"ประชาธิปไตย" หลังพิง "ม็อบ" พึ่งอำนาจพิเศษ "พังรัฐบาล"

วันพุธที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2556



จับตาจังหวะ "รุกคืบ" ทางการเมืองของ "ฝ่ายต้านรัฐบาล" ที่มาในสไตล์ "ค้านสุดซอย"!!

โดยเฉพาะในแง่มุมการพิจารณา "ร่างกฎหมาย" ที่มีความสำคัญยิ่งต่อรัฐบาล ทั้ง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม รวมไปถึงร่าง พ.ร.บ. "กู้" ฟื้นประเทศ ซึ่งทุกฉบับก็ล้วนแต่โดนพรรคประชาธิปัตย์ และ กลุ่ม 40 ส.ว. ร่วมด้วยช่วยกันบี้หนักกลาง เวทีสภา แต่ด้วย "เสียงข้างมาก" ของรัฐบาลที่ผนึกแนวร่วม "ส.ว.สายเลือกตั้ง" ก็ลากจนฝ่าด่าน "ป่วนสภา" ของ "ฝ่ายต้าน" ไปได้

กระนั้นยังคงมี "ศึก" ต่อเนื่องที่รัฐบาลเองต้องหาทางรับมือ โดยเฉพาะการที่ "ฝ่ายค้าน" เตรียมยื่นให้ "ศาลรัฐธรรมนูญ" ตีความถึงกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วย "ที่มาของ ส.ว." ว่าขัด ต่อรัฐธรรมนูญ "มาตรา 68" หรือไม่ ทั้งยังขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง "คุ้มครองชั่วคราว" เพื่อปิดทุกหนทางที่นำไปสู่ความได้เปรียบในทางการเมืองของฝ่ายรัฐบาล

ถึงแม้การแก้ไข "ที่มาของ ส.ว." จะฉลุยผ่านมติที่ประชุมร่วมรัฐสภาไปแล้วในวาระที่ 2 โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงตาม กระแสท้วงติงของ "ฝ่ายต้าน" ทั้งในประเด็นแก้ไขให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง จำนวน 200 คน รวมถึงเปิดช่องให้ ส.ว. ชุดปัจจุบัน สามารถลงสมัครเลือกตั้งต่อได้ทันทีโดยไม่ต้องเว้นวรรค 5 ปีเหมือนในรัฐธรรมนูญปี 2550 อีกทั้งไม่จำกัดสิทธิ ของผู้สมัคร ส.ว. โดยสามารถส่ง "คนบ้านเดียวกัน" ลงสนามเลือกตั้งได้

มันจึงกลายเป็นประเด็นโจมตีรัฐบาล ว่า ช่วยเปิดทางให้เกิด "สภาผัว-เมีย" !!

นั่นเพราะประชาธิปัตย์เองย่อมรู้ดีถึง "นัย" ที่ซ่อนอยู่บนชัยชนะของรัฐบาล ซึ่งหมายถึง "ความพ่ายแพ้" ที่จะเกิดขึ้นกับประชาธิปัตย์ และ ส.ว.สรรหา ทั้งในแง่ของ "เสียงในรัฐสภา" ไปจนถึงการสูญเสีย "แนวร่วม" ในฝ่ายนิติบัญญัติ เพราะหาก ส.ว.มาจากระบบการเลือกตั้งทั้งหมด โอกาสที่ "ประชาธิปัตย์" จะพลิกกลับมาเอาชนะ "พรรคเพื่อไทย" ในสนามเลือกตั้ง ย่อมเป็นอะไรที่ดูเลือนราง

กระทั่งมีเสียงขู่คำรามโดย "อู๊ดด้า" จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงาน (วิป) พรรคร่วมรัฐบาล ที่ประกาศดักคอไว้ล่วงหน้าว่า หากรัฐสภา โหวตผ่านวาระ 3 เมื่อไหร่..ประชาธิปัตย์ก็ พร้อมยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความทันที

ดังนั้นถนนทุกสาย จึงมุ่งหน้าสู่ด่าน ของ "องค์กรอิสระ" !!

เมื่อเกมรวน..ป่วนเวทีสภาของ "ฝ่ายต้าน" ดูท่าจะ "ไร้ผล" ฉับพลันทันใด "ประชาธิปัตย์" จึงต้องหวัง "พึ่งพิง" ในอำนาจพิเศษ เพื่อมาเตะสกัดงานใหญ่ของรัฐบาลให้ล้มครืน

ด้วยเพราะ "ประชาธิปัตย์" ยังคงมองว่า "เสียงส่วนใหญ่ในสภา" กลายเป็นกลไก หรือเป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการดำเนินนโยบายที่ไม่ถูกต้อง ฉะนั้นแล้ว "ประชาธิปัตย์" ที่บอกว่าเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย จึงเกิดความไม่เชื่อมั่นต่อระบบสภา และคงดำเนินยุทธศาสตร์ "2 ขา" ตามกระแสการเมืองที่เปลี่ยนไป โดยประกาศต่อสู้กับอำนาจรัฐทั้งในและนอกสภา

ขณะเดียวกันในความเคลื่อนไหวของ "ประชาธิปัตย์" ยังได้ถูกเชื่อมโยงว่า ออกมามาเล่นการเมืองบนถนน โดยอยู่เบื้องหลังการ "ระดมม็อบ" ต่อต้านรัฐบาลในทุกเรื่องทุกมิติ

ถึงขั้นยกระดับความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา มาเป็น "ธง" ในเกมต่อสู้ทางการเมือง กระทั่งมีเสียงเตือนจาก "ชาญวิทย์ เกษตรศิริ" อดีตอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ ให้ระวังการนำไปสู่ระบบอนาธิปไตย!

