จาก “สัปเหร่อ ออน ท็อป” สู่ “ตัวพ่อ” ผู้นำการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม “ท็อป วราวุธ ศิลปอาชา”

วันพุธที่ 09 มีนาคม พ.ศ. 2565

จาก “สัปเหร่อ ออน ท็อป” สู่ “ตัวพ่อ” ผู้นำการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม “ท็อป วราวุธ ศิลปอาชา”


จากฉายา “สัปเหร่อ ออน ท็อป” ที่สื่อมวลชนสายทำเนียบรัฐบาลตั้งให้ในช่วงปลายปี 2562 ผ่านมาจนถึงวันนี้ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็ได้เดินหน้าทำงานในตำแหน่งนี้ มาเป็นเวลา 2 ปีกว่าแล้ว และก็ใกล้จะครบวาระในอีกไม่ช้า 

แต่หากมองถึงสิ่งที่รัฐมนตรีท่านนี้ได้ทำไว้ ต้องบอกเลยว่าเฉียบขาด ทั้งการฟื้นฟูผืนป่า จนสามารถถผลักดันให้ “อุทยานแห่งชาติป่าแก่งกระจานตีตราเป็นแหล่งมรดกโลกแห่งที่ 6 ของประเทศไทย” และเป็นแหล่งมรดกโลก        ทางธรรมชาติแห่งที่ 3 ของไทย หรือ การทำให้ประเทศไทยลดอันดับการปล่อยขยะลงสู่ทะเลมากที่สุดในโลกจากอันดับ 6 เหลือเพียงอันดับ 10 เท่านั่น ผ่านโครงการ Everyday Say No To Plastic Bags ที่ดึงห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศยกเลิกให้บริการถุงพลาสติกหูหิ้วแก่ลูกค้า ตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา และยังมีอีกหลายโครงการที่กำลังเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ทั้งการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ทำให้ปี 2564 จุดความร้อนทั่วประเทศลดลงกว่าร้อยละ 50 ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น รวมถึงการอนุรักษ์ และฟื้นฟูธรรมชาติ 

ล่าสุดในปี 2565 ทางกระทรวงฯ ยังได้เปิดแนวทางปฏิบัติให้เป็น “ปีแห่งการปรับตัวและฟื้นฟู หรือ Adaptation and Rehabilitation Year “Adapt & Rehab Year” โดยปรับตัวภายใต้นโยบาย “ทส. ยกกำลังเอ็กซ์” ภายใต้วิถีใหม่ ยุค New Normal 5 มิติ คือ 1.บุคลากรปรับตัว สร้างความเชื่อมั่นและศรัทธาให้เกิดกับประชาชน 2.ปรับสมรรถนะ          เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานมุ่งสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล 3.ปรับการจัดการทำงานรูปแบบใหม่ รวดเร็ว คุ้มค่า โปร่งใส ลดขั้นตอน ลดความซ้ำซ้อน 4.ปรับการสื่อสาร สร้างความเข้าใจ และ 5. ปรับให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง และสานสัมพันธ์ผู้ที่เกี่ยวข้องฟื้นฟู เพื่อการมุ่งเป้าหมายไปข้างหน้า ไร้ขีดจำกัด และไม่มีที่สิ้นสุด

โดยมี 2 เป้าหมายหลัก คือ 1. การสร้างเศรษฐกิจครัวเรือน สังคมมีสุข ชุมชนเข้มแข็ง อาทิ การจัดสรรที่ดินทำกิน การจัดตั้งป่าชุมชน การสร้างความร่วมมือกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และการจัดทำแผนแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และ 2. การมุ่งสู่เศรษฐกิจแบบใหม่ (BCG Model) และสังคมคาร์บอนต่ำ ได้แก่ การส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) การพัฒนาระบบ Digital Platform เพื่อส่งต่อถึงคนในรุ่นอนาคตและเป็นเศรษฐกิจฐานรากที่ยั่งยืนให้กับชุมชน

เห็นได้ว่านโยบายที่จะปรับเปลี่ยนการทำงาน ให้สอดรับระหว่างคนรุ่นเก่า กับคนรุ่นใหม่ เป็นสิ่งที่นายวราวุธ ศิลปอาชา ตั้งใจทำอย่างต่อเนื่อง การลงพื้นที่จริง ทำจริง แก้ปัญหาให้เป็นรูปธรรม ไม่ใช่แค่การพูดลอยๆ แม้จะไม่พบเห็นตามหน้าสื่อมากนัก แต่ความสำเร็จที่เกิดขึ้น ก็ถือเป็นแบบอย่างที่ดีของรัฐมนตรี ที่จะทำให้คนจดจำในเรื่องผลงานไปอีกนาน ไม่ต้องมองเรื่องไหนไกล แค่เรื่องน้ำมันรั่วในทะเลครั้งล่าสุด ก็เป็นรัฐมนตรีท่านนี้ ที่ลงพื้นที่เป็นกลุ่มแรกๆ เพื่อแก้ปัญหาและชี้แจงกับสื่อมวลชน ทั้งที่เป็นเรื่องของหลายกระทรวงต้องรับผิดชอบร่วมกัน

“การเป็น generation  2 ของตระกูลศิลปอาชา” ในสนามการเมือง นั้นไม่ง่าย การแบกรับความหนักหน่วงของสิ่งที่ผู้เป็นพ่อได้ทำไว้เป็นแบบอย่าง ก็เป็นความท้าทายในตำแหน่งรัฐมนตรี แต่ด้วยผลงานซึ่งเป็นที่ประจักษ์ และลงมือทำอย่างจริงจัง จะทำให้การผนึกกำลังเครือข่ายภาคประชาชนเพื่อ “หยุดทำลายโลกใบนี้ ก้าวสู่โลกที่ยั่งยืน” ก็ไม่ไกลเกินฝัน

 



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม โทร : 0893284192 , ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