วิกฤติ “สภาล่มซํ้าซาก” ในช่วงตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม 2565 ไล่ยาวมาจนถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ แสดงว่าการเมืองกำลังถึงทางตัน เป็นการ “ส่งสัญญาณ” ว่ารัฐบาลคุมเสียง ส.ส.ในสภาฯ ไม่ได้อีกต่อไป!!
ว่ากันถึง “ระบบประชาธิปไตย” ฝ่ายรัฐบาลเป็นเสียงข้างมากในสภาฯ ฝ่ายค้านเป็นเสียงข้างน้อยในสภาฯ เมื่อมีการลงคะแนน ฝ่ายค้านก็ต้องโหวตแพ้รัฐบาลทุกครั้ง เครื่องมือชิ้นเดียวที่ฝ่ายค้านมีอยู่ในมือ คือการเสนอขอ “นับองค์ประชุม” ดังนั้น หน้าที่ของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลคือ “ต้องรักษาองค์ประชุมสภาฯ” ให้เกินกึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส. ทั้งสภาฯ 475 คน ข้อสำคัญคือ การขอนับองค์ประชุมเป็นเรื่องที่ฝ่ายค้านทุกยุคทุกรัฐบาลนำมาใช้ในสภาฯ หากย้อนไปในยุคที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน มีการ “เล่นเกม” ป่วนสภาฯ หนักยิ่งกว่านี้ด้วยซ้ำไป
หากพิจารณาจำนวน ส.ส.ในสภาฯ ล่าสุดคือ 475 คน ดังนั้นองค์ประชุมสภาฯ ต้องเกิน กึ่งหนึ่ง คือ 238 คนส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล มีทั้งสิ้น 266 คน เกินกึ่งหนึ่งถึง 28 คน แต่วิปรัฐบาลออกมาตีโพยตีพายว่าฝ่ายค้านเล่นเกมนับองค์ประชุมทำให้เกิดเหตุสภาล่มสร้างความเสียหายต่อสภาฯ แต่ไม่ยอมโทษ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลที่ “โดดร่ม” หนีประชุมกันเป็นจำนวนมาก
หากดูสถิติส.ส.รัฐบาลที่กดบัตรแสดงตนในเหตุสภาล่ม 3 นัดล่าสุด เป็น “ใบเสร็จ” ยืนยันโดยวันที่ 19 มกราคม 2565 เกิดเหตุสภาล่ม เพราะมี ส.ส.เสียบบัตรแสดงตนเพียง 227 คน “ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง” ของ ส.ส.ทั้งสภาฯ 475 คน ปรากฏว่า ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลแสดงตนเพียง 182 คน ขาดประชุมไปถึง 84 คน โดยพรรคพลังประชารัฐมี ส.ส. 115 คน แสดงตนเพียง 81 คน พรรคประชาธิปัตย์ ส.ส. 50 คน แสดงตนเพียง 25 คน
ต่อมาวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565 เกิดเหตุสภาล่ม เพราะมี ส.ส.แสดงตนเพียง 234 คน ในจำนวนนี้เป็น ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลเพียง 175 คน โดยส.ส.ฝั่งรัฐบาลหนีการประชุมถึง 91 คน โดยพรรคพลังประชารัฐหัก “ก๊วนธรรมนัส” ไป 21 คน จะเหลือ ส.ส. 97 คน มี ส.ส.แสดงตนเพียง 83 คน พรรคประชาธิปัตย์ ส.ส. 50 คน แสดงตน 29 คน ขาดไป 21 คน
วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 เกิดเหตุสภาล่มล่าสุดมี ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลแสดงตนเพียง 195 คน ไม่เข้าประชุมถึง 71 คน โดยพรรคพลังประชารัฐ มี ส.ส. 97 คน หายตัวไป 43 คน พรรคประชาธิปัตย์ มี ส.ส. 50 คน หายไป 15 คน พรรคภูมิใจไทย มี ส.ส. 58 คน หายไป 25 คน สรุป 3 พรรคใหญ่ฝ่ายรัฐบาลมี ส.ส.โดดร่มหนีไปถึง 83 คน
