ย้อนหลังกลับไปเมื่อสัก 3-4 ปีที่ผ่านมา โรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู หรือ ASF อาจไม่คุ้นหู้คนไทยหรือแม้กระทั่งคนเอเชีย เนื่องจากโรคนี้ระบาดอยู่เฉพาะการเลี้ยงหมูในยุโรป จนกระทั่งเมื่อปี 2018 โรคนี้ได้ระบาดใหญ่ในประเทศจีน ทำหมูจีนตายไปมากกว่า 300 ล้านตัว รัฐบาลจีนต้องใช้เวลาประมาณ 1 ปีครึ่งกว่าจะจัดการโรคนี้จนสิ้นซาก นอกจากประเทศจีนแล้ว เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูอีกหลายประเทศก็โดนโรคนี้เล่นงาน แต่ไทยเป็นหนึ่งประเทศที่สามารถสะกัดไม่ให้โรค ASF แพร่ระบาดเข้ามาได้
อย่างไรก็ตาม หลังเปิดศักราชปีเสือไม่กี่วัน ได้เกิดปรากฏการณ์สร้างความเดือดร้อนให้กับวงการหมูบ้านเรา เมื่อกรมปศุสัตว์ตรวจพบหมูไทยติดเชื้อในฟาร์มแห่งหนึ่งของจังหวัดนครปฐม น.สพ.คมกริช บุญขจร Country Manager บริษัท : เวทโปรดักส์ไชน่า (Vet Products China) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเวทโปรดักส์ กรุ๊ป (Vet Products Group) ผู้เชี่ยวชาญด้านภาคปศุสัตว์ และ โรงพยาบาลสัตว์ มีธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีประเทศที่เวทโปรดักส์ กรุ๊ปเข้าไปตั้งในรูปบริษัทได้แก่ ประเทศจีน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ พม่า กัมพูชา และ ลาว นอกจากนั้นยังมีการส่งผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯไปจำหน่ายในประเทศต่างๆ หลายประเทศ เล่าถึงแนวทางการบริหารจัดการของรัฐบาลจีนในช่วงที่โรค ASF ว่าทำอย่างไรจึงผ่านวิกฤตการณ์ครั้งนั้นมาได้
อยากให้คุณหมอช่วยเล่าถึงสถานการณ์การเกิดโรค ASF ในจีน?
ช่วงนั้นประมาณเดือนสิงหาคม ปี 2018 มีรายงานการระบาดในประเทศจีนครั้งแรก ถือเป็นเรื่องตื่นเต้นทั้งภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาโรคนี้ระบาดอยู่แถวยุโรป ไม่เคยเข้ามาทางฝั่งเอเชีย ซึ่งในยุโรปมีมานานนับร้อยปีแล้ว พอโรค ASF เข้ามาทางจีนช่วงแรกรัฐบาลก็ยังสับสน ไม่รู้จะจัดการอย่างไร พอเกิดโรคขึ้นปุบเขาก็พยายามสกัดให้เร็วที่สุด พร้อมกับแจ้งต่อองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (World Organization for Animal Health หรือ Office International des Epizooties; OIE) ประกาศเป็นทางการว่ามีโรคระบาด ASF ในจีน ถ้าเจอภายในรัศมี 5 กิโลเมตรรอบโรงงานจะต้องทำลายหมู รัศมี 10 กิโลเมตรห้ามเคลื่อนย้าย รัฐบาลก็คาดหวังว่าจะจัดการได้ภายในระยะเวลาอันสั้น แต่ ณ เวลานั้นเริ่มมีการกระจายไปพอสมควรแล้ว ไม่ได้อยู่แต่ในจุดที่เจอจุดแรก พอมีประกาศออกมาทุกคนก็แตกตื่น ฟาร์มต่างๆรีบระบายหมูทั้งที่เป็นโรคและไม่เป็นโรคออกมาในตลาด มีการลักลอบขาย ลักลอบนำข้ามเขต กลายเป็นการกระตุ้นให้เกิดการระบาดที่เร็วขึ้น บางคนกลัวโดนปิดฟาร์มก็รีบเทหมูออกมา มีหมูถูกทิ้งข้างทาง