"อดเป็นห่วงประเทศชาติจะวิบัติไม่ได้ จนต้องทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายชวน หลีกภัย ติงพฤติกรรมของพรรคประชาธิปัตย์ ตลอดจนจุดยืนทางการเมืองที่ผิดเพี้ยนไปจากเดิม"

อดีตอธิการบดีรั้วแม่โดม ยังระบุถึง เกมป่วนสภา-ป่วนถนน ซึ่งน่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างสถานการณ์อนาธิปไตย อันจะ นำไปสู่การรัฐประหาร ยึดอำนาจโดยกองทัพ หรือกลไกอื่นๆ โดยเรื่องทำนองนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อปี 2490 และก็เกิดอีกเมื่อปี 2549 ซึ่งประวัติศาสตร์อาจซ้ำรอยได้อีก และเมื่อถึงตอนนั้น "กลียุค" ก็จะบังเกิดในประเทศไทย

ขณะที่ "อลงกรณ์ พลบุตร" รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่เคยเสนอแนวทางให้ปฏิรูปยกเครื่องพรรคครั้งใหญ่ ก็ออกมา "ถอนหงอก" ผู้หลักผู้ใหญ่ในพรรคว่า "..บางครั้งถึงแม้เราจะคิดว่าเราต่อสู้กับความไม่ถูกต้อง แต่ก็ต้องคำนึงถึงวิธีการต่อสู้" รวมทั้งได้ตอบคำถามของ "นิวยอร์กไทมส์" ว่าตนเองไม่เห็นด้วยกับยุทธวิธีของพรรคขณะนี้ เพราะจะไม่มีทาง ชนะใจประชาชนด้วย "ประชาธิปไตยแบบม็อบ" ที่มีแต่สร้างความแตกแยกไม่สิ้นสุด

เช่นที่ว่านี้ มันคงไม่น่าแปลกใจอะไร ที่อุณหภูมิทางการเมือง "นอกสภา" จะเดิน ไปสู่โหมด "ไม่ปกติ" เมื่อมีปฏิกิริยาตอบโต้และปฏิเสธ "อำนาจศาลรัฐธรรมนูญ" ออกมาทั้งทางตรงและทางอ้อม จากคนในรัฐบาล และพรรคเพื่อไทย ไปจนถึง "คนเสื้อแดง" ที่ประกาศ "ระดมพล" ต้านภัยคุกคามจากวิกฤติ "ตุลาการ" ระลอกใหม่

เหนืออื่นใด ฝ่ายแกนนำเพื่อไทยเอง ที่นอกจาก "ไม่ยอมรับ" อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเห็นว่ากำลังก้าวก่ายแทรกแซงฝ่ายนิติบัญญัติแล้ว ล่าสุดยังสำทับไปว่า หากศาลรัฐธรรมนูญ "รับเรื่อง" ที่ประชาธิปัตย์ยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มา ส.ว.ขัด ต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 เพื่อสกัดไม่ได้มีการ "ลงมติ" ในวาระ 3 สิ่งที่จะตอบโต้กลับคือการหาทาง "หั่นอำนาจ" ของศาลรัฐธรรมนูญ หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีการ "ตัดงบประมาณ" ในส่วนขององค์กรอิสระมาแล้ว

ด้วยเหตุนี้ มันจึงเป็นที่มาของความ ร้อนแรงในทุกความเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่ต่างเบนเป้ากระสุนตกไปยัง "องค์กรอิสระ" อย่างศาลรัฐธรรมนูญเป็นจุดเดียวกัน

ภาพสะท้อนที่เกิดขึ้น กลายเป็นว่า ฝ่ายหนึ่งต่างมุ่งหวังในการ "พึ่งพิง" อำนาจศาลรัฐธรรมนูญ โดยวางหมุดหมาย เพื่อ "ล้มกระดาน" ฝ่ายอำนาจรัฐ ขณะที่ในฝ่ายรัฐบาลเอง ก็เค้นหาทาง "ริดรอนอำนาจ" ขององค์กรอิสระ เพราะรู้ดีว่า นี่คือ "กับดักสุดท้าย" ที่ต้องฝ่าข้ามไปให้ได้

เมื่อปลายทางในเชิง "อำนาจ" ถูกขีดเขียนเพื่อให้เดินไปสิ้นสุดที่ "เกมนอกระบบ" มันจึงเป็นสิ่งที่น่าประหวั่นพรั่นพรึงในเกมเคลื่อนไหวมวลชนของ "ฝ่ายหนุน-ฝ่ายต้าน" ซึ่งอยู่ในฐานะ "เบี้ยในกระดาน" ที่พร้อมจะดาหน้าชนในทันทีหากมีฝ่ายหนึ่งขยับ

สงครามแดนอำนาจของ "2 ขั้วการเมือง" ที่เอาหลังพิง "มวลชน" โดยมี "องค์กรอิสระ" เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา ย่อมจะมีแนวโน้มสูงลิบว่า จะกลายเป็น "น้ำผึ้งหยดเดียว" ที่นำไปสู่ความรุนแรงได้ในที่สุด..โปรดฟังอีกครั้ง!!!


บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม โทร : 0893284192 , ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