ล่าสุด การประชุมสภาผู้แทนฯ เมื่อวันศุกร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ ก็ล่มอีกเป็นครั้งที่ 16 ในสภาผู้แทนฯ ชุดนี้ มี ส.ส.เข้าร่วมประชุมเพียง 195 คน จาก 474 คน หายไปถึง 279 คน
สภาผู้แทนราษฎร จากรัฐธรรมนูญ คสช.2560 ที่เรียกกันว่า “สภาห้าร้อย” เพราะกำหนดให้มี ส.ส. 500 คน แต่การประชุมสภาผู้แทนฯ เพื่อพิจารณาออกกฎหมายของชาติบ้านเมืองกลับล่มเป็นประจำ อย่างไร้จิตสำนึกในเรื่องความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ถ้าเป็นบริษัทเอกชนโดนไล่ออกไปหมดแล้ว แต่นี่ยังหน้าหนารับเงินเดือนจากภาษีของประชาชนอยู่ทุกเดือน แต่ไม่ทำงานตามหน้าที่ของตัวเองที่อาสาประชาชนมา
สภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ มาจาก “รัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจ คสช.” มีอายุสองปีเศษ แต่ล่มถึง 16 ครั้ง สาเหตุเพราะ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านโดดร่ม ไม่เข้าร่วมประชุมสภา จะด้วยเหตุผลทางการเมืองหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่การโดดร่มแสดงถึงความไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่ คนที่จะต้องรับผิดชอบนอกจากตัว ส.ส.เองแล้ว ก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล รวมทั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ รมว.กระทรวงพาณิชย์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯ รมว.กระทรวงสาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย 3 พรรคนี้ รวมกันแล้วมีเสียงข้างมากในสภา จึงได้เป็นรัฐบาล
แต่ พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร นายจุรินทร์ นายอนุทิน 4 แกนนำรัฐบาลชุดนี้ กลับไม่แสดงความรับผิดชอบใดๆ ไม่เคยมีข่าว การตำหนิ ส.ส.ของพรรคที่โดดร่มประชุม หรือ การกำชับให้เข้าร่วมประชุมเมื่อมีการประชุมสภา ทั้งที่ อำนาจนิติบัญญัติ เป็น 1 ใน 3 อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย ที่สำคัญมาก นอกจากทำหน้าที่ออกกฎหมาย มาบริหารปกครองประเทศแล้ว ยังมีอำนาจที่จะ “ถอดถอน” นายกรัฐมนตรีได้อีกด้วย ถ้าบริหารประเทศผิดพลาดล้มเหลวหรือทุจริตคอร์รัปชั่น ไม่ใช่สภาโจ๊กที่ตลกกันไปวันๆ จนสภาล่มซ้ำซาก สร้างความเสียหายต่อประเทศชาติและประชาชน ไม่รู้สึกสำนึก
ยิ่งมาฟังคำตอบของพล.อ.ประยุทธ์ที่ว่า...”..เรื่องนี้มีอยู่แล้วในโซเชียล ไปเปิดดูได้ว่ามีสมาชิกเข้าไปประชุมกี่คน จะเห็นว่ามีพรรคไหนเข้ามาบ้าง บางคนมาไม่ได้ เพราะติดกักตัว แต่บางพรรคมาแล้วไม่ลงชื่อ ในส่วนของกฎหมายลูก ส่วนตัวก็อยากให้จบเร็วตามกำหนด แต่ไม่สามารถไปสั่งใครได้ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับสมาชิกรัฐสภา ถ้าล่มอยู่แบบนี้ก็ไปไม่ได้ จะบอกว่าเป็นความรับผิดชอบของนายกฯ คนเดียวคงไม่ใช่ เป็นความรับผิดชอบร่วมทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ถ้าอยากเลือกตั้งก็ต้องทำกฎหมายลูกให้เสร็จ..” ฟังนายกฯ พูดแบบนี้แล้วก็ไม่รู้จะมีนายกฯ ให้เปลืองเงินภาษีประชาชนทำไม
