ดินเนอร์พรรคเล็ก..
ปฏิบัติการ “ปะผุ” เรือเหล็ก
บรรยากาศงานเลี้ยงสังสรรค์ พรรคร่วมรัฐบาล และ พรรคการเมืองขนาดเล็ก เมื่อค่ำวันที่ 17 มีนาคม 2565 ที่สโมสรราชพฤกษ์ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กระทรวงกลาโหม เป็นเจ้าภาพจัดเลี้ยงผ่านพ้นไปด้วยความชื่นมื่น และก็เป็นไปตามสไตล์ของการเมือง เรื่อง “ประสานประโยชน์” และ “อำนาจ” ทุกพรรคที่ไปร่วมงานเลี้ยงต่างก็รับปากว่าจะช่วยกันสนับสนุน “รัฐบาลเรือเหล็กปะผุ” ให้ผ่านคลื่นลมมรสุมในช่วงเปิดสมัยประชุมสภาสามัญในเดือน พ.ค.นี้
หลังจากที่ก่อนหน้านี้บรรดาพรรคเล็กต่างก็ออกอาการ “นอยด์” เมื่อถูก พล.อ.ประยุทธ์เมิน ไม่ชวนไปร่วมโต๊ะสังสรรค์กับพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลที่ประกอบด้วยพรรคการเมืองใหญ่อย่างพลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทยจน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐต้องออกมานัด ส.ส.กลุ่มพรรคเล็ก ประกอบด้วย พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย, พรรคเศรษฐกิจใหม่, พรรคพลเมืองไทย, พรรคประชาธิปไตยใหม่, หัวหน้าพรรคไทรักธรรม และพรรคเพื่อชาติไทย ร่วมงานเลี้ยงมื้อเย็นที่มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด
ท่ามกลางบรรยากาศชื่นมื่น “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” หลุดปากโพล่งกับบรรดาพรรคเล็กว่านายกฯ จะไม่มีการปรับ ครม. แต่จะ “ยุบสภา” หลังการประชุมเอเปคเรียบร้อยแล้ว โดยคาดว่าจะมีการเลือกตั้งในเดือนธันวาคมปีนี้ ทำให้หลายฝ่ายต้องออกมาเบรกในเรื่องนี้ โดย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.กระทรวงยุติธรรม และส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ที่ระบุว่าอำนาจยุบสภาเป็นของนายกฯ คนอื่นไม่สามารถที่จะไปรู้ได้ ที่สำคัญคิดว่าไม่มีใครจะมาดูดหรือดึง พรรคเล็กออกไปจากรัฐบาล จึงเป็นไปไม่ได้ที่พล.อ.ประยุทธ์ จะกลัวว่า ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา ว่าที่เลขาฯ พรรคเศรษฐกิจไทย จะใช้พลังดูดดึงเอาพรรคเล็กออกไปจากรัฐบาล
หรือแม้แต่ตัวพล.อ.ประยุทธ์เอง ก็ต้องออกมาสยบเรื่องดังกล่าวด้วยการบอกว่า เป็นเรื่องของ พล.อ.ประวิตร ที่ออกมาพูดแต่ทางพล.อ.ประวิตรก็ได้แจ้งกับตนแล้ว ซึ่งก็เป็นมุมของพล.อ.ประวิตร แต่ทั้งหมดก็เป็นเรื่องของนายกฯ ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เป็นเรื่องที่นายกฯ ตัดสินใจ ขณะนี้ขอเก็บไว้ก่อนไม่ต้องรีบบอก สถานการณ์จะเป็นตัวกำหนดทั้งขณะที่การพูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาลเป็นการพบเจอพูดคุยกันปกติก็ไม่มีอะไรเป็นประเด็น ตนให้เกียรติทุกคน
ในมุมของผู้เชี่ยวชาญการเมืองอย่าง “สมชัย ศรีสุทธิยากร” อดีต กกต.มองว่าการที่พล.อ.ประวิตรระบุกับแกนนำพรรคเล็กว่านายกฯ จะยุบสภาช่วงหลังการประชุมเอเปคนั้นตนเข้าใจว่ารัฐบาลอยู่ในขั้นพยายามประสานฝ่ายต่างๆ เพื่อให้ “คะแนนเสียง” ในฝั่งของรัฐบาลมีความมั่นคง การนัดรับประทานอาหารระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลเป็นความพยายามที่จะรักษาคะแนนในฝั่งรัฐบาลให้มีเสถียรภาพ