หมูลอยมาตามน้ำ ทำให้การระบาดแพร่ไปเร็วยิ่งขึ้น ไล่จากทางภาคเหนือที่เจอเคสแรกๆในมณฑลเฮย์หลงเจียง จนมาถึงกวางตุ้ง ใช้เวลาประมาณ 6 เดือนก็กระจายไปทั่วประเทศ ขณะที่ราคาหมูในช่วงแรกตกต่ำเป็นประวัติการณ์เพราะทุกฟาร์มขายออกมาพร้อมๆกันจนหมูล้นตลาด โดยก่อนเกิด ASF ราคาหมูคิดเป็นเงินบาท ณ เวลานั้น ประมาณ 65-70 บาท ลดลงมาต่ำสุดเหลือประมาณ 50 บาทต่อกิโลกรัม จนกระทั่งการระบาดบานปลายหมูในจีนหายไปประมาณ (คาดการณ์) 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งก่อนหน้าจะมี ASF จีนมีหมูประมาณ 45 ล้านแม่พันธุ์ ถ้าเป็นหมูขุนปีหนึ่งประมาณ 650 ล้านตัว ผ่านไปแค่ 10 เดือน เหลือหมู่ในประเทศที่คาดการณ์ไม่น่าจะเกิน 25 ล้านแม่พันธุ์ หมูขุนประมาณ 300 ล้านตัว ทำให้ราคาหมูพุ่งขึ้นไปสูงสุดประมาณ 37 หยวน หรือประมาณ 180-190 บาท (ปัจจุบันราคาหมูในจีนประมาณ 80-85 บาทต่อกิโลกรัม)
รัฐบาลจีนแก้ปัญหาอย่างไร?
อย่างที่รู้ว่าจีนเป็นประเทศที่เลี้ยงหมูมากที่สุดในโลก คนจีนกินหมูเยอะมาก การจะเปลี่ยนไปกินเนื้อสัตว์อย่างอื่นก็ยาก ในขณะเดียวกันเมื่อราคาหมูขึ้น เนื้ออย่างอื่นก็ขึ้นตาม คล้ายกับที่เมืองไทยเวลานี้ ในช่วงแรกที่มีการระบาด รัฐบาลจีนใช้วิธีเจอปุบ ทำลาย ห้ามเคลื่อนย้ายเพื่อสกัดโรค ซึ่งในเวลานั้นรัฐบาลก็โดนวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อย เพราะว่าราคาหมูแพงมาก พอเริ่มสกัดโรคได้ รัฐบาลก็มอบนโยบายให้แต่ละมณฑลทำยังไงก็ได้ให้คนกลับมาเลี้ยงหมูให้เยอะที่สุด โดยที่เขาจะไปดูในแต่ละมณฑลว่ารายไหนบ้างที่มีศักยภาพ อันแรกเลยคือรายที่ไม่โดน ASF ขนาดฟาร์มเท่าไหร่ สามารถที่จะเป็นต้นแบบให้กับมณฑลนั้นได้ไหม รัฐจะลงไปพร้อมกับเงินทุนดอกเบี้ยต่ำให้กับรายที่มีศักยภาพ เขาไม่ได้ให้ทุกราย เพราะถ้าให้ทุกรายโดยที่บางรายไม่มีการป้องกันทางชีวภาพที่ดีพอ ทำโรงเรือนระบบเก่าแบบเปิด ถ้าสนับสนุนให้ไปกลับมาเลี้ยงอีกก็จะเกิดโรคระบาดอีก เขาจึงมองรายที่มีระบบป้องกันรัดกุม ไม่ว่าจะเป็นรายกลาง รายเล็ก ให้หมด มีการจัดเขต จัดโซนนิ่ง สร้างมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม อันนี้รัฐบาลจีนจัดการได้ดีมาก ส่วนในเรื่องการแก้ปัญหาหมูแพงในช่วงนั้น รัฐบาลใช้การนำเข้าเนื้อหมูแช่แข็งจากต่างประเทศ เพื่อสร้างความสมดุลในประเทศ ช่วยเหลือผู้บริโภคภายในประเทศ เป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น ส่วนระยะยาวกระตุ้นให้คนกลับมาเลี้ยงหมูให้เยอะขึ้น ซึ่งด้านหนึ่งของราคาหมูที่สูงขึ้น กลายเป็นตัวดึงดูดคนที่มีเงินหรือคนที่ไม่เคยเลี้ยงหมูอยากเข้ามาเลี้ยงหมู กลุ่มทุนที่ไม่เคยเกี่ยวข้องหรือไม่เคยอยู่ในวงการหมูก็เข้ามาเลี้ยง เพราะว่าเขามองว่าถ้าเลี้ยงแล้วไม่เป็นโรคน่าจะได้กำไรเยอะ
สาเหตุที่ทำให้เชื้อ ASF ระบาดในจีนมาจากอะไร?
เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ASF ซึ่งจุดที่ทำให้เสียหายอย่างหนัก อัตราการตาย 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ โดยมีตัวพาหะพาไป สมมุตว่าฟาร์มนี้มีหมูเป็นโรค ถ้ารอบข้างไม่มีตัวพาเชื้อไปเชื้อก็จะอยู่ตรงนั้น ไม่แพร่กระจายในอากาศ ซึ่งพาหะสำคัญที่พาไปอันดับ 1 คือคนที่ทำงานในฟาร์ม เช่น ไปสัมผัสหมูที่เป็นโรค แล้วไปสัมผัสหมูอีกตัวหนึ่ง หรือรางน้ำถ้าต่อกันยาว กินน้ำจากรางเดียวกันก็ติดโรคได้ ถ้าเป็นระหว่างฟาร์มก็มาจากการขนส่ง เช่นล้อรถไปเหยียบเชื้อตามถนนแล้ววิ่งเข้าฟาร์มตัวเอง ขนวัตถุดิบเข้าฟาร์มนี้แล้วไปอีกฟาร์มหนึ่งก็ไปตามรถ หรือไปตามสัตว์พาหะ เช่น นก หนู ถ้าไม่ใช่ฟาร์มระบบปิด ควบคุมไม่ได้ นกไปกินอาหารฟาร์มหนึ่ง บินไปอีกฟาร์มก็ติดต่อได้ แมลงสาบในฟาร์มวิ่งจากหมูตัวหนึ่งไปอีกตัวก็มีผล แม้กระทั่งแมลงวันบินจากฟาร์มหนึ่งไปฟาร์มหนึ่งก็เป็นสื่อได้ คือมันระบาดด้วยพาหะ ไม่ใช่การระบาดผ่านทางอากาศ พอโรคเป็นแบบนี้จีนก็มีหลักปฏิบัติออกมา เป็นหลักปฏิบัติในการป้องกันโรค ASF ทำอย่างไรไม่ให้โรคเข้าฟาร์ม ถ้าเกิดโรคในฟาร์มจะต้องทำอะไร มีการซ้อมว่าถ้าโรคเกิดขึ้นในฟาร์มคนไหนรับผิดชอบอะไร หลักการของโรคนี้คือถ้ารู้เร็ว จัดการได้เร็ว หยุดการเคลื่อนย้ายหมู หยุดการเคลื่อนย้ายคน เชื้อก็ไม่ไปต่อ ไม่ใช่เป็นปุบตายหมด 100 เปอร์เซ็นต์ ถ้ารู้วิธีการจัดการหยุดเชื้อไม่ให้กระจายได้
ภายหลังเกิดโรค ASF ภาพรวมการเลี้ยงหมูในจีนเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน?
