“กรมราชทัณฑ์” นำแนวทางพัชรธรรม มาปรับประยุกต์ใช้กับงานราชทัณฑ์

วันจันทร์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2565

“กรมราชทัณฑ์” นำแนวทางพัชรธรรม มาปรับประยุกต์ใช้กับงานราชทัณฑ์


หลวงพ่อ อารยวังโส เจ้าอาวาสวัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย (ธ) ในพระราชูปถัมภ์ พร้อม นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์, นายชาญ วชิรเดช รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และ นายกิตติพงษ์ ละชั่ว ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดจันทบุรี ได้เดินทางไปยังบ้านทุ่งโตนด หมู่ที่ 8 ตำบลท่าหลวง อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี เพื่อรับมอบถวาย ที่ดินจำนวน 35 ไร่ จากนายอนุศักดิ์ ออศิริชัยเวทย์” เพื่อนำที่ดินดังกล่าว จัดตั้งเป็นศูนย์ปฏิบัติธรรม ที่พักสงฆ์ หรือตามที่เห็นสมควร ซึ่งหลวงพ่ออารยวังโส มีดำริจะสร้างสถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่ในการศึกษาเล่าเรียนปฏิบัติของภิกษุพัชรธรรมและผู้ต้องราชทัณฑ์ ไว้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม ขัดเกลาพัฒนาพฤตินิสัยด้านจิตใจ ให้สามารถเป็นพลเมืองที่ดีของสังคมต่อไป

ทั้งนี้ หลวงพ่ออารยวังโส ได้ให้โอวาทธรรมเกี่ยวกับโครงการพัชรธรรม โดยมีใจความสรุปได้ดังนี้ ทุกคนในฐานะชาวพุทธควรเข้าใจในธรรมชาติของชีวิต คือ กาย-จิต ที่ดำเนินไปตามวิถีธรรมชาติอย่างเป็นธรรมดา ธรรมดา คือ ธรรม … ธรรม คือ ความจริง ความจริงที่มีประโยชน์คือ สัจธรรมการมีความรู้ความเข้าใจตรงธรรม จะสามารถควบคุมจิต … ให้จิตมีอำนาจเหนือกาย … เพื่อดำเนินชีวิตไปสู่จุดหมาย … ภายใต้อำนาจของสติปัญญา … ที่ควบคุมจิตในขณะนั้น ทุกชีวิตจึงสามารถเปลี่ยนแปลงพัฒนาไปสู่ความดี … ความประเสริฐได้ ทุกชีวิตจึงสามารถแก้ไขปรับเปลี่ยนไปได้ตามความประสงค์ เมื่อเข้าใจธรรม … ในธรรมชาติของชีวิต หัวใจธรรมในพระพุทธศาสนา คือ อริยสัจธรรม … จึงแสดงความจริงที่ควรรู้ … คือ ความทุกข์ทุกข์ เป็นสิ่งที่ควรรู้ .. ทุกข์ ทุกข์ ไม่ใช่สิ่งที่ควรเป็น … ทุกข์ การสืบสาวหาเหตุแห่งทุกข์แท้จริง คือ ความเข้าใจในธรรมชาติของชีวิต ประการสำคัญในการพัฒนาชีวิต คือ ความเพียรชอบ อย่างมีสติปัญญา การละชั่วทำดี ... จึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในทุกขณะ จึงควรคิด พูด ทำ ให้คุ้นเคยกับความดี … ด้วยความเพียรชอบอย่างมีสติปัญญา เมื่อคุ้นเคยกับการคิดดี พูดดี ทำดี … จะทำให้เราห่างออกจากการคิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว … ที่สำคัญต้องรู้จักตั้งสัจจะ + อธิษฐาน = สัตยาธิษฐาน แปลว่า ความตั้งใจทำความดีที่เป็นประโยชน์และตั้งความปรารถนาจากการกระทำความดีนั้น … ไม่ใช่การวิงวอนเรียกร้องอยากได้ความดี … ความสุข โดยไม่กระทำ .. นั้นไม่ใช่ความหมายของคำว่า อธิษฐาน” ในพระพุทธศาสนา ความดีในความหมายของธรรม จะนำไปสู่การปล่อยวาง ไม่ยึดติด แม้ในความดีนั้น อย่าว่าแต่ความชั่วเลย … เพราะยึดติดแม้ความดีก็ชั่วได้ … อย่าว่าแต่ยึดติดความชั่วเลย …

นอกจากนี้ หลวงพ่ออารยวังโส ในฐานะ ที่ปรึกษาโครงการจิตอาสา กำลังใจ พัชรธรรม  ยังได้ให้แนวทางพัชรธรรมมาปรับประยุกต์ใช้สำหรับงานราชทัณฑ์ ดังนี้

1. จัดประชุม ผู้บัญชาการเรือนจำทั่วประเทศ โดยหลวงพ่ออารยวังโสยินดีมาแสดงธรรมให้โอวาทแก่ผู้บัญชาการเรือนจำ เพื่อจะได้เข้าใจเข้าถึงปัญหาทุกข์ของผู้ต้องขังอย่างเป็นธรรม .. เพื่อจะได้หาแนวทางแก้ไขปัญหาผู้ต้องขังที่ถูกต้อง ไม่คลาดธรรม .. ตามหลักพึ่งตน-พึ่งธรรม จะนำไปสู่ความมั่นใจในการออกจากปัญหาความทุกข์ได้ด้วยตนเอง .. ผู้ต้องขังที่ยอมรับ – เข้าถึง – เข้าใจ จะเกิดภาวะผ่อนคลายความวิตกกังวล ยอมรับความเป็นจริงอย่างเข้าใจ .. ที่จะนำไปสู่การปรับแก้ตนเองในระหว่างต้องโทษตามหลักพัชรธรรม

2. จัดการอบรมผู้ต้องขังโทษประหารชีวิตในเรือนจำกลางบางขวาง จำนวน 5 - 10 คน ให้เข้าใจธรรมชาติของชีวิต.. กฎเกณฑ์ของกรรมและอริยสัจธรรม เพื่อพร้อมรับกับปัญหา .. อย่างเข้าใจ .. ไม่เคร่งเครียด .. ทุกข์ใจ !!

3. สนับสนุนให้เรือนจำนำโครงการพัชรธรรมไปใช้ยังเรือนจำทั่วประเทศ ซึ่งกิจกรรมพัชรธรรมสามารถเข้าใจได้ง่าย เข้าถึงผู้ต้องขังอย่างแท้จริง สามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตหลังพ้นโทษ

ท้ายนี้ พระอาจารย์อารยวังโส ยังได้เมตตาให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่และอดีตผู้ต้องขังให้รู้ว่า ทุกความผิดแก้ไขได้ อย่าได้กลัว .. แต่อย่าได้กล้ากับความผิด ด้วยการฝึกจิตให้เกิดปัญญา มีความสำนึกชอบโดยธรรมจะได้ไม่กลับไปกระทำผิดซ้ำอีกต่อไป



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