แต่ว่า “ตัวแปร” สำคัญอยู่ที่พรรคเล็ก ที่มีเสียงรวมประมาณ 10-20 เสียง เป็นคะแนนที่พร้อมเปลี่ยนไปอยู่ฝั่งใดฝั่งหนึ่งได้ และหากเปลี่ยนไปฝั่งใดฝั่งหนึ่งนั่นก็หมายถึงชัยชนะและความพ่ายแพ้ของอีกฝั่งหนึ่ง แถมเป็นจังหวะเวลาที่พรรคเล็กมีอำนาจต่อรองสูงสุด เพราะเปิดประชุมสภาฯ สมัยหน้าจะมีการเสนออภิปรายไม่ไว้วางใจ คงมีการเจรจาต่อรองจะเกิดขึ้น และอาจจะมีการเสนอให้ทางฝ่ายรัฐบาลให้ประโยชน์เพื่อเป็นการตอบแทนการลงคะแนน
ขณะที่ “สุทิน คลังแสง” ประธานวิปฝ่ายค้าน มองว่าการที่พรรคเล็กร่วมรัฐบาลนัดทานอาหารกันเองก่อนที่พล.อ.ประวิตร จะนัดสังสรรค์นั้น น่าจะเป็นสัญญาณบ่งบอกว่า ส.ส.กลุ่มนี้จะไม่ร่วมสังฆกรรมกับรัฐบาล และจะทำให้รัฐบาลอยู่ต่อยากขึ้นจึงเป็นที่รัฐบาลจะต้องรวบรวมเสียงให้ได้ หากคิดว่า ส.ส.กลุ่มนี้ออกไปแล้วมีเสียงเพียงพอก็อยู่ต่อได้ แต่หากคิดว่าหมิ่นเหม่รัฐบาลก็รู้คำตอบในตัวเองว่าจะทำอย่างไรต่อไป แต่เชื่อว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวส่งผลให้เกิดการสั่นคลอนในรัฐบาลอย่างหนัก โดยเฉพาะผลต่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะมีขึ้นในสมัยประชุมสภาฯ นี้
การจัดปาร์ตี้สังสรรค์ของพรรคร่วมรัฐบาลครั้งนี้จึงเป็นกิจกรรม “การเมือง” เพื่อสมานแผลจากที่ก่อนหน้านี้พรรคร่วมรัฐบาลมี “รอยร้าว” โดยแสดงออกจากผลการร่วมประชุมรัฐสภา ขณะที่การประชุมรัฐสภามีความสำคัญต่อรัฐบาล เพราะยังมีกฎหมายอีกหลายฉบับต้องผ่านการพิจารณาของรัฐสภา นอกจากนี้ การประชุมรัฐสภาในสมัยการประชุมหน้าที่คาดว่าจะเปิดขึ้นในเดือนพฤษภาคมนั้น พรรคการเมืองฝ่ายค้าน “จองกฐิน” ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจไว้แล้ว
ขณะที่การประชุมรัฐสภาครั้งที่ผ่านมา ปัญหาสภาล่มเกิดขึ้นบ่อย กลายเป็นจุดอ่อนของรัฐบาล และถูกมองว่าเรื่องนี้จะเป็น “จุดดับ” ของพล.อ.ประยุทธ์ อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่ได้คิดเหมือนกลุ่มที่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลง พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันว่า ไม่ปรับ ไม่ออก ไม่ยุบ ขณะที่พล.อ.ประวิตร ได้แย้มระยะเวลาที่เหมาะสม ยุบสภาว่าจะเป็นปลายปีนี้ เลือกตั้งต้นปีหน้าน่าจะเหมาะ ตอกย้ำว่า พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาล จะต้องผ่านการประชุมรัฐสภาสมัยหน้าไปให้ได้
การที่พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศชัดว่าจะอยู่ต่อไปจนถึงสิ้นวาระการดำรงตำแหน่ง บรรดากลุ่มที่ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ลงจากตำแหน่งย่อมยอมไม่ได้ หากแต่การจะทำให้พล.อ.ประยุทธ์ลงจากเก้าอี้ ณ เวลานี้มี 3 หนทางเท่านั้น