ตอนที่เกิดโรคระบาด ASF ในจีนต้องยอมรับว่าเป็นโรคใหม่จริงๆ กว่าจะรู้วิธีการจัดการ ทำให้โรคสงบ หรือลดการระบาดใช้เวลาพอสมควร ระดมทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน มานั่งคิดนั่งเขียนกันว่ามาตรการจะทำอย่างไร มีหลักปฏิบัติอย่างไร บรรยากาศคล้ายกับโรคโควิด-19 ที่ระบาดในคนตอนนี้เลย ช่วงนั้นคนที่ทำงานในฟาร์มของจีน หลังมาตรการออกมาหลายคนไม่ได้กลับบ้าน ไม่ได้ออกจากฟาร์มเป็นปี ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงหมด แม้กระทั่งทุกวันนี้ถ้าผมจะเข้าไปในฟาร์มไหนก็ตามในประเทศจีน ผมจะต้องไปพักที่โรงแรมแถวๆฟาร์มก่อน โดยเขาจะส่งคนออกมาตรวจ สวอปตามตัว ถ้าผลเป็นเนกกาทีฟถึงจะเข้าไปในฟาร์มได้ และที่ฟาร์มจะถูกแบ่งเป็น 2 โซนคือ โซนเลี้ยงหมู กับโซนที่พักอาศัยของคน ผมจะต้องอยู่บริเวณกักตัวสำหรับคนที่มาจากข้างนอกเพื่อตรวจโรค สวอปทุกวัน ข้าวของอุปกรณ์เอาเข้าไปไม่ได้ เสื้อผ้า โทรศัพท์ต้องผ่านการฆ่าเชื้อหมด บางฟาร์มไม่อนุญาตให้นำของจากข้างนอกเข้าไปเลย แม้กระทั่งเสื้อผ้าต้องเปลี่ยนใส่ของเขาทั้งหมด เขาเข้มงวดตรงนี้มาก โดยเฉพาะในช่วงที่ยังไม่มีวัคซีน เจ้าของฟาร์มจะบอกกับคนงานเลยว่า ถ้าฟาร์มไปต่อได้ มีหมูขาย พวกเราก็รอด เพราะฉะนั้นพนักงานทุกคนจึงพร้อมให้ความร่วมมือ ยกเว้นกรณีพิเศษที่จำเป็นจะต้องกลับบ้านจริงๆเขาจึงจะออกจากฟาร์ม แต่ขากลับเข้าไปก็จะต้องโดนตรวจแบบนี้เหมือนกัน บางฟาร์มมีข้อจำกัดว่ากลับบ้านไปคุณห้ามกินหมูนะ ห้ามไปตลาด ถ้าเขาจับได้ไล่ออกเลย เขาเคร่งครัดเรื่องพวกนี้มาก คือต้องบอกว่า ASF เป็นโรคที่ดิสรัปวงการหมูของจีนเลย
ทำไมจึงไม่มีวัคซีนป้องกันโรค ASF?
เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาโรค ASF ระบาดเฉพาะในยุโรป ซึ่งส่วนมากเป็นฟาร์มไม่ใหญ่ ประมาณ 200-300 แม่พันธุ์ แต่ละฟาร์มไม่ติดกัน พอเป็นโรค รัฐบาลสามารถทำลายสกัดไม่ให้โรคกระจายได้ การพัฒนาวัคซีนในยุโรปจึงมองว่าไม่จำเป็น ประกอบกับยังไม่ทราบว่าหนามตัวไหนที่เป็นตัวก่อโรค ยังอยู่ในช่วงการศึกษา แต่หลังจากที่จีนระบาดรอบที่แล้ว ทางภาคของฝั่งเอเชียเลือกที่จะหันมาให้ความสนใจและพัฒนาวัคซีนมากขึ้น รัฐบาลจีนมอบหมายให้สถาบันศูนย์วิจัยในจีนอนุญาตให้พัฒนาวัคซีน ASF 5 มณฑล มีศูนย์ใหญ่อยู่ในฮาร์บิน ตอนนี้คืบหน้าไปมาก อย่างที่ฮาร์บินมีข่าวว่าภายในปีนี้อาจจะมีวัคซีนออกมา หรือที่หลานโจวก็อยู่ในขั้นตอนทดลองกับตัวหมูแล้ว ผมมองว่าถ้าเราเอาจริงเอาจังกับการพัฒนาวัคซีน มีโอกาสที่จะทำได้ และมีแนวโน้มที่จะออกมาภายในปีนี้ หลายประเทศเริ่มทำ แต่ใครจะทำสำเร็จประเทศแรกต้องรอดูว่าจะเป็นที่ไหน เวียดนามก็มีข่าวว่าจะทำออกมาภายในปีนี้ แม้กระทั่งของไทยถ้าส่งเสริมกันจริงจัง ผมว่าไทยมีนักวิชาการเก่งๆเยอะ มีความพร้อมสูง ผมว่าใช้เวลาพัฒนาไม่นาน
ปัจจุบันสถานการณ์หมูในจีนเป็นอย่างไร?