ฝ่ายค้านอย่าง “ประเสริฐ จันทรรวงทอง” ส.ส.นครราชสีมา เลขาธิการพรรคเพื่อไทย บอกว่าพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ควรที่จะปัดสวะให้พ้นตัว การที่สภาล่มปัญหาเกิดมาจากความ “ไม่เป็นเอกภาพ” และเกิด “รอยร้าว” ของฝ่ายรัฐบาล เมื่อรัฐบาลมีเสียงมากกว่าฝ่ายค้าน องค์ประชุมจึงเป็นเรื่องของรัฐบาล นอกจากนี้ แล้วที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เคยให้ความสำคัญกับรัฐสภา
ขณะที่น.พ.ชลน่าน ศรีแก้ว ผู้นำฝ่ายค้าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย มองว่า ปัญหาขณะนี้ ชี้ชัดว่าเสียงของฝั่งรัฐบาลกำลังมีปัญหาเรื่องเสถียรภาพ จนไม่สามารถรักษาองค์ประชุมได้ ซึ่งตามหลักการบริหารและการคุมเสียงในสภาตามระบอบประชาธิปไตย จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้เสียงข้างมาก ไม่ใช่การบริหารด้วยเสียงข้างน้อย อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการที่สภาล่มหลายครั้งไม่อาจกดดันให้ “รัฐบาลยุบสภา” แต่ตรงนี้เป็นกระบวนการของฝ่ายค้านเพื่อสะท้อนความไม่ชอบธรรมของรัฐบาล ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินว่ารัฐบาลชุดนี้ไปต่อได้หรือไม่
นอกจากนี้ การที่สภาฯ ล่มซ้ำซากนั้น เหตุผลสำคัญเพราะ ส.ส. ในกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา พรรคเศรษฐกิจไทย ไม่ร่วมเป็นองค์ประชุม ทำให้การประชุมสภาผู้แทนราษฎรสัปดาห์ที่ผ่านมาล่ม นับเป็นครั้งที่ 16 ถือว่ามากที่สุดในประวัติศาสตร์ และเป็นปัญหาสภาล่มซ้ำซาก น่าอับอาย
สำหรับทางเลือกของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมี 2 ทาง คือ 1.ปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ช่วงปิดสมัยประชุม 1 มี.ค. - 21 พ.ค.2565 แต่ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศว่าจะไม่ทำ ดังนั้นจะเข้าสู่ทางเลือกที่ 2 คือ ยุบสภา ก่อนเปิดสมัยประชุม วันที่ 22 พ.ค.2565 ที่พรรคฝ่ายค้านจะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่นายกรัฐมนตรีไม่สามารถยุบสภาได้
อาการแบบนี้ พล.อ.ประยุทธ์ คงไม่ยอมตายกลางสภา สถานการณ์แบบนี้คือสัญญาณที่ชัดเจน นำไปสู่การยุบสภา เพราะไปไม่รอดและต้องจับตาการทิ้งทวน..!?!
ทางรอดเดียวที่ “บิ๊กตู่” พอจะถูลู่ถูกังลากรัฐบาลเรือเหล็กให้ไปต่อได้ นั่นคือยอม “กลืนน้ำลาย” เปิดทางดึงก๊วนกบฏของ “ผู้กองนัส” เข้าร่วมรัฐบาลแลกกับโควตารัฐมนตรี ที่จะทำให้ “บิ๊กตู่” ก็มีโอกาสลากยาวเก้าอี้ผู้นำไปโชว์อินเตอร์บนเวทีเอเปก คล้องแขนถ่ายรูปกับผู้นำระดับโลก
ยอมทิ้งเกียรติประวัติที่พอจะมีอยู่บ้างแบบไม่มีเหลือ...!!