หนทางแรก เกิดขึ้นได้ในการประชุมรัฐสภา โดยเฉพาะการพิจารณากฎหมายที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบ หากรัฐสภาไม่เห็นชอบ นายกรัฐมนตรีต้องลาออก หรือการยื่นญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่ ส.ส.ต้องลงมติ ซึ่งขณะนี้พรรคฝ่ายค้านประกาศแล้วว่าจะยื่นซักฟอกแน่ในสมัยการประชุมรัฐสภาที่จะถึงนี้
คำถามคือ พรรคฝ่ายค้านจะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจพล.อ.ประยุทธ์ และรัฐมนตรี เป็นรายบุคคล หรือจะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งนี้เพราะพรรคฝ่ายค้านเชื่อว่า พรรคร่วมรัฐบาลมีรอยร้าวลึก ยากจะสมานแผล ถ้าปักหมุดเพียงนายกฯคนเดียว ไม่พาดพิงไปถึงรองนายกฯ หรือรัฐมนตรีคนอื่น ซึ่งเป็นแกนนำพรรคร่วม โอกาสที่จะคว่ำพล.อ.ประยุทธ์ ด้วยคะแนนโหวตน่าจะได้ผลชัดแจ้งกว่า แต่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเสนอกฎหมาย หรือการซักฟอก สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องมีก็คือเสียง ส.ส.ที่จะยกมือสนับสนุน ดินเนอร์พรรคเล็กจึงเป็นปฏิบัติการอยู่ยาว
หนทางที่สอง คือ การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ประเด็นการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งนี้ เพราะรัฐธรรมนูญปี 2560 ระบุว่า นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งนานเกินกว่า 8 ปีไม่ได้ และเมื่อนับวันเวลาที่ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่บนเก้าอี้นายกฯ ตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบันก็น่าจะเกินแล้ว แต่ยังมีข้อโต้แย้งว่า การดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องเริ่มนับหลังการเลือกตั้งปี 2562 ซึ่งดำเนินการตามรัฐธรรมนูญปี 2560
หากนับจากปี 2562 เท่ากับว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรียังไม่ถึง 8 ปี สามารถปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปได้ เรื่องดังกล่าวต้องรอถึงเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นเดือนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะนั่งในตำแหน่งนายกฯ เกิน 8 ปี หากนับตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งต้องมีการร้อง และต้องมีการวินิจฉัย
หนทางที่สาม การบริหารราชการแผ่นดินที่ล้มเหลว การแก้ปัญหาวิกฤติต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศขณะนี้ ถือเป็นการแก้ปัญหาให้ประชาชน โจทย์ใหญ่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องแก้ไข มีทั้งเรื่องโรคโควิด-19 ทั้งผลกระทบจากสงครามรัสเซียบุกยูเครน ซึ่งกลายเป็นปัญหาเศรษฐกิจ และปัญหาทางสังคมในไทย พล.อ.ประยุทธ์ เองก็เข้าใจสถานการณ์ดี จึงพยายามผลักดันแพ็กเกจแก้ปัญหาให้ประชาชนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน
ทุกปัญหาหาก พล.อ.ประยุทธ์ จัดการให้คลี่คลายลงได้ การบรรลุเป้าหมาย “อยู่ยาวถึงสิ้นปี” ก็ไม่ใช่เรื่องเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น ทุกจังหวะก้าวของ พล.อ.ประยุทธ์ จึงมีผลต่อเป้าหมายที่กำหนด..!
“อยู่ยาวถึงสิ้นปี” จึงต้องลุ้นระทึกไปพร้อมๆ กับพล.อ.ประยุทธ์