ถ้าตามประกาศปี 2021 ประกาศโรคอยู่แค่ประมาณ 15 ครั้งเท่านั้นเอง ในจำนวน 15 ครั้งเป็นฟาร์มที่เป็นหลังบ้านจริงๆ รายย่อยๆเลย ในฟาร์มใหญ่หยุดประกาศไปนานแล้ว ประมาณ 2 ปีแล้ว หลังจากเจอในปี 2018 มีประกาศในปี 2019 ประมาณ 140 กว่าเคส ทำลายหมูไปเพียง 9 แสนกว่าตัว แต่หลังจากนั้นการประกาศก็ลดลงเรื่อยๆ ปี 2020 มี 18 เคส ปี 2021 มี 15 เคส การทำลายหมูทั้งปี ผมว่าไม่ถึงหมื่นตัว น้อยมาก เป็นเคสรายเล็กจริงๆ ปัจจุบันสถานการณ์หมูในจีนกลับมาสู่ภาวะปกติ รัฐบาลส่งเสริมทั้งระยะสั้น ระยะยาว วันนี้ปริมาณหมูจีนกลับมาอยู่ที่ 45 ล้านแม่พันธุ์เท่าเดิม
มองการแพร่ระบาดในไทยอย่างไร?
ผมคิดว่าระยะเวลาจะเหมือนจีนและเวียดนาม ที่จีนนับจากวันที่หมูหายไปจากตลาดประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ใช้เวลาประมาณหนึ่งปีครึ่งในการที่จะกลับมาได้ เวียดนามเหมือนกัน ประมาณปีครึ่ง ราคาหมูถึงจะลงมาเป็นปกติ ยกเว้นว่ามีปัจจัยอื่นเข้ามาเสริม เช่นมีการนำเข้าเนื้อหมูจากต่างประเทศ แต่ถ้าปล่อยไปตามกลไกกว่าจะกลับมาเลี้ยง กว่าจะเอาแม่พันธุ์เข้ามา กว่าจะรอคลอดลูก กว่าจะโต อย่างน้อยหนึ่งปีจึงมีผลผลิตออกมา แต่ว่าก็ต้องใช้เวลาอีกประมาณ 5-6 เดือนปริมาณถึงจะเพิ่มขึ้นสู่ภาวะปกติ
มีคำแนะนำต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูในไทยอย่างไรบ้าง?
ผมคิดว่าโรค ASF ในด้านหนึ่งคือการพัฒนาระบบการเลี้ยงหมู สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าจะเป็นประโยชน์กับประเทศชาติคือการพัฒนาวัคซีน เพราะว่าเรามีนักวิชาการ มีสถาบันวิจัยต่างๆ เครื่องไม้เครื่องมือครบครัน เราสามารถใช้โอกาสตรงนี้ในการพัฒนาวัคซีน ภาครัฐทุ่มงบประมาณลงไป ในอนาคตเรายังสามารถส่งออกวัคซีนนำเงินเข้าประเทศได้อีก แต่ในช่วงที่ยังไม่มีวัคซีน อยากฝากถึงผู้เลี้ยงให้ดูตัวอย่างของจีนกับเวียดนาม เขาก็ยังกลับมาได้ทั้งที่ยังไม่มีวัคซีน อย่างจีนวันนี้มีหมู 45 ล้านแม่พันธุ์ ยังมีโอกาสจะไปต่ออีก เพียงแต่ว่าการกลับมาของเราต้องกลับมาแบบมีหลักการ ไม่ใช่อัดเม็ดเงินลงไปให้รายย่อยเลี้ยงแบบเดิม ถ้าทำแบบนั้นจะเหมือนกับเราไปหลอกเขา เพราะสุดท้ายเขาก็เลี้ยงไม่รอด ผมเชื่อว่าในเมืองไทยมีหลักปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องนี้ ถ้าใครจะกลับมาเลี้ยง จะไปต่อต้องเปลี่ยนระบบการเลี้ยง และมีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำปรึกษา