขึ้น ระยะหนึ่งเรื่องก็เงียบไป ขาดการแก้ไขอย่างจริงจัง และหลายครั้งของความสูญเสียก็สรุปสั้นๆ เพียงความประมาท เลินเล่อ ขาดจิตสำนึก หรือด่วนสรุปเพียงคนขี่หรือคนเดินข้ามประมาท หน่วยงานที่รับผิดชอบและเกี่ยวข้อง ควรต้องสร้างระบบแห่งความปลอดภัย (Safe System) ที่เป็นหลักประกันให้กับสังคม มากกว่าการสั่งการแบบเดิม ๆ โดยไม่เกิดระบบจัดการที่เป็นรูปธรรม สิ่งที่สังคมไทยจะดำเนินการควบคู่กันต้องมีระบบเฝ้าระวัง ระบบกำกับติดตาม และที่สำคัญการทวงถามความรับผิดชอบ เพื่อไม่ให้คนในสังคมต้องพบกับความสูญเสียเหมือนที่ครอบครัวของคุณหมอกระต่ายอีก” นพ.ธนะพงศ์ กล่าว

นพ.ธนะพงศ์ กล่าวต่อว่า ขอเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ดังนี้ 1. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พิจารณาดำเนินการผลักดันให้ความผิดกรณีชนคนเดินบนทางม้าลาย ต้องมีข้อหา “ขับขี่โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยผู้ใช้รถใช้ถนนด้วยทุกครั้ง” พร้อมทั้งปรับปรุงฐานความผิดที่รุนแรงมากกว่าขับรถโดยประมาท เพิ่มการตรวจจับและบังคับใช้ในกรณีไม่หยุดหรือชะลอรถให้คนเดินข้ามทางม้าลาย และมีระบบกำกับติดตามประเมินผลที่สามารถทราบได้ว่ามีการดำเนินงานจริงในแต่ละพื้นที่หลังจากที่มีการสั่งการไปแล้ว  2. ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) พิจารณาดำเนินการกำหนดให้เรื่องความปลอดภัยในการข้ามถนน เป็นวาระที่ ศปถ. ในทุกระดับต้องสำรวจและมีแผนดำเนินการ พร้อมทั้งมีการกำกับติดตามความคืบหน้าและติดตามประเมินผลอย่างเป็นระบบ พร้อมทั้งรายงานผลให้ ครม. รัฐสภา และสาธารณะ รับทราบอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับรายงานความปลอดภัยทางถนนในด้านอื่น ๆ

นพ.ธนะพงศ์ กล่าวอีกว่า ข้อ 3. การแก้ไขเชิงโครงสร้างถนน โดยให้กระทรวงคมนาคม หน่วยงานท้องถิ่น และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่ดูแลถนนและโครงสร้างพื้นฐาน ควรเร่งดำเนินการ ดังนี้ 3.1 ถนนที่มีทางข้ามหลายช่องจราจร ให้มีการจัดการความเร็วของรถที่ขับขี่ โดยเฉพาะในเขตชุมชน จุดข้ามทางม้าลาย ควรใช้ความเร็ว 30-40 กม./ชม. เมื่อมีคนข้าม 3.2 เพิ่มระยะเส้นหยุดหรือมีสัญลักษณ์ให้เด่นชัดสำหรับรถที่ต้องชะลอหรือหยุด เช่น เส้นซิกแซ็ก การทำสัญลักษณ์สี เพื่อให้คนข้ามหรือรถสามารถมองเห็นกันมากขึ้น ของคนข้ามทางม้าลายในแต่ละช่องจราจร 3.3 กรมการขนส่งทางบก กำหนดเรื่องการชะลอและหยุดให้คนข้ามทางม้าลายไว้ในหลักสูตรและการสอบใบขับขี่ รวมทั้งการคาดการณ์ความเสี่ยงที่จะขึ้นด้วย และข้อคิดสำคัญหนึ่งของกรณีอุบัติเหตุครั้งนี้ คือ การแชร์ถนนให้กับคนเดินเท้า ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางในกลุ่มผู้ใช้รถใช้ถนน และหวังว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงในบ้านเราที่ ‘ทางม้าลายจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับคนข้ามถนน’



